“THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024” เวทีหมุดหมายยกระดับ 11 อุตสาหกรรม

 “อุ๊งอิ๊ง” ยกเอ็มวี “ลิซ่า” ซอฟต์พาวเวอร์ตัวอย่างของไทย หวัง“THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024” หมุดหมายยกระดับ11 อุตสาหกรรม ขณะคีย์แมนหวังรัฐสร้างเวทีลับคมศักยภาพ ปรับกฎหมายซัพพอร์ตการหางบสนับสนุน

วันนี้ (29 มิ.ย. 67) วันที่สองของการจัดงาน “THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024” บรรยากาศเต็มไปด้วยประชาชนทั่วไปและคนรุ่นใหม่ที่เดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เช้า ซึ่งจากการสอบถามคนมาร่วมงาน ต่างมองว่า ประเทศไทยเรามีขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีศักยภาพอยู่แล้ว

“คาดว่างานนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่รัฐช่วยผลักดัน และหวังว่าจะสร้างความร่วมมือกับ 11 สาขาอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นได้ในระยะยาว พร้อมพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์เชิงโครงสร้างทั้งระบบ ช่วยยกระดับทักษะแรงงานสู่ขั้นสูง สร้างรายได้ ป้อนคนสู่สายพานตลาดแรงงานโลกได้”

สอดคล้องกับสถิติการมองสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมไทยของผู้มาร่วมงานทั้งหมด มองว่าสิ่งที่มีศักยภาพที่สุด คือ “อาหารไทย” และรองลงมาคือ “อัตลักษณ์ท้องถิ่น” และ “ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย”

อย่างไรก็ตามบางส่วนมองว่า การจัดงานนี้ยังขาดการประชาสัมพันธ์ และการประชาสัมพันธ์ยังไม่ค่อยตรงจุดมากนัก อีกทั้งไม่มีการถ่ายทอดสดออนไลน์ ทำให้ประชาชนบางส่วนไม่เข้าถึง ซึ่งน่าเสียดาย

 “THACCA SPLASH” จุดเริ่มต้นขับเคลื่อนการท่องเที่ยวแบบใหม่

 มาริสา สุโกศล หนุนภักดี  กรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สาขาท่องเที่ยว และประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว  กล่าวว่า การท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือผลักดัน 10 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์สู่ตลาดโลก ที่น่าสนใจคืองานนี้จะเป็นการประกาศหมุดหมายว่าการท่องเที่ยวและ 10 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์จะร่วมมืออย่างจริงจัง เพื่อสร้าง “การท่องเที่ยวแบบใหม่” เช่น การพาดีเจ นักออกแบบระดับโลก มาเที่ยวเมืองไทยแนวใหม่  ชวนซื้อสินค้าไทย หรือจะมีผลงานที่ร่วมคอลแลปส์กัน เป็นต้น

โดยการท่องเที่ยวจะร่วมมือกับซอฟต์พาวเวอร์สาขาอื่น ดังนี้

1. ศิลปะ – จัดงานด้านศิลปะ ย่านศิลปะ และเมืองศิลปะเพื่อส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยว

2. หนังสือ – สอดแทรกเนื้อหาและบรรยายสถานที่ต่างๆในประเทศให้ดึงดูดใจ

3. การออกแบบ – ออกแบบสินค้าของที่ระลึก และของฝากจากประเทศไทยแบบมีดีไซน์ สร้างมูลค่าเพิ่ม

4. แฟชั่น – สร้างสรรค์สินค้าแฟชั่นเพื่อเป็นเครื่องแต่งกาย ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว

5. เฟสติวัล – ผสมผสานเทศกาลเข้ากับการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งเดียว

6. ภาพยนตร์ – ส่งเสริมให้มีการถ่ายทำในโลเคชันของประเทศไทยที่น่าตื่นตาตื่นใจ

7. อาหาร – ใช้เสน่ห์อาหารไทย อาหารท้องถิ่น เป็นแรงดึงดูดใจในการตัดสินใจท่องเที่ยว

8. เกม – พัฒนาเกมโดยสอดแทรกสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศไทย

9. เพลง – จัดแสดงคอนเสิร์ตในสถานที่แปลกใหม่ จัดแพคเกจชมคอนเสิร์ตพร้อมการท่องเที่ยว

10. สปอร์ต – จัดแพ็กเกจการเรียนมวยไทยพร้อมการท่องเที่ยวประเทศไทย

อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ที่ตอนนี้เราพูดถึง 11 อุตสาหกรรมก็น่าจะเกือบครบแล้ว แต่เราขาดการสนับสนุนอย่างเป็นรูปแบบ การประกาศหมุดหมายผลักดันของรัฐ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่แม้จะใช้เวลาเพราะการท่องเที่ยวต้องการการบูรณาการ แต่  วันนี้ได้เริ่มขึ้นแล้ว อีกไม่นานเชื่อว่าจะขยายผลได้มากขึ้น” – มาริสา สุโกศล หนุนภักดี

ส่วนตัวชี้วัดว่า การผลักดันซอฟต์พาวเวอร์จะสามารถขับเคลื่อนเมืองไทยได้จริงหรือไม่ หนึ่งในโครงการที่กรรมการยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวกำลังทำ คือฐานข้อมูลกลางในการเก็บแทรคกิ้งนักท่องเที่ยว ว่านักท่องเที่ยวเดินทางไปที่ไหน พักที่ใด ทำกิจกรรมท้องถิ่นอะไรบ้างและถ้ามองว่าประเทศไทยเป็น “Hub” ของการเดินทางต่อไปประเทศอาเซียนอื่น ๆ แล้วนักท่องเที่ยวจะกลับมาเที่ยวไทยอีกหรือไม่

ข้อมูลทั้งหมดนี้จะช่วยให้เรามีสถิติในการวิเคราะห์วางแผนการท่องเที่ยวแนวใหม่ หรือนำไปแอคแทคนักลงทุนต่อได้ ซึ่งโครงการนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงาน คาดว่าอีกไม่นานเราจะมีสถิติด้านการท่องเที่ยวให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น

TikTok-Netflix ชี้คนชอบ Local Content ตัวช่วยส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ไทย

นอกจากการท่องเที่ยวจะตัวชูโรงในการผลักดันอุตสาหกรรมอื่น ๆ ภาพยนตร์ของไทยก็ไม่แพ้กัน แต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ขับเคลื่อนประเทศต่อไป ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่ต้องมีโปรดักชันดี ๆ เท่านั้น

Ruben Hattari Directoe of Public Policy, South East Asia Netflix กล่าวว่า ผู้ชมในเน็ตฟลิกซ์ที่จริงแล้วไม่ได้ต้องการแค่หนังฟอร์มฮอลลีวูดอย่างเดียว ผู้ชมส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเปิดดู “Local Content”เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ โดย 2.4 ของผู้ชมชอบดูเพราะกำลังจะไปเที่ยว และอีก 1.8 ดูเพราะอยากเรียนรู้ภาษาท้องถิ่น

สะท้อนให้เห็นว่าผู้ชมภาพยนตร์ในปัจจุบันไม่ได้เลือกดูเฉพาะคอนเทนต์หรูหรา หรือต้องสมบูรณ์แบบเท่านั้น แต่กลับชอบดูคอนเทนต์ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่น สะท้อนความสมจริงในชีวิตจริงด้วยซ้ำ

เช่นเดียวกับ TikTok ที่ ชนิดา คล้ายพันธ์ Head of Public Policy, TikTok Thailand พบว่าผู้ใช้บริการ ชอบคอนเทนต์บันเทิง พาท่องเที่ยวพากิน แฟชั่น กีฬา และ หนังสือ และแนวโน้มที่จะเป็นเทรนด์ต่อไปในอนาคต คือคอนเทนต์สนุกสนาน ให้แรงบันดาลใจ ที่เน้นความเรียลแบบสมจริง ทั้งนี้ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นคนดังเท่านั้น แต่ใครก็ได้ที่ทำคอนเทนต์ขึ้นมา ขอแค่ประเด็นถูกใจก็มีคนดู

“ครีเอเตอร์หน้าใหม่เกิดขึ้นทุกวัน เราหวังว่าคนไทยจะใช้แพลตฟอร์ม TikTok นำเสนอ Thai Creative Culture ให้ไปปรากฏบนเวทีโลก ดังนั้นแล้วการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ทั้ง TikTok หรือ Netflix รวมถึงการสนับสนุนให้มีครีเอเตอร์หน้าใหม่ เพื่อส่งออกคอนเทนต์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ ขนบธรรมเนียมไทย จึงอาจเป็นโอกาสที่จะส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้ดังไปไกลทั่วโลก“

“สร้างสนาม-หนุนกีฬาลดหย่อนภาษีได้” เสียงนักกีฬาสู่การดันซอฟต์พาวเวอร์

ส่วนด้านกีฬา ประเทศไทยก็มีนักกีฬาที่มีฝีไม้ลายมือโดดเด่นโด่งดังไปไกลถึงต่างประเทศมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “เจ-ชนาธิป สรงกระสินธ์” นักฟุตบอลทีมชาติไทย“กัปตันกิ๊ฟ-วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์” อดีตนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย และ “เพชรจีจ้า-นิลดา มีคุณ” นักมวยหญิง

โดยสิ่งหนึ่งที่ “เจ” และ “เพชรจีจ้า” มองว่าประเทศไทยยังขาด คือการสร้างสนามให้เยาวชนไทยได้ลับคม ได้โชว์ศักยภาพ ยิ่งมีในทุกชุมชนทั่วประเทศยิ่งดี รวมถึงการขาดโค้ชในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในกีฬาฟุตบอลพอจบมัธยมปลายปีที่ 6 เมื่อไม่มีสโมสรรองรับ เยาวชนนักเตะเหล่านี้ก็ไม่มีงาน ไม่มีรายได้ให้อยู่ได้

เชื่อว่าถ้าต่อจากนี้รัฐมาสร้างเวทีให้เยาวชนได้พัฒนาศักยภาพ ให้เขาเกิดความรักในวัฒนธรรมกีฬา และมีคนสอน สร้างเสริมประสบการณ์ให้กับพวกเขา สิ่งที่เราเคยสร้างให้ เขาจะสร้างอะไรกลับคืนมาให้เราอีกเยอะ” – เจ ชนาธิป สรงกระสินธ์

ขณะที่ “กัปตันกิ๊ฟ” มองอีกว่า อยากให้การสนับสนุนกีฬา “ลดหย่อนภาษีได้” เพราะถ้าเอกชนเขาสามารถลดหย่อนภาษีได้ เขาจะสามารถเอาเงินมาสนับสนุนกีฬาต่อได้ ขณะเดียวกันก็อยากให้มีกฎเหมือนเกาหลี ที่ระบุให้บริษัทใดที่มีเงินมากกว่า 5,000 ล้านบาท ต้องมี 1 กีฬาเป็นทีมขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม พิมล ศรีวิกรม์ ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ในฐานะผู้ร่วมขับเคลื่อนกีฬากับรัฐบาล มองว่าข้อเสนอที่นักกีฬาให้มานั้น ณ วันนี้ประเทศไทยเรายังไม่มีก็จริง แต่วันนี้ด้วยความที่เรามีนายกรัฐมนตรีที่ชื่นชอบกีฬาทุกอย่าง และนายกฯ ได้มอบนโยบายว่ากีฬาเป็นสิ่งสำคัญมาแล้วนั้น เราจะน้อมรับคำแนะนำ อะไรที่ดำเนินการได้ จะทำ จะพยายามขับเคลื่อนให้ได้มากที่สุดภายในเวลากว่า 3 ปี ก่อนที่จะหมดวาระ แต่ในส่วนของการสร้างสนามทุกชุมชนทั่วประเทศ ตรงนี้อาจยาก แต่มองว่าเปลี่ยนเป็นเรื่องงบประมาณพัฒนาฟุตบอลได้

“อุ๊งอิ๊ง” ยกเอ็มวี “ลิซ่า” เป็นซอฟต์พาวเวอร์ตัวอย่างของไทย

ตกเย็นของงานฟอรัมซอฟต์พาวเวอร์นานาชาติ แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊ง หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้เดินทางมาเยี่ยมชมงาน และขึ้นเวทีกล่าวของคุณวงหมอลำชื่อดัง “ระเบียบวาทะศิลป์” ที่เข้าแสดงคอนเสิร์ตในงานนี้ด้วยตามคำเชิญของรัฐบาล

“อุ๊งอิ๊ง” เปิดเผยว่า ระเบียบวาทะศิลป์มีแฟนคลับอยู่แล้วจำนวนมาก แต่การมาในงานครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้คนในเมืองได้เห็นการแสดงออกของเพลงหมอลำได้ง่ายมากขึ้นด้วย และมีเสน่ห์ดึงดูดคนผ่านไปผ่านมาได้ด้วย เพราะฉะนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า หมอลำเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์ที่ทำให้ทุกคนมีความสุขและก็คล้อยตาม เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศได้อย่างสบาย ๆ ซึ่งคิดว่าการมีหมอลำมาในงาน จะทำให้ทุกคนได้เห็นภาพ

ส่วนกรณี “ลิซ่า” ใช้สถานที่เยาวราชถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ จนเป็นกระแสในสังคมขณะนี้ “อุ๊งอิ๊ง” เปิดเผยอีกว่า ตัวเองรู้สึกชอบมาก หลังดูเอ็มวีของลิซ่า เนื่องจากลิซ่านำจุดเด่นหลายอย่างของคนไทยออกมานำเสนอ ซึ่งทำได้ออกมาสุดยอดมาก คิดว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ตัวอย่างที่คนไทยได้เห็นก็ภาคภูมิใจทั้งนี้เยาวราชก็มีจุดเด่นในเรื่องอาหารและการท่องเที่ยวอยู่แล้ว ก็จะเป็นจุดหมายให้ชาวต่างชาติได้มองเห็น และมาเที่ยวไทยได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก ๆ

สำหรับกรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร บอกว่าอยากให้อาหารในเยาวราชเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น อุ๊งอิ๊ง เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สตรีทฟู้ดของไทยดังอยู่แล้วในหลายพื้นที่ ไม่ใช่แค่เยาวราช ซึ่งอาหารก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ เช่น โครงการฟู้ดเทคที่ทำร่วมกับชุมชน และยังมีโครงการอื่นๆ อีก ในอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถติดตามดูได้ภายในงาน โดยจะจัดไปจนถึงพรุ่งนี้ ตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น.

 ขณะที่ตัวเลขการลงทะเบียนหลักสูตรเสริมทักษะสร้างสรรค์ “OFOS” ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนอย่างเป็นทางการครั้งแรกในงาน “THACCA SPLASH” สถิติจากเมื่อวานนี้ (28 มิ.ย. 67) นายอัครเดช นิยมชัย นักวิชาการพัฒนากองทุนปฏิบัติการ สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน อัปเดตว่ารวมแล้วอยู่ที่ 29,254 คน ทั้งนี้ตลอดวันมีคนเดินมาลงทะเบียนอยู่ตลอด คาดว่าคืนนี้ตัวเลขจะทะลุ 30,000 คน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active