กรุงเบิร์น ประกาศถ้อยแถลง ยกให้ปี 2024 เป็นปีแห่งการจัดการความเหงา

PHPCI 2024 ชี้ หลายล้านคนทั่วโลกเจ็บปวดจากการเจ็บป่วย และการสูญเสีย เหตุเข้าไม่ถึงการรักษาแบบประคับประคองที่มีมาตรฐาน และเยียวยาไม่ถูกวิธี แนะสังคมต้องผลักดันให้คนมีความรับรู้เรื่องความตาย (death literacy) และให้ความสำคัญกับการดูแลจิตใจผู้ดูแลไปพร้อมกัน ลดความโดดเดี่ยว และสร้างความปลอดภัยทางความรู้สึก เพื่อยกระดับการดูแลแบบประคับประคอง

Luc Deliens
ประธานของ Public Health Palliative Care International (PHPCI) กล่าวเปิดงาน
ณ โรงละครประจำเทศบาลเมืองเบิร์น สวิตเซอร์แลนด์

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่พบว่าทั่วโลกมีประชากรที่ต้องการ การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) มากกว่า 56.8 ล้านคนต่อปี และในจำนวนนี้ มีถึง 25.7 ล้านคน ที่กำลังอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต โดย 82% ของผู้ที่ต้องการเข้าถึงทั้งหมดยู่ในประเทศรายได้ต่ำ-ปานกลาง

และมีเพียง 14% ของผู้ที่ต้องการการดูแลเท่านั้นที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองอย่างเหมาะสมตามมาตรฐาน ซึ่งทั้งหมดล้วนอยู่ในประเทศที่มีรายได้สูง มีทรัพยากรเพียงพอ และมีระบบสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน ได้แก่ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และ แคนาดา

ในขณะที่ ผู้ป่วยที่มักอาศัยอยู่ในประเทศแถบแอฟริกา (ซูดาน แทนซาเนีย ฯลฯ) ประเทศแถบละตินอเมริกา และบางประเทศในเอเชีย (อินเดีย ปากีสถาน ฯลฯ) เข้าถึงการดูแลแบบประคับประคองที่เหมาะสมตามมาตรฐานได้ในอัตราที่ต่ำ

เมื่อมองมาที่ประเทศไทย เรามีผู้ป่วยระยะท้ายที่เข้าถึงการดูแลแบบประคับประคองได้แล้ว 16-20% ซึ่งจัดอยู่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการเข้าถึงในระดับกลางและกำลังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

อ้างอิง

. การดูแลแบบประคับประคอง

. About The WHPCA

 

จากสถาการณ์เร่งด่วนที่ขยายขอบเขตทั่วโลกดังกล่าว องค์กร Public Health Palliative Care International (PHPCI) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงานประชุมนานาชาติด้านสาธารณสุขและการดูแลแบบประคับประคอง ครั้งที่ 8  หรือ  “8th Public Health Palliative Care International Conference 2024 (PHPCI2024)” ณ กรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์  เมื่อวันที่ 22-25 ต.ค. 2567

ซึ่งในการประชุมครั้งนี้มีตัวแทนจากประเทศไทยเข้าร่วมด้วย ได้แก่ แพทย์ด้านการดูแลแบบประคับประคองและนักสังคมศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขที่มีบทบาทในฐานะคณะผู้จัดงานและผู้นำเสนองานวิจัย

การประชุมดังกล่าว มีเป้าหมาย เพื่อแลกเปลี่ยน ส่งต่อความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมของผู้ป่วยระยะท้ายและครอบครัว ภายในเวทีมีการนำเสนองานวิจัยและข้อค้นพบมากมายจากภาคการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานสาธารณสุข และภาคประชาชน โดยเน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนและมีการบูรณาการศาสตร์จากหลายองค์ความรู้

คริสเตียน นติซิมิรา (Christian Ntizimira) แพทย์และผู้อำนวยการบริหารศูนย์วิจัยการดูแลระยะท้ายแห่งแอฟริกา กล่าวถึงเป้าหมายของการจัดงานนี้ไว้ว่า

“การประชุม PHPCI ครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเท่าเทียมด้านสาธารณสุขผ่านการเชื่อมโยงชุมชนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยให้แต่ละบุคคลเชื่อมโยงอัตลักษณ์ของตนเอง และสามารถเข้าใจประสบการณ์ (การดูแล) ที่หลากหลายและลึกซึ้งยิ่งขึ้น”

สอดคล้องกับ จอห์น โรเซนเบิร์ก (John Rosenberg) อดีตประธาน PHPCI ที่กล่าวว่า 

“การประชุมนี้เป็นเหมือนการสร้างสะพานเชื่อมโยงระหว่างชุมชนกับเมือง ภูมิภาคและประเทศ รวมถึงระหว่างระบบบริการสุขภาพและชุมชน นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาปรัชญา ค่านิยม แนวคิด และวิธีการในการส่งเสริมสุขภาพที่จะนำไปสู่การดูแลแบบประคับประคองด้วย”

ที่ผ่านมา งานประชุม PHPCI จะเน้นการพูดคุยเรื่องการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อยกระดับการดูแลแบบประคับประคอง ตั้งแต่ในระดับชุมชน ระดับเมือง ไปจนถึงระดับนโยบาย แต่สำหรับในปีนี้ มีสาระสำคัญต่างออกไป คือ เน้นการกลับมาดูแลตนเองของบุคลากรเป็นหลัก หรือที่เรียกว่า ‘self-compassion’ นั่นคือ การให้ความใจดีต่อตนเองเมื่อประสบความล้มเหลว ผิดพลาด เพื่อให้สามารถดูแลตนเองให้ได้ ก่อนที่จะไปดูแลผู้อื่น โดยเชื่อว่า การดูแลตนเองก่อนไปดูแลคนอื่นจะทำให้ขอบเขตการดูแลขยายวงกว้างออกไปได้อีก

“การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) เป็นสัญลักษณ์ของความเมตตาและความเข้มแข็ง เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ทำงานได้อย่างรวดเร็วและเท่าเทียม โดยการให้ความสำคัญกับความต้องการของแต่ละบุคคล และยังเป็นสิ่งที่ส่งเสริมด้านมนุษยธรรมด้วย”

ฟาร์ซานา ข่าน (Farzana Khan)  ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพโลก (Global Health) 

บรรยากาศโดยรอบของสถานที่จัดงาน 8th Public Health Palliative Care International Conference 2024 (PHPCI2024)”

สำหรับในปีนี้มีไฮไลต์สำคัญ คือ การประกาศถ้อยแถลงประจำปีของเมือง 7 ประการ หรือที่เรียกว่า “The Bern Declaration 2024” ได้แก่

  1. ต้องสนับสนุนให้ประชาชนคุ้นเคยกับการดูแลผู้ป่วยเจ็บหนักและผู้ที่อยู่ในภาวะสูญเสียผ่านการพูดคุยและประสบการณ์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาสุขภาพและ “ความรับรู้เรื่องความตาย (death literacy)” ซึ่งความรู้และทักษะนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยนำทางและทำให้คนจัดการกับสิ่งท้าทายนี้ในชีวิตได้
  2. ต้องมีการสร้างโอกาสในการเรียนรู้เรื่อง ความเห็นอกเห็นใจและความเชื่อมโยง (compassion and connectedness) ระหว่างช่วงเวลาแห่งการดูแลไปจนถึงระยะสุดท้ายของชีวิต ตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคลไปจนถึงระดังสังคม (bereavement in the general community)
  3. ต้องมีการแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์ของผู้คนที่กำลังโศกเศร้าหรือกำลังเสียชีวิตในชีวิตประจำวัน ผ่านสื่อและพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้เป็นบทเรียนในการสร้างความเข้าใจแก่ผู้คนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในวาระสุดท้ายของชีวิต ตลอดจนสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้าและสูญเสีย
  4. ต้องมีการ “จัดการความเหงาอย่างจริงจัง” และส่งเสริมการ “สร้างความปลอดภัยทางความรู้สึก” และสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งให้กับทุกคนที่ใกล้เสียชีวิต ซึ่งทำได้ผ่านเครือข่ายชุมชน
  5. ต้องมีการรับรู้ถึงคุณค่าและสนับสนุนบทบาทของ “ผู้ดูแลที่ไม่เป็นทางการ (informal caregivers)” เช่น ครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนบ้าน อาสาสมัคร ให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้และทำให้พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของระบบการดูแล และต้องมีการยอมรับว่าบทบาทการดูแลมักเป็นหน้าที่ของผู้หญิงซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีความสมดุล
  6. ต้องมีการร่างและแก้ไขนโยบายเรื่อง การจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ดูแล (financial reimbursement) ในรายวัน รายเดือน และรายปี เพื่อเป็นการสนับสนุนระบบดูแลแบบประคับประคองและช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต
  7. ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน สถาบันทางศาสนา ศูนย์วัฒนธรรม ชมรม สังคม และชุมชนใกล้เคียง ทุกภาคส่วนดังกล่าวต้องช่วยกันส่งเสริมนโยบายและแนวทางการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลของภาครัฐ

คำประกาศดังกล่าวนี้ ถูกแถลงขึ้นเพื่อเชิญชวนให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมหันมาสนับสนุนการดูแลผู้ที่เผชิญกับโรคร้ายแรง ความเจ็บปวด ความตาย และความโศกเศร้า เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ยังถูกทำให้เป็นเรื่องส่วนบุคคล หรือเรื่องที่พูดคุยกันได้ในบางสถานที่เท่านั้น และ เมื่อไม่สามารถพูดคุยเรื่องนี้ได้อย่างเปิดเผย ก็ส่งผลให้เกิดความทุกข์ทรมานใจ ส่งผลให้แต่ละปี มีผู้คนทั่วโลกหลายล้านคนที่เผชิญกับเรื่องดังกล่าวแต่กลับไม่ได้รับการเยียวยาที่ถูกต้อง

คำประกาศเมืองเบิร์น ประจำปี 2024 (The Bern Declaration 2024)

ถ้อยแถลงนี้มีเป้าหมายให้ตระหนักว่าความทุกข์นี้สามารถป้องกันและบรรเทาได้หากสังคมพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วน

สำหรับงานประชุม PHPCI2024 ในครั้งนี้ ไม่ได้ถูกออกแบบให้เป็นงานประชุมทางวิชาการสำหรับนักวิจัยหรือผู้เข้าร่วมงานเท่านั้น แต่ยังพยายามเชื่อมโยงไปถึงผู้คนทั่วไปในเมืองและขยายวงกว้างสู่ชมชน เพื่อให้มีโอกาสร่วมเรียนรู้ โดยการผสมผสานกิจกรรมทางดนตรี ศิลปะ ประเพณี เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง โดยมีเป้าหมายในการออกแบบว่า การรับรู้เรื่องความตายและการสูญเสียไม่ใช่เรื่องที่จะสื่อสารในแนวราบอย่างตรงไปตรงมาได้เท่านั้น แต่ยังมีมิติของอารมณ์ ความรู้สึก ผัสสะ จิตวิญญาณ และโลกภายในที่ไม่สามารถแยกออกเป็นอิสระจากความเป็นมนุษย์ได้ และสิ่งเหล่านี้ควรเข้าใจ เรียนรู้ และซึมซับเข้าไปในเนื้อในตัวของมนุษ์ทุกคน

อ้างอิง

. Conference Agenda

. The Bern Declaration 2024

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active