บำบัดเครียดคนกรุง รับวันสุขภาพจิตโลก 2567 พบ อายุ 15-25 ปี หนักที่สุด

กทม. ร่วมกับ สติแอป และภาคีเครือข่าย จัดงาน Better Mind Better Bangkok สร้างความตระหนักรู้สุขภาพจิต รับวันสุขภาพจิตโลก 2567 เผยผลตรวจคนกรุงเครียดสูง อายุ 15-25 ปีหนักที่สุด

เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก 2567 สติแอป (SATI App) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายภายใต้ธีม L.O.V.E  จัดงาน Better Mind Better Bangkok ครั้งที่ 3 ที่สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญ และวิธีที่จะรักษาสุขภาพใจก่อนภัยมาเยือน

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเปิดงาน โดยระบุว่า จากการตรวจสุขภาพจิตประชาชนในกรุงเทพฯประมาณ 4-5 แสนคน พบว่าเกือบ 10% มีความเครียดตั้งแต่ระดับน้อยไปจนถึงมาก และ 8% สุ่มเสี่ยงจะเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้ต้องมาดูว่า กทม. จะสามารถทำอะไรได้บ้าง เพราะบางคนที่เครียดอาจโดนซ้ำเติมมาจากโควิด-19 ปัญหาในครอบครัว หรือเศรษฐกิจที่ไม่ดี และเมื่อลงลึกเข้าไปพบว่า คนอายุ 15-25 ปี มีความเครียดมากสุด โดยเฉพาะเด็กนักเรียนมัธยมปลายจะมีความเครียดมากที่สุดจากเรื่องการเรียน ความสัมพันธ์ ครอบครัว การเข้ามหาวิทยาลัย ตลอดการใช้ชีวิตในสังคม ขณะเดียวกันคนทำงานก็มีความเครียดด้วย จากการมีภาระที่ต้องดูแลมากขึ้นทั้งพ่อแม่และลูก

นอกจากนี้ ชีวิตผู้คนก็อยู่แต่หน้าจอโทรศัพท์จำนวนมาก และเริ่มมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น จากข้อมูลนี้ดูเหมือนจะต้องใส่ใจกับกลุ่มคนที่อยู่ในวัยเผชิญการเปลี่ยนแปลงในชีวิต กลับกันยังพบอีกว่า ข้อมูลคลินิกของ กทม. คนที่เริ่มมีปัญหาสุขภาพจิตก็คือเด็กประถมวัย และผู้สูงอายุด้วย  

ขณะที่ในความเป็นจริงคนดูแลกลับยังมีไม่พอเพียง ปัจจุบันโรงพยาบาลสังกัด กทม. จำนวน 12 แห่งของ มีจิตแพทย์ไม่ถึง 30 คน และนักจิตวิทยาประมาณ 80 คน ที่ต้องดูแลประชาชนในเมืองราว 10 ล้านคน ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือของทุกหน่วยงาน  

“เรามีคนดูแลได้เท่านั้นไหม ไม่มีทาง ยังไงก็ไม่ทัน ไม่นับว่าความเป็นจริง คนก็เรียนหมอน้อยอยู่แล้ว แล้วมีคนที่เรียนหมอสาขาจิตแพทย์ที่น้อยมากไปอีก และนักจิตวิทยาเราก็ไม่ได้มีจำนวนมาก เท่ากับว่าความเร็วของคนที่มีปัญหา กับความเร็วของคนที่จะรักษามันไม่ไปด้วยกันแล้ว ดังนั้น วิธีการทำงานต้องไม่ใช่วิธีการตั้งรับ”

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวอีกว่า กทม. พยายามเปิดพื้นที่ให้ทุกเครือข่ายที่มีกำลัง มีเครื่องมือ หรือเพื่อนให้พูดคุย สามารถเข้ามาร่วมกันสนับสนุนแก้ปัญหาสุขภาพจิตของคนในเมือง ขณะเดียวกัน กทม. เตรียมจะเพิ่มนักจิตวิทยาในศูนย์บริการสาธารณสุขที่เป็นปฐมภูมิ แต่ไม่เพิ่มในศูนย์บริการสาธารณสุข เพราะจะเป็นตั้งรับ รวมถึงจะให้นักจิตวิทยาเข้าไปดูแลเด็กในโรงเรียนด้วย ส่วนโรงพยาบาลก็จะเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่รุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหาครอยากได้เมืองน่าอยู่ ซึ่งจะมีแต่ทางกายภาพที่น่าอยู่ไม่ได้ แต่ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีของคนในเมืองด้วย

สำหรับไอเดียของงาน Better Mind Better Bangkok ครั้งที่ 3 อมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์ ผู้ก่อตั้ง สติแอป (SATI App) ระบุว่า ประเด็นสุขภาพจิตในประเทศไทยนั้น ควรมองแกนหลักที่กรุงเทพมหานคร หมายความว่ากรุงเทพฯ ทำอะไร ทั้งประเทศต้องทำอย่างนั้น โดยต้องการทำให้เรื่องการพูดประเด็นสุขภาพจิตกระจายไปตามแต่ละภูมิภาค ซึ่งงานวันนี้อยู่ภายใต้ธีม L.O.V.E. (Loving Yourself Opening Hearts Valuning  Lives Enhancing Connection) โดยนำข้อมูลจากการทำงานของสติแอป และกรมสุขภาพจิต ดูว่าปัญหาสุขภาพจิตในกรุงเทพฯ มีอะไรบ้าง คนรู้ว่าต้องรักตัวเองแต่ไม่รู้ว่าจะรักตัวเองอย่างไร คนรู้ว่าต้องโอบรับความหลากหลายในสังคม แต่เราโอบรับความหลากหลายในสังคมจริง ๆ หรือไม่ คนรู้ว่าประเด็นปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้เป็นแค่เรื่องจิตและเป็นมากกว่า แต่เราเข้าใจเรื่องจริง ๆ หรือไม่ แล้วหรือรู้หรือไม่ว่าปัญหาของกรุงเทพฯ มีเรื่องของความเหงาอยู่ด้วย จึงกลายมาเป็นธีมของงานวันนี้

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีผู้ป่วยจิตเวชสูงขึ้น แต่เรามีนักจิตแพทย์ไม่เพียงพอที่จะตั้งรับ ดังนั้น จะต้องทำงานเชิงรุกมากกว่านี้ ด้วยดูแลคนกลุ่มดังกล่าวตั้งแต่ต้น ๆ ในเวลาเดียวกันผู้ป่วยก็ต้องดูแลตัวเองได้ด้วย และในวันที่คนเหล่านี้เริ่มมีอาการดีขึ้นก็อาจจะไปดูแลผู้ป่วยคนอื่นต่อได้อีกเช่นกัน

ขณะที่ภายในงาน Better Mind,better Bang Kok มีการจัดบูธให้คนเข้าร่วมกิจกรรม ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาฐานข้อมูล เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานโยบายด้านการดูแลสุขภาพจิตของคนไทย โดยกิจกรรมมีตั้งแต่การเขียนกระดาษแชร์สิ่งที่ต้องการขอบคุณในชีวิต, วงล้อหมุนสำรวจความรู้สึกสับสนวุ่นวายและแชร์ความรู้สึกกล้าหาญไปด้วยกัน, พื้นที่ฮีลใจสำหรับคนที่ต้องการคนรับฟังด้วยหัวใจในโครงการ “ม้านั่งมีหู” ผ่านแอปพลิเคชั่นสติ, สำรวจสุขภาพจิตในที่ทำงานว่าที่ทำงานที่ดีควรต้องมีอะไรบ้าง และข้อเสนอที่คิดว่ามีส่วนช่วยให้เด็ก ๆ ในวัยเรียนสามารถรับมือกับความยากลำบากทางจิตใจ

นอกจากนี้ ยังมีการจัดวงเสวนาตามธีม L.O.V.E ประกอบด้วย 4 หัวข้อ คือ

วงเสวนาแรก หัวข้อ “การรักตัวเอง” โดยสำรวจความสำคัญของการดูแลตนเองและสำรวจว่าการดูแลตัวเองแบบไหนที่จะช่วยสร้างสุขภาพจิตและร่างกายให้ดีได้พร้อมกัน ซึ่งผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ยิปโซ-อริย์กันตา มหาพฤกษ์พงศ์ ดารานักแสดงชื่อดัง, ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ผู้ก่อตั้ง Empathy Sauce นักจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว, ผศ.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนิ้วกลม-สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์

วงเสวนาที่สอง หัวข้อ “ความรักต่อเพื่อนร่วมโลก” พูดคุยถึงความสำคัญของการยอมรับการอยู่ร่วมกันและความหลากหลายที่สามารถส่งเสริมความสามัคคีในสังคมและช่วยสร้างสุขภาพจิตที่ดีสำหรับทุกคน ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ กันตพร สวนศิลป์พงศ์ นักเขียน, นักจิตวิทยาการปรึกษา ผู้ก่อตั้งศูนย์บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและสุขภาพจิต MasterPeace, สโรชา กิตติสิริพันธุ์ นักจิตวิทยาการปรึกษา, ซิลวี่ ภาวิดา มอริจจิ นักร้องและศิลปิน และ นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

วงเสวนาที่สาม หัวข้อ “ความรักในการที่จะมีสุขภาวะชีวิตที่ดี” พูดคุยถึงแนวคิดและบทบาทสำคัญของสุขภาวะทางจิตในที่มีผลต่อสุขภาพองค์รวม รู้จักวิธีการและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดี โดยผู้ร่วมเสวนาได้แก่ เรืองริน อักษรานุเคราะห์ นักจิตวิทยาการปรึกษา เจ้าของเพจ Beautiful Madness by Mafuang, ไมกี้-ปณิธาน บุตรแก้ว ดารานักแสดง, พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ และจารุปภา วะสี ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา

วงเสวนาที่สี่ หัวข้อ “ความรักที่จะได้เชื่อมต่อความสัมพันธ์ดี ๆ ในสังคม” โดยจะพูดคุยถึงการทำความเข้าใจความเหงาในสังคมและผลกระทบต่อสุขภาพจิต ร่วมค้นหาวิธีที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมาย และการสร้างเครือข่ายสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหาความเหงา ซึ่งผู้ร่วมเสวนา คือ นพ.ธีรวีร์ วีรวรรณ แพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน, ผู้อำนวยการกองสร้างเสริมสุขภาพ สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร, อมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์ ผู้ก่อตั้งสติแอป และ เขื่อน-ภัทรดนัย เสตสุวรรณ ศิลปิน ผู้ก่อตั้งจุดพักใจและนักจิตบำบัด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active