นายกฯ เปิดตัว “30 บาทรักษาทุกที่” ขยายสิทธิทั่ว กทม. ชูเทคโนโลยีลดแออัดโรงพยาบาล

หวังลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลดิจิทัล ขณะที่ ”สมศักดิ์-ชัชชาติ“ ชี้ปัญหาสุขภาพในเมืองใหญ่ยังท้าทาย แม้มีรพ.มาก แต่ประชากรแฝงกว่า 10 ล้านคน ย้ำรักษาทุกที่เฉพาะหน่วยปฐมภูมิ ป่วยหนักจึงส่งต่อตามขั้นตอน

วันนี้ (27 ก.ย. 2567) แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า” ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมงานกว่า 1,000 คน โดยมีการประกาศนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” ที่เน้นยกระดับการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนในกรุงเทพฯ 

“ดิฉันเองมีประสบการณ์หลายอย่าง ยกตัวอย่าง คุณพ่อตอนนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี ได้กลับมาที่บ้านและทานข้าวเย็นกันปกติ และบอกว่าไปต่างจังหวัดมา มีผู้ชายคนหนึ่งวิ่งมาหาท่านและเปิดเสื้อมีแผลยาวตั้งแต่ข้างบนจนถึงช่วงท้อง บอกว่า ผมได้ผ่าตัดหัวใจมาครับด้วย 30 บาท ซึ่งคุณพ่อเล่าด้วยความภาคภูมิใจอย่างมาก”

แพทองธาร กล่าว 

เธอบอกอีกว่า เบื้องหลังการทำงานยังมีคนอีกมากมายที่ทำให้นโยบายนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ ประชาชนไม่ต้องล้มละลาย ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน และขอให้มั่นใจว่าในปีนี้ รัฐบาลจะขยาย 30 บาท รักษาทุกที่ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทุกตารางนิ้วในประเทศไทย และให้คนไทยเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ดูแล 

หัวใจสำคัญของ 30 บาทรักษาทุกที่ คือการพัฒนาและเชื่อมโยงระบบข้อมูลสุขภาพระหว่างหน่วยบริการ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการได้จากทุกที่อย่างไร้รอยต่อ ลดระยะเวลารอคอยและความแออัดในโรงพยาบาล โดยการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพนี้ได้รับการสนับสนุนจากระบบดิจิทัล เช่น ระบบส่งต่อผู้ป่วย (e-Referral) และ Health Link

นอกจากนี้ ในงานยังมีการมอบ “โล่ตราสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่” ให้กับผู้แทนสภาวิชาชีพ 7 สาขา ที่ร่วมขับเคลื่อนบริการนวัตกรรมในระบบบัตรทอง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ โดยประชาชนในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะมีสิทธิรักษาอยู่ในจังหวัดใด ก็สามารถใช้บัตรประชาชนรับบริการได้จากหน่วยบริการปฐมภูมิทั่วกรุงเทพฯ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุขและคลินิกชุมชนอบอุ่น

สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า โครงการนี้ได้ดำเนินการแบ่งเป็น 4 ระยะตั้งแต่ต้นปี 2567 และกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่ 46 ในการขับเคลื่อน โดยมุ่งให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ และคาดว่าจะครอบคลุมทั่วประเทศในเร็ว ๆ นี้ 

ด้าน รศ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพในเมืองใหญ่ ซึ่งใน กทม. มีโรงพยาบาลชั้นดีจำนวนมาก แต่แท้จริงแล้วมีประชาชนรวมประชากรแฝงกว่า 10 ล้านคน 

ปัญหาเรื่องสาธารณสุขใน กทม. ไม่ได้น้อยกว่าจังหวัดอื่น อาจมากกว่าในบางมิติด้วยซ้ำ นโยบายรักษาทุกที่ กทม. จึงมี 3 ปัจจัยหลักสำคัญ ได้แก่ 1.ต้องใช้เทคโนโลยี 2.การเชื่อมโยงข้อมูล และ 3.มีระบบปฐมภูมิที่เข้มแข็ง 

ที่ผ่านมา มีการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่างสถานพยาบาลในพื้นที่ ทั้งโรงพยาบาลในสังกัด 12 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และหน่วยบริการนอกสังกัด ที่ผ่านมา กทม. ได้นำร่องการเชื่อมโยงระบบข้อมูลฯ นี้แล้วในเขตสุขภาพที่ 3 

“วันนี้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการปฐมภูมิได้ ทั้งที่ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชมชนอบอุ่น หน่วยนวัตกรรมที่ติดสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ หากมีความจำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลก็จะมีการส่งตัวผู้ป่วยตามขั้นตอนต่อไป”

ชัชชาติ กล่าว 

ทั้งนี้ในการเข้ารับบริการตามนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” นอกจากการเข้ารับบริการโดยการยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน เป๋าตัง, แอปพลิเคชัน หมอพร้อม แล้ว ยังสามารถใช้แอปพลิเคชัน ทางรัฐ ได้เช่นกัน พร้อมกันนี้ยังสามารถตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาล และย้ายหน่วยบริการประจำได้ด้วยตนเอง  

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active