ประธานชมรม รพศ./รพท. แนะค่ารักษาผู้ป่วยในควรเป็น “งบปลายเปิด”

”นพ.อนุกูล“ ขอบคุณรัฐบาลอนุมัติงบกลางอุดบัตรทองปี 2567 วงเงิน 5,924.31 ล้านบาท แต่ยังคาใจค่าผู้ป่วยในเดือน มิ.ย.-15 ก.ย. 67 จะตามจ่ายชดเชยในอัตรา 8,350 บาทต่อ AdjRW ด้วยหรือไม่ 

จากกรณี บอร์ด สปสช. นัดประชุมวาระพิเศษ อนุมัติงบกองทุนบัตรทอง เพื่อปิดรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 ทั้งค่าบริการ 30 บาทรักษาทุกที่ และรายการบริการที่งบประมาณไม่เพียงพอ เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2567 พร้อมให้ความเห็นชอบหากงบคงเหลือให้เพิ่มเติมค่าบริการผู้ป่วยในให้หน่วยบริการอัตราไม่เกิน 8,350 บาทต่อ Adj.RW มอบ สปสช. ดำเนินการทันที

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 67 นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์  ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ให้สัมภาษณ์ The Active ว่า ก่อนอื่นต้องขอบคุณ รมว.สธ. ที่เข้าใจปัญหางบฯ ผู้ป่วยใน ที่กระทบโรงพยาบาลทุกระดับในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข และได้ของบกลางจากรัฐบาลมาเสริม รวมทั้งพยายามให้โรงพยาบาลได้รับค่ารักษาผู้ป่วยในในอัตราสูงขึ้นใกล้ 8,350 บาทต่อหน่วย

อย่างไรก็ตาม ทุกโรงพยาบาลต้องติดตามดูว่า สุดท้ายแล้ว สปสช.จ่ายค่ารักษาผู้ป่วยในตั้งแต่เดือนมิ.ย. – 15 ก.ย. 67 ในอัตราเท่าไร ที่น่าเป็นห่วง คือ วิธีคิดของกรรมการบอร์ดบางคนที่ยังคงยืนยันให้งบบริการผู้ป่วยในที่จำเป็นต้องรักษา ไม่ให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ไม่ให้พิการ เป็น “งบปลายปิด” ในขณะที่งบบริการอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยอาการเล็กน้อย ไปรับยาร้านยา คลินิคปฐมภูมิ เพื่ออำนวยความสะดวกกลับเป็น “งบปลายเปิด” อยากให้ทุกภาคส่วนในสังคมช่วยวิจารณ์การใช้งบประมาณด้วยวิธีคิดแบบนี้ ถูกต้องหรือไม่ ในสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยในตอนนี้ 

ผลประชุมบอร์ด สปสช.นัดพิเศษ​ 

สำหรับการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 (3) 2567 วาระพิเศษ “การปิดงบประมาณรายจ่าย ปีงบประมาณ 2567 และการใช้งบกลางคงเหลือ” เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา มีขึ้นหลัง สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ได้สั่งการให้มีการจัดขึ้นเป็นวาระพิเศษ เพื่อเร่งแก้ปัญหางบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องด้วยบริการในปีงบประมาณ 2567 จากการดำเนินการปรากฏว่า ได้มีประชาชนเข้ารับบริการจำนวนมาก ทำให้มีผลงานบริการมากกว่างบประมาณที่จัดสรรไว้ จึงจำเป็นต้องจัดหางบประมาณเพิ่มเติมในการปิดงบประมาณรายจ่าย รวมถึงการขอเพิ่มเติมจากงบกลางฯ ที่ทางคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนี้ สปสช. จะเร่งดำเนินการโอนค่าบริการให้กับหน่วยบริการโดยเร็ว 

ตามที่รัฐบาลได้อนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ 2567 จำนวน 5,924.31 ล้านบาท เพื่อเพิ่มเติมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล 30 บาทรักษาทุกที่ ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้นำรวมกับงบรายการรายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสมของปีงบประมาณ 2566 และรายรับอื่นระหว่างปีรอปิดบัญชีปี 2567 ที่ไม่มีภาระผูกพัน ที่ประชุมบอร์ด สปสช. เห็นชอบให้นำมาจ่ายชดเชยสำหรับค่าบริการ โดยเรียงตามรายการดังนี้ 

  • ค่าบริการตามนโยบายรัฐบาล 30 บาทรักษาทุกที่ 
  • ค่าบริการกรณีที่จำเป็นในการเข้ารับบริการยังหน่วยบริการอื่นนอกเครือข่าย กรณีเหตุสมควร 

กรณีรายการค่าบริการที่งบประมาณไม่เพียงพอ และในกรณีที่มีงบประมาณคงเหลือให้นำมาใช้จ่ายเพิ่มเติมกับค่าบริการผู้ป่วยในให้หน่วยบริการในอัตราไม่เกิน 8,350 บาทต่อ Adj.RW ทั้งนี้หากยังมีงบประมาณคงเหลือก็ให้ยกยอดไปในปีถัดไป ยกเว้นในส่วนของงบกลางฯ ให้เบิกจ่ายแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2567

ส่วนงบปกติ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้ปิดงบประมาณจากข้อมูลการเบิกจ่ายที่ส่งเบิกภายในวันที่ 15 ก.ย. 2567 สำหรับข้อมูลการส่งเบิกจ่ายหลังจากวันที่ 15 กันยายน 2567 ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณในปีถัดไป ส่วนค่าบริการผู้ป่วยนอกพื้นที่ กทม. ให้กันเงินไว้ภายใต้วงเงิน Capitation ตามประชากรที่ลงทะเบียน ณ วันที่ 30 ก.ย. 2567 ไว้จ่ายค่าใช้จ่ายค่าบริการที่ค้างจ่ายของปีงบประมาณ 2567

นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบให้ปิดงบประมาณรายจ่ายจากข้อมูลที่ส่งเบิกภายในวันที่ 15 ก.ย. ของทุกปี เพื่อให้การดำเนินการโอนเงินให้หน่วยบริการมีประสิทธิภาพและเสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 กันยายนของทุกปี ส่วนข้อมูลเบิกจ่ายหลังวันที่ 15 กันยายน ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณในปีถัดไป รวมถึงการนำงบประมาณคงเหลือจากการเบิกจ่ายให้นำไปรวมกับงบประมาณในปีถัดไป   

รับข้อสังเกตสภาพัฒนฯ ห่วงรักษาทุกที่ใช้งบฯ ซ้ำซ้อน

บอร์ด สปสช. ยังให้ สปสช. รับข้อสังเกตของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่อาจเกิดความซ้ำซ้อนของการสนับสนุนงบประมาณ ในการจัดบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ กรณีที่ผู้มีสิทธิไปรับบริการที่หน่วยบริการอื่นที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ หรือหน่วยบริการสาธารณสุขพื้นฐานใกล้บ้าน ขณะที่หน่วยบริการเดิมที่ได้ลงทะเบียนไว้ไม่ต้องจัดบริการแก่ผู้มีสิทธิรายนั้น แต่ยังได้รับงบประมาณในการดำเนินงานตามค่าเหมาจ่ายรายหัว 

ดังนั้นจึงควรพิจารณาหาแนวทาง ในการจัดสรรงบประงบประมาณรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ในการจัดบริการร่วมกันระหว่างหน่วยบริการที่ประชาชนได้ลงทะเบียน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยบริการอื่นภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เกิด ประสิทธิภาพในการดำเนินงานในระยะต่อไป

สมศักดิ์ ตั้งเป้าลดผู้ป่วย NCDs คุมงบบัตรทอง 

สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สธ.​ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ยังได้แสดงความเป็นห่วงต่อภาระโรคค่าใช้จ่ายสูงที่ก่อให้เกิดการล้มละลายและโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดัน ที่นำไปสู่โรคร้ายแรงเหล่านี้ และภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล รวมถึงงบประมาณกองทุนบัตรทองฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น  ซึ่งประชาชนสามารถปรับพฤติกรรมเพื่อลดอัตราการป่วยได้ ดังนั้นจึงขอฝากให้ทุกคนช่วยกัน     

กทม. เดินหน้า Health Link รองรับรักษาทุกที่ 

 รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่าก่อนหน้านี้กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการที่ Bangkok Health Zoning 3 กับทุกหน่วยบริการผ่านระบบ Health Link โดยหน่วยบริการประกอบด้วย โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น ร้านขายยาคุณภาพ โดยปัจจุบันได้ขยายการเชื่อมโยงข้อมูลนี้ไปยังโซนอื่นใน กทม. แล้ว แต่อาจยังไม่ครบทุกพื้นที่ วันนี้จึงเป็นการพูดคุยหารือเพื่อหาแนวทางการขยายการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันต่อไป

การหารือระหว่างกรุงเทพมหานครและกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นความพยายามทำงานร่วมกันในการที่จะเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อประชาชน ทั้งนี้ จะมีการตั้งคณะทำงานที่ดูเรื่อง Data Governance และการทำงานด้านเทคนิคการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active