หวั่น 30 บาทรักษาทุกที่ทำคนไข้ล้นโรงเรียนแพทย์

“ผอ.รพ.ร้อยเอ็ด” เสนอยกระดับโรงพยาบาลชุมชน ค่าตอบแทนแพทย์ต้องเร้าใจ ขณะที่ “เลขาฯ สปสช.” เร่งเชื่อมข้อมูลข้ามสังกัดแก้ปมใบส่งตัว กทม. คากเสร็จในเดือน ก.ค. นี้ 

วานนี้ (26 มิ.ย. 2567) เวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2567 นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.รพ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่เป็นนโยบายที่ดี แต่มีความกังวลว่าจะทำให้คนไข้จำนวนมากวิ่งไปหาโรงเรียนแพทย์อย่าง จุฬา,ศิริาช,รามาฯ ต้องตั้งรับดีดี หรืออาจต้องมีหน่วยรองรับบริการบัตรทอง ขณะที่ชาวบ้านต่างจังหวัดไม่อยากไปรักษาไกล ๆ แต่หากไปหาหมอที่โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) หลายครั้งแล้วไม่หาย เขาจะไปโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์แน่นอน 

ส่วนนโยบายปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่บอกว่าจะต้องพัฒนา รพช. อย่างก้าวกระโดด ก็จำเป็นต้องมีหมอเฉพาะทางเพิ่ม ขณะที่อีกสิบปีจะมีหมอจบใหม่อีก 3 หมื่นคน ต้องวางแผนให้ดี โดยเฉพาะค่าตอบแทนต้องเร้าใจ จูงใจไม่ให้หมอไหลออกไปนอกระบบ 

ด้าน ผศ.นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ได้ทำวิจัยนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ในเฟสแรก พบว่าไม่ทำให้ รพ.ใหญ่แออัดอย่างที่กังวล​ เพราะการที่ชาวบ้านจะเข้ามารพ.ใหญ่ มีต้นทุนค่าเดินทาง​ ส่วนความกังวลว่าผู้ป่วย จะล้น รร.แพทย์​ ไหม​ คงไม่ง่าย​ เพราะ รร.แพทย์ กำหนดโควค้ารับผู้ป่วยในแต่ละวัน​ ถ้าเต็มก็ไม่รับ​ 

ขณะที่การใช้บริการประชาชนได้สะดวกจริง​ คือคลินิกพยาบาล และร้านขายยา​​ เป็นหน่วยบริการที่​ ชาวบ้านไปใช้บริการเยอะ​ ถึง​80% มองว่าเป็นที่พึ่งของคนจนที่เข้าถึงได้ โดยคนที่ไม่เคยเข้าถึงบริการบัตรทอง​ในช่วง​ 3​ ปีก็เข้ามาใช้บริการ​เพิ่มขึ้น​ 40 โดย 10% ไปใช้บริการที่หน่วยนวัตกรรมคือคลินิกพยาบาล​และร้านยา 

อย่างไรก็ตาม ผศ.นพ.สัมฤทธิ์ ยังมีข้อเสนอว่า สปสช. ต้องทบทวนกองทุนย่อย ๆ ของสปสช. ที่อาจจะทับซ้อนกัน เพราะนโยบายรักษาทุกที่จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก จากเดิมเน้นข้ามเขตตามจ่าย พอเปลี่ยนบัตรเดียว สปสช.ก็ต้องตามจ่ายหมด ทั้งเพราะเป็นนโยบายรัฐ แต่รัฐไม่ควรได้รับเครดิต หากไม่ลงทุนอะไรเลย 

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่าตัวอย่างความคิดเห็นและข้อเสนอในปีนี้ เฉพาะ “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” เช่น ปรับจ่ายชดเชยราคายาตามรายการ Fee Schedule โดยแยกราคากลางของร้านยาและราคากลางของโรงพยาบาล, เพิ่มการคัดกรองความเสี่ยงโรคไตที่ร้านยาคุณภาพของฉัน, บันทึกเบิกจ่ายการให้บริการในโปรแกรมเดียว และขยายการบริการของคลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่นมากกว่า 4 กลุ่มโรค เป็นต้น

ส่วนข้อเสนอประเด็นอื่นๆ ตามข้อบังคับ เช่น ขยายข้อบ่งใช้ ยา Somatropin สาหรับผู้ป่วยเด็กอายุ 0 – 15 ปี ที่มีภาวะโกรทฮอร์โมนกับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ, ให้มีการขึ้นทะเบียนร้านแว่นตาที่มีนักทัศนมาตร อยู่ประจำร้านเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้าน, เพิ่มยานอกบัญชีที่มีค่าใช้จ่ายสูงและต้องใช้ต่อเนื่องเป็นยาบัญชียาหลัก, เพิ่มอัตราการเบิกจ่ายค่าอัลตราซาวด์, ให้แจ้งทุกเงื่อนไขที่ติดรหัส c ในครั้งเดียว และมีแนวทางการจัดซื้อผ้าอ้อมและแผ่นรองซับที่มีมาตรฐาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอของการขับเคลื่อนสถานชีวาภิบาล ที่มาจากการรับฟังความเห็นกลุ่มเฉพาะ

“สรุปผลและข้อเสนอต่าง ๆ จากการรับฟังความคิดเห็นฯ ที่ได้มานี้ หลังจากนี้ สปสช. จะนำมากลั่นกรอง วิเคราะห์ และนำเสนอต่อ บอร์ด สปสช. พิจารณาเพื่อขับเคลื่อนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป”

เลขาธิการ สปสช. กล่าว

เร่งเชื่อมข้อมูลข้ามสังกัด แก้ปมใบส่งตัว กทม. 

The Active ถามเพิ่มเติมถึงความคืบหน้ารักษาทุกที่ใน กทม. นพ.จเด็จ บอกว่า ขณะนี้กำลังเร่งเชื่อมข้อมูลผู้ป่วย ในหน่วยบริการข้ามสังกัดให้เข้าถึงกันได้หมด และออกแบบรูปแบบการเบิกจ่ายใหม่ ไม่ให้เป็นปัญหาอุปสรรคต่อประชาชน โดยอาจจะทำสัญลักษณ์ กับหน่วยบริการ ที่เชื่อมข้อมูลแล้ว ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว คาดว่าจะทยอยทำได้ตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็นต้นไป และสิ้นปีจะเปิดตัวรักษาทุกที่ กทม. อย่างเป็นทางการ 

ทั้งนี้ ”ใบส่งตัว“ มีความสำคัญ คือ 1. ให้ข้อมูลผู้ป่วย หากการเชื่อมข้อมูลถึงกันทุกหน่วยบริการแล้วก็ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว 2. โรงพยาบาลต้องการใบส่งตัวเพราะจะได้ไปตามเก็บเงินจากหน่วยบริการที่ส่งผู้ป่วยมา ส่วนนี้จะมีออกมาตรการด้านการเงินออกมา หากผู้ป่วยไม่มีใบส่งตัวไป ก็เบิก สปสช.ได้ ส่วนเรื่องหลังบ้านก็มีกติกาของเรา ขอเวลาทำการบ้านยืนยันว่าจะแก้ปัญหาให้อย่างเบ็ดเสร็จ 

ถามว่า ตามที่ สปสช.มีการทยอยเปิดหน่วยนวัตกรรมใหม่ๆ  เช่นคลินิกการพยาบาล, คลินิกทันตกรรม, คลินิกกายภาพบำบัด, คลินิกแพทย์แผนไทย, คลินิกเทคนิคการแพทย์ และร้านยา จะสามารถส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการหนักเกินศักยภาพของคลินิกได้ไหม นพ.จะเด็จ ตอบว่าสามารถส่งต่อได้ในหลักการ สำคัญคือต้องเป็นคลินิกที่เชื่อมข้อมูลแล้ว 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active