“สมศักดิ์”ยอมรับ สธ.ไม่มีเงินมากพอ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ หลังดึงกัญชาเป็นยาเสพติด

รมว.สธ.เปิดกระทรวงฯ วันหยุด รับฟังความเห็นปมกัญชา “แพทย์-เยาวชน” หนุนกลับเป็นยาเสพติด หลังพบ เด็กเข้าถึงง่าย-ไอคิวลด-อุบัติเหตุเพิ่ม ชี้ หลังปลดล็อก ทำต้นทุนค่ารักษาพุ่งจาก 3 พันล้าน เป็น 2 หมื่นล้าน เล็ง เปิดเวทีฟังรอบด้าน

วันนี้ (1 มิ.ย. 2567) สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมรับฟังความคิดเห็นกับแพทย์ราชวิทยาลัยจิตแพทย์,กุมารแพทย์ และเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ได้รับผลกระทบจากกัญชา ที่กระทรวงสาธารณสุข 

สมศักดิ์ บอกว่า รัฐบาลมีแนวทางนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด จากได้รับฟังข้อมูลเรื่องกัญชา ต้องยอมรับว่า น่ากลัวมากสำหรับเด็กและเยาวชน เพราะจากข้อมูลของอเมริกาพบว่า ไอคิวของเด็กที่ใช้กัญชา ลดลงไป 8-9 หน่วย รวมถึงหลังปลดล็อกกัญชา ก็ทำให้ต้นทุนการรักษาด้วยกัญชาเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาประชาชน อย่างโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ โดยรัฐบาลพยายามควบคุมค่าใช้จ่าย แต่ก็ต้องมารักษาโรคเกี่ยวกับกัญชา ที่สูงมากขึ้น จากเดิมต้นทุน 3,000 ล้านบาทต่อปี เป็น 20,000 ล้านบาทต่อปี จึงถือเป็นเรื่องที่น่าห่วง ซึ่งสิ่งที่แนะนำมาทั้งหมด จะทำให้รัฐบาล ตัดสินใจง่ายขึ้น

“ถ้าวันนี้ไม่ยอมให้กัญชาเป็นยาเสพติด ก็ต้องเพิ่มเงินค่ารักษามาให้เราด้วย พร้อมยืนยันว่า กลุ่มไม่เห็นด้วยกับการนำกัญชากลับเป็นยาเสพติด ก็สามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้เช่นกัน” 

รมว.สธ.

ถามว่า ขั้นตอนจากนี้จะดำเนินการอย่างไรต่อ สมศักดิ์ บอกว่า เรื่องนี้ เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองด้วย โดยที่ได้สนับสนุนในอดีต เพราะอาจมีข้อมูลที่แตกต่างกัน ดังนั้น ต้องให้เวลาการตกผลึกด้วย โดยคงไม่ช้า เพราะยาบ้า ในสัปดาห์หน้า ก็จะรับฟังความคิดเห็นจบ ในวันที่ 4 มิ.ย.นี้  จากนั้น ก็จะดำเนินการเรื่องกัญชาต่อ 

ส่วนแนวทางการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการนำกัญชาเป็นยาเสพติด สมศักดิ์ บอกว่า เรื่องการเยียวยา ต้องพิจารณาในรายละเอียดต่อไป เพราะเราไม่มีเงินมากมาย ที่จะไปใช้ที่ไม่ใช่ทางตรง ซึ่งตนทราบว่า กระทรวงสาธารณสุขยังเป็นหนี้ บุคลากรทางการแพทย์ ในช่วงโควิดอยู่ ดังนั้น จะให้เป็นหนี้อีก ก็ตัดสินใจไม่ได้ แต่ตนขอยืนยันว่า จะให้เวลาการปรับตัว พร้อมขอย้ำว่า ไม่ห้ามทางการแพทย์

ศ.นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

ขณะที่ ศ.นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย บอกว่า มีงานวิจัยรองรับที่อเมริกาพบว่า กัญชาใช้แล้วติด ซึ่งเมื่อติดแล้ว ก็จะมีปัญหาทางจิตเวชตามมา ทำให้ในโรงพยาบาล มีสัดส่วนผู้ป่วยทางจิตจากกัญชา เพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยต้องใช้ทรัพยากรของประเทศจำนวนมากในการรักษา ส่วนในระยะยาว จะทำให้คนไทยมีคุณภาพแย่ลง โดยเฉพาะไอคิวลดลง รวมถึงเป็นโรคจิตด้วย ซึ่งจะใช้ชีวิตลำบาก โดยช่วง 2-3 ปี เรามองเห็นปัญหา เพราะปล่อยให้ใช้โดยควบคุมน้อยมาก จึงขอเสนอให้กัญชากลับเป็นยาเสพติด ซึ่งเราไม่ต้องการลงโทษคนใช้ แต่เราสามารถยับยั้งผู้ค้าได้ 

ผศ.(พิเศษ) นพ.ปราการ ถมยางกูร สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย  บอกว่า จากข้อมูลพบว่า ผู้ใช้กัญชา มีความพยายามฆ่าตัวตายเพิ่ม รวมถึงมีอุบัติเหตุทางถนนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่า แม่ที่ใช้กัญชา เวลาให้นมลูก จะมีส่วนของกัญชาไหลออกมาให้เด็กด้วย ขณะเดียวกัน ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจว่า หลังปลดล็อกกัญชา ทำให้ต้นทุนการรักษาด้วยกัญชาทางการแพทย์สูงขึ้น โดยช่วงปี 2562-2564 มีต้นทุนการรักษา 3,200 – 3,800 ล้านบาท แต่ปี 2565-2566 เพิ่มเป็น 15,000 – 21,000 ล้านบาท จึงถือเป็นสิ่งที่น่ากังวล 

เกรียงไกร พึ่งเชื้อ มูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด บอกว่า หลังปลดล็อกกัญชาพบว่า มีจำหน่ายกัญชากว่า 7,700 จุด ทำให้นำไปสู่ปัจจัยเสี่ยงที่จะไปใช้ยาเสพติดชนิดอื่นต่อ เพราะจากการสำรวจในภาคตะวันตก พบว่า ผู้ที่ใช้เฮโรอีน ร้อยละ 40 เริ่มมาจากการใช้กัญชามาก่อน จึงควรให้ความสำคัญ เพราะจะมีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มมากขึ้น จนปัจุบันมี 1 ตำบล 1 ผู้ป่วยจิตเวช

ขณะที่ ผู้แทนกลุ่ม YNAC บอกว่า ที่ผ่านได้รับการขอความช่วยเหลือจากผู้ปกครอง ในเรื่องการบำบัดกัญชาจึงอยากให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด  เพราะกว่า พ.ร.บ.ควบคุมจะออกมา ใช้เวลาเป็นปี กลุ่ม YNAC จึงเห็นว่า รัฐบาลแก้ไขเร่งด่วนดีที่สุดแล้ว เนื่องจากมองอนาคตของชาติสำคัญสุด หลังมีการใช้ผิดวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ 

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ยังได้ร่วมสะท้อนว่า ต้องมีการให้ข้อมูลของกัญชาที่แท้จริง รวมถึงต้องระวัง กัญชาในขนมด้วย เพราะเป็นสิ่งที่อันตรายมาก เนื่องจากที่ผ่านมา มีเด็กกินบราวนี่ 2 ชิ้น ถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล จึงเสนอให้จัดเวทีให้ข้อมูล 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active