ผลตรวจปัสสาวะ ตร.ชะอวด แทงชาวบ้านดับ ไม่พบสารเสพติด แต่ป่วยจิตเวช

เจ้าหน้าที่ยืนยันดำเนินคดีตรงไปตรงมา พบก่อนหน้า สตช.เพิ่งเดินหน้าโครงการป้องกันตำรวจป่วยจิตเวช ฆ่าตัวตาย เน้นสร้างสายใยแห่งความรัก ความผูกพัน ความเข้าใจ ผู้บังคับบัญชาต้องให้ความสนใจ และใส่ใจผู้ใต้บังคับบัญชาและครอบครัว เพิ่มมากขึ้น ​

จากกรณีที่ ส.ต.อ.ชวนิล จินดามณีมาศ ตำแหน่ง ผบ.หมู่ ปราบปราม สถานีตำรวจภูธรชะอวด จ.นครราชสีมา ก่อเหตุใช้มีดไล่แทงชาวบ้าน เป็นผู้สูงอายุ 2 คน บริเวณหน้าศูนย์ กศน.ตรงข้ามแฟลตตำรวจ เหตุเกิดเมื่อช่วงค่ำวันที่ 24 ก.พ.67 ทำให้ ประภา แย้มเยื้อน อายุ 69 ปี ได้รับบาดแผลบริเวณใบหน้าหลายแห่ง ส่วน วิจิตตรา รักขนาม อายุ 51 ปี ถูกแทงบริเวณหลังนับ 10 แผล เสียชีวิตขณะนำตัวส่งโรงพยาบาล ส่วนผู้ก่อเหตุถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ได้ 

ล่าสุด (25 ก.พ.67) พล.ต.ท. สุรพงษ์ ถนอมจิตร ผบช.ภ.8 สั่งการให้ พล.ต.ต. สมชาย ซื่อต่อตระกูล ผบก.ภ.จว.นครศรีธรรมราช ลงพื้นที่ควบคุมอำนวยการสอบสวนสืบสวนในคดีนี้อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลชะอวดได้แจ้งผลการตรวจปัสสาวะของ ส.ต.อ. ชวนิล ผู้ก่อเหตุ ไม่พบสารเสพติด และเก็บโลหิตส่งศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจสอบอย่างละเอียดต่อไป และยืนยันว่าจะดำเนินคดีอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการเข้าด้วยช่วยเหลือพวกเดียวกันอย่างเด็ดขาด ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำตัวไปฝากขังต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชต่อไป ทางตำรวจได้ยื่นคำร้องคัดค้านการประกันตัว

เมื่อตรวจประวัติผู้ต้องหา ทราบว่า ได้พบแพทย์เพื่อรักษาอาการจิตเวช ที่โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ ตั้งแต่ปี 2565 และรับยาตามแพทย์สั่งมากินอยู่ประจำทุกเดือน ซึ่งก่อนหน้านี้ 3 เดือน แพทย์วินิจฉัยว่าอาการดีขึ้น จึงสั่งลดยา แต่ในวันเกิดเหตุได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตรวจวัดหลังเกิดเหตุได้ 49 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ 

พบกลาง ก.พ.67 สตช.จัดอบรมป้องกันตำรวจป่วยจิตเวช ฆ่าตัวตาย

ย้อนไปเมื่อวันที่ 14 ก.พ.67 โรงพยาบาลตำรวจ จับมือสำนักงานจเรตำรวจ อบรมป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม เป็นครั้งแรก เพื่อให้เป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหา โดยมี พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธาน

พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ กล่าวว่า ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ และลักษณะเฉพาะงาน ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องแบกรับความกดดันมาก จนเกิดภาวะเครียด และอาจตัดสินใจฆ่าตัวตาย เพราะไม่รู้จะไปพูดคุย ปรึกษาใคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงมีนโยบาย “My Home” ขึ้นมา ซึ่งหมายถึงตำรวจทุกนายคือ ครอบครัวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ต้องช่วยกันสร้างสายใยแห่งความรัก ความผูกพัน ความเข้าใจ ให้เกิดขึ้นในครอบครัว โดยผู้บังคับบัญชาต้องให้ความสนใจ และใส่ใจผู้ใต้บังคับบัญชาและครอบครัว เพิ่มมากขึ้น เพราะสายใยแห่งความรัก นอกจากจะเป็นพื้นฐานที่ทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น ไม่อยู่ในภาวะความเครียดแล้ว ยังเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เกิดความคิดฆ่าตัวตาย ได้เป็นอย่างดี

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยโรงพยาบาลตำรวจลงพื้นที่เยี่ยมครอบครัวข้าราชการตำรวจทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดโดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ อีกทั้งนำทีมแพทย์ โรงพยาบาลตำรวจ ออกตรวจสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตใจ หากพบเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีภาวะซึมเศร้า หรือมีความเสี่ยงในการคิดฆ่าตัวตาย จะส่งตัวเข้ารับการรักษาทันที

จากสถิติการดำเนินงานของโรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่ ปี 67-ปัจจุบัน พบสถิติการฆ่าตัวตายของข้าราชการตำรวจในปี 2562 จำนวน 39 นาย ปี 2563 จำนวน 30 นาย ปี 2564 จำนวน 31 นาย ปี 2565 จำนวน 39 นาย ปี 2566 จำนวน 25 นาย และ 2567 ตั้งแต่เดือน มกราคม ถึงปัจจุบัน จำนวน 3 นาย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active