5 เครือข่ายแพทย์ ทวงเงินบัตรทอง หลังถูกหักต้นทุน 30%

กติการักษาคนสิทธิบัตรทองตึงจนเบิกจ่ายไม่ได้ ติดรหัส C พรึ่บ! ทำหน่วยบริการขาดทุนหนัก ชี้ความอดทนมีจำกัด แต่ยืนยันจะไม่หันหลังให้ประชาชนต้องเดือดร้อน พร้อมชม “ประกันสังคม” จ่ายคล่องกว่า “บัตรทอง” ขณะที่ สปสช.เตรียมตั้ง “Provider Board” ตามข้อเรียกร้อง

วันนี้ 13 ก.พ. 2567 เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย, ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป, ชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์, สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เดินทางมาที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อยื่นหนังสือถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ช่วยแก้ปัญหาการเบิกจ่ายค่ารักษาประชาชนตามสิทธิบัตรทอง ที่จ่ายต่ำกว่าต้นทุน ยาและการทำหัตถการบางรายการไม่สามารถเบิกได้ ติดรหัส C ทำหน่วยบริการขาดทุน 

โดย รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ประเทศไทย หรือ ยูฮอสเน็ต (UHosNet) กล่าวว่า มีการคัดค้านกันภายในอยู่เป็นระยะ ๆ แต่ ระบบของ สปสช. ช่วงหลังดูจะบิดเบี้ยว ไม่มีคำนึกถึงผู้มีส่วนร่วม คือสถานพยาบาลทั้ง กทม. และต่างจังหวัด ซึ่งช่วงการระบาดของโควิด  ยังมีการจัดการที่ดีกว่า เพราะหน่วยบริการร่วมกันออกแบบการให้บริการ ส่วน สปสช. ก็ตามจ่าย แต่ในกรณีปกติหลังโรคระบาด ไม่เป็นเช่นนั้น ทำให้สถานพยาบาลในภาคเอกชนหนีไปเยอะ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน ในระบบบัตรทองแทบไม่มีแล้ว มีแค่โรงพยาบาลเอกชนเล็ก ๆ ขณะที่กรณีของโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์นั้น สปสช. ค้างจ่ายค่าผู้ป่วยนอกปีงบประมาณ 2566 รวมกว่าพันล้านบาท และคาดว่าในปีงบประมาณ 2567 ก็คงไม่ต่างกัน

ด้าน นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์  ประธานชมรมชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวว่า สปสช.จัดสรรงบประมาณให้โรงพยาบาลต่ำกว่าต้นทุน ตัวอย่างผู้ป่วยในโรงพยาบาล สังกัด สธ. มีต้นทุนเฉลี่ยคนละ  13,000 บาท แต่ สปสช. กำหนดค่าใช้จ่าย 8,350 บาท ซึ่งเป็นลักษณะของ ”การเงิน“ นำการบริการ แต่ตนต้องให้ ”การบริการ“ นำเรื่องเงิน 

ด้าน รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวเสริมต่อว่า ทางออกของเรื่องนี้คือการมี หรือ บอร์ดผู้ให้บริการ ซึ่งถ้าเราไปดูสัดส่วนกรรมการ สปสช. ไม่ว่าจะชุดใหญ่ชุดเล็ก จะพบว่ามีองค์ประกอบ ผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่ใช่ตัวจริง จึงอยากให้มีผู้ให้บริการเข้าไปด้วย

“ผู้ให้บริการทนกันมานาน แต่เราจะไม่หันหลังให้ประชาชน ถ้าภาคสาธารณสุขล้มไป จะไม่มีใครมาปกป้องประชาชนได้เลย เราต้องอดทน แต่ความอดทนก็มีขีดจำกัด แต่เราจะไม่สะท้อนความทนไปที่ประชาชน เราสะท้อนกลับมาที่ผู้บริหาร“ 

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว
(จากซ้าย) พญ.นันทวัน ชอุ่มทอง นายกสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น, รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ประเทศไทย, นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์  ประธานชมรมชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป

ชม “ประกันสังคม” จ่ายคล่องกว่า “บัตรทอง” 

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า จากปัญหาการจ่ายเงินของ สปสช. ทำให้โรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ เขาเหลือทน ไปร่วมกับประกันสังคมมากกว่า เพราะต้องยอมรับว่าบอร์ดประกันสังคมเองให้ความสำคัญdy[ทุกองค์ประกอบของระบบบริการ ไม่กับคนใดคนหนึ่ง 

“ยอมรับว่า สิทธิประโยชน์ สปสช.ที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้ภาระงาน และงบประมาณ​เพิ่มตาม เข้าใจว่า สปสช. งานของเขาก็คือประชาชน แต่ว่าส่วนหนึ่งควรมองเพื่อนร่วมงานด้วย ถ้าเขายังมองว่าเราคือเพื่อนร่วมงานนะ” 

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

ส่วนบัตรทองรักษาทุกที่ จะไปต่ออย่างไร ก็คงมีหน่วยบริการที่หนีหายไปจาก สปสช. เหลือไม่กี่ราย แต่ โรงพยาบาลรัฐหนีไม่ได้ และไม่อยากเห็นปรากฎการณ์ที่โรงพยาบาลมองผู้ป่วยบัตรทองเป็นผู้ป่วยชั้น 2 เราไม่อยากให้มีสภาพนั้น 

สิ่งที่เราบอกได้คือทบทวนสิ่งที่ สปสช. กำลังบริหารจัดการ ส่วนกรอบเวลาที่คาดหวัง ก็คงมาทวงถามเป็นระยะ เพราะเข้าใจว่าเรื่องนโยบาย มีกระบวนที่ซับซ้อนเรายอมรับได้ว่ามันอาจจะช้า และทนมาสิบกว่าปีแล้ว แต่สิ่งที่หายไปคือความเชื่อมั่น 

คลินิกชุมชนอบอุ่น คาดมีเงินใช้ไม่ถึง 6 เดือน

พญ.นันทวัน ชอุ่มทอง นายกสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น กล่าวว่า คลินิกได้รับผลกระทบมาก และขอให้ทาง สปสช.ช่วยจ่ายเงินให้คลินิกที่ทำงานไปแล้วในปี 2566 เพราะตอนนี้จ่ายเพียงครึ่งเดียว ส่วนปี 2567 งบประมาณไม่เพียงพอ เพียงชั่วไตรมาสแรก 3 เดือนใช้ไปเกินครึ่งแล้ว คาดว่าไม่ถึง 6 เดือนงบประมาณ 2567 จะหมดลง และอยากให้ตรวจสอบการใช้เงิน สปสช. เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยได้รับข้อมูล

นอกจากนี้ ขอสนับสนุนตั้ง Provider Board และขอคนกลางเข้า พร้อมแยกฝ่ายบริหารออกจากการเงิน เพื่อความโปร่งใสและยุติธรรม ซึ่งหัวใจของปัญหาคือ เงินในระบบไม่เพียงพอกับภาระงาน โดย สปสช.มีการบริหารงานทำให้เกิดความเสี่ยง ทำให้ผู้อยู่ในระบบเดือดร้อน จึงต้องแก้รากเหล้า หากงบประมาณไม่พอ ก็ควรจะเพิ่ม

เผยเบื้องลึกปัญหา คลินิกบัตรทอง ขาดทุน 

ศรินทร สนธิศิริกฤตย์ เจ้าของคลินิกเวชกรรมอารีรักษ์ คลองเตย กทม.  เปิดเผยกับ The Active ว่า เบื้องหลังปัญหาการเงินที่ทำให้กลุ่มคลินิกชุมชนอบอุ่น กทม. ซึ่งเป็นคู่สัญญากับ สปสช. ต้องออกมารวมตัวเรียกร้องเพราะขาดทุน ดังนี้ 

1. ถูกหักต้นทุน 30% ยกตัวอย่างเช่นยาหยอดตาหนึ่งขวดมีต้นทุน 12 บาทแต่ สปสช. จะจ่ายเพียง 8 บาท ซึ่งตลอดปี 2566 ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 

2. มีกฎกติกาการรักษาประชาชนบางอย่างที่จะไม่สามารถเบิกได้ เช่นกำหนดให้ทำแผลได้แค่ 2 จุดต่อ 1 เคส หรือจ่ายยาเบาหวานได้ครั้งละ 120 เม็ด หากทำไปมากกว่านี้ เคสนั้นจะไม่สามารถเบิกได้ 

3. มีรายการจ่ายยาสำหรับคลินิกชุมชนอบอุ่นจะทำได้เพียง 1,800 รายการ หากจ่ายยาที่นอกเหนือจากนี้ จะไม่สามารถเบิกได้ 

ศรินทร สนธิศิริกฤตย์ เจ้าของคลินิกเวชกรรมอารีรักษ์

“ในภาคปฏิบัติไม่มีอะไรเกินความจำเป็น คนไข้บางคนทำแผลมามากกว่าสองจุด การจ่ายยาเบาหวานคนหนึ่งทานสามมื้อ เพื่อไม่ให้ต้องมารับยาบ่อย ๆ ก็อาจจะต้องจ่ายไปเลยทีเดียว 360 เม็ด ซึ่งทำแบบนี้ก็จะไม่สามารถเบิกกับ สปสช. ได้หรือที่เรียกว่าติด ”รหัส C“ 

ศรินทร กล่าว

ศรินทร บอกอีกว่าทุกวันนี้ต้องเอาเงินสำรองส่วนตัว มาใช้หมุน ในคลินิกซึ่งเกือบหมด 10 ล้านบาทแล้วซึ่งถ้าหมดเงินก้อนนี้ก็ จะเลิกทำคลินิกแล้ว โดยยังหวังว่าจะได้เงินคืนจาก สปสช. ที่หักต้นทุนไป 30% 

The Active นำข้อมูลที่ได้จากเจ้าของคลินิกเวชกรรมอารีรักษ์ ไปถาม นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้รับคำตอบว่า 

1.ไม่ได้หักต้นทุน 30% แต่เข้าใจว่าเป็นการออกแบบในการจัดสรรงบประมาณลักษณะปลายปิด เมื่อบริการแล้วผลงานบริการน้อยที่เหลือก็คืนไป แต่ว่าปีนี้ผลงานบริการพบว่าสูงขึ้นมาก (คนไข้ใช้บริการเยอะขึ้น) ทำให้งบปลายปิดสะท้อนกลับมาต่ำลง 

เราก็ต้องดูว่าเกิดจากอะไรซึ่งถ้าเป็นเรื่องของประชาชนมารับบริการมากขึ้นเราก็จะดูแล กับอีกส่วนเท่าที่ดูตัวเลขปีที่แล้วมีปัญหาที่เรียกว่างบฯ สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค (PP) ที่ไม่ได้จัดสรรลงไปสู่ประชาชนสิทธินอกสิทธิบัตรทอง ปรากฏว่าเงินส่วนนี้เมื่อปีที่แล้วใช้ไปเพียงแค่ 250 ล้าน จากทั้งหมด 1,700 ล้าน ซึ่งไม่สามารถคืนได้ ปีนี้ก็เลยอาจจะมาตั้งต้นใหม่หมด 

ส่วนถามว่า คลินิกฯ จะได้เงิน 30% คืนไหม ตอบว่าเงินไม่เหลือที่จะไปคืน เราต้องดูกติกาอีกครั้งหนึ่ง เพราะที่ผ่านมาทุกปีเงินมันเหลือ ทำให้เวลาคืนไปมากกว่าผลงานที่บริการ แต่ปีนี้ เป็นปีที่ผลงานมากกว่าเงินที่กันไว้เหมาจ่าย ก็เลยดูว่ามีสัดส่วนลดลง 

“ผมย้ำอีกครั้งว่าถ้าผลงานเกิดกับประชาชนเพิ่มขึ้น เราก็ต้องหาทางมาดูแลต่อแน่ เพราะถ้าพี่น้องประชาชนได้ประโยชน์ เสียค่าใช้จ่ายก็ต้องยอมดูแล แต่ไม่ใช่อำนาจผมคนเดียว เราคงต้องทำข้อเสนอผู้มีอำนาจเป็นขั้นต่อไป โดยกลไกของ สปสช. ไม่ได้อยู่ที่สำนักงานอย่างเดียว มีคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ ที่ต้องประสานหลายชุด แต่ก็ยินดีเพราะวันนี้ก็เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่เรามารับข้อมูลก่อน” 

เลขาฯ สปสช. กล่าว

2.เรื่องการจ่ายยาเป็นเรื่องของวิชาการ ยกตัวอย่างเช่น ยามะเร็งก็ต้องเป็นหมอมะเร็งสั่งจ่าย แต่ถ้าเป็นยาไข้หวัดเหมือนกัน แต่คลินิกจ่ายยาฆ่าเชื้อตัวนี้ไม่ได้ คงต้องลงไปดูรายละเอียด เข้าใจว่ารายการยาของเราเรามี 1,800 รายการ ซึ่งก็ต้องลงไปดูว่าเพียงพอหรือไม่ ส่วนนี้รับไปปรับปรุง 

3. ส่วนกรณีโรงเรียนแพทย์ หรือ คลินิกชุมชนอบอุ่นจ่ายยาเกิน 120 เม็ดไม่ได้ อันนี้ไม่ทราบจริง ๆ ขอไปตรวจสอบข้อมูลก่อนแต่โดยหลักการแล้วคุณหมอจะจ่ายเท่าไหร่ยังไงก็ว่าตามนั้น 

นพ.จเด็จ ยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมามีเหตุการณ์เบิกจ่ายที่ไม่ถูกต้อง เมื่อปี 2562 ลงไปตรวจเจอ สปสช.ก็ถูกกล่าวหาว่ามีการทุจริต ทำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องเข้มงวดเป็นพิเศษ เลยอาจทำให้บางกติกาดูตึงไป เรื่องพวกนี้คงจะรับไปดู

ปลัด สธ. รับต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวต่อจาก เลขาฯ สปสช. ว่า ปัญหานี้แบ่งเป็น 2 ระดับ 1.ปัญหาเชิงโครงสร้าง กับ 2.ปัญหารายละเอียดปลีกย่อย 

ปัญหาเชิงโครงสร้างนี้มีมานานแล้ว รมว.สธ. พยามจะแก้ไข และสปสช.​ก็ทำงานมา 20 ปีแล้ว ก็คงจะต้องมีการประเมินเชิงระบบว่า ระบบที่เราทำมา 20 ปีมีจุดดีอย่างไร ซึ่งจุดดีมีเยอะ แต่จุดที่จะต้องปรับปรุงก็มีอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเชิงโครงสร้างให้มีการศึกษา ประเมิน และแก้ไข

โดยโครงสร้างระบบของ สปสช. กำหนดไว้ 3 กลุ่ม 1.กลุ่มผู้ให้บริการ คือ คลินิก โรงพยาบาล 2.กลุ่มผู้รับบริการ คือ ประชาชน 3.สปสช. เป็นตัวกลางในการซื้อบริการ ประกันสุขภาพต่างๆ โครงสร้างทั้ง 3 กลุ่มนี้เป็นโครงสร้างใหญ่ ที่ผ่านมาเราอาจจะจัดระบบโดยละเลยโครงสร้างของกลุ่มผู้ให้บริการ ที่ทางเครือข่ายเรียกร้องคือ ตั้ง “Povider Broad” 

“การจะเพิ่มสิทธิประโยชน์อะไรก็ตาม แน่นอนว่าประชาชนได้ประโยชน์ แต่สิ่งที่กระทบตามมาคือผู้ให้บริการ ถ้าผู้ให้บริการอยู่ไม่ได้ ผู้รับบริการก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน จะทำยังไงให้ผู้ให้บริการอยู่ได้ ก็คือมีบุคลากรเพียงพอ อุปกรณ์เพียงพอ งบประมาณเพียงพอ นี่คือหลักการอย่างที่ต้องมีการทบทวนเชิงโครงสร้าง“ 

นพ.โอภาส กล่าว

ส่วนรายละเอียดปลีกย่อย การเบิกจ่ายงบประมาณ เป็นรายละเอียดของแต่ละพื้นที่ สังเกตดูปัญหาจะเกิดที่กรุงเทพมหานคร ส่วนต่างจังหวัดมีนายแพทย์สาธารณสุข กับผู้อำนวยการโรงบาลพยาบาล เกลี่ยงบฯ บริหารจัดการ แต่พอถึงกทม. ปุ๊บ คำถามก็คือว่าใคร? จะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบตรงนี้ นี่ก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอีกอันหนึ่ง ก็เป็นเรื่องเชิงระบบ ที่เราจะต้องไปหารือกัน  

เตรียมตั้ง “Provider Board” ตามข้อเรียกร้องเครือข่ายแพทย์

หลังตอบคำถามผู้สื่อข่าว นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข และเลขาธิการ สปสช. ​ปิดห้องประชุมร่วมกับเครือข่ายแพทย์ฯ ที่มากระทรวงสาธารณสุขในวันนี้

โดยหลังการประชุม นพ.โอภาส เปิดเผยว่า มีความเห็นพ้องต้องกันว่าควรผลักดันให้มีคณะกรรมการของผู้ให้บริการ หรือ  Provider Board เพื่อคอยสะท้อนถึงนโยบาย กฎเกณฑ์ กติกาของ สปสช.ออกมา 

ส่วนปัญหาเร่งด่วยอย่างเรื่องการจ่ายเงินที่ค้างจ่าย หนี้ที่ไม่รู้ใครเป็นหนี้ใครหลายพันล้านบาท รมว.สธ. เห็นว่าหักเงินให้ชะลอก่อน และเงินที่ค้างต้องทำความตกลงว่าจะอัดเงินเข้าระบบอย่างไร โดยเฉพาะคลินิกชุมชนอบอุ่น กทม.

ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า จะมีคณะทำงานร่วมกันระหว่างคลินิก สปสช. และมีคณะกรรมการย่อย โดยมี ผศ.นพ.สนั่น วิสุทธิศักดิ์ชัย เป็นประธาน เพื่อให้เคลียร์ตรงนี้ โดยหลักต้องจ่ายตามอัตราเต็มเม็ดเต็มหน่วย 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active