‘ก้าวใจ Academy’ เตรียมผลักดันการจัดตั้งสหภาพวิชาชีพจิตวิทยา ชี้ เป็นสิ่งเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางจิตเวช พร้อมคุ้มครองและค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มสูงขึ้นในไทย
10 ก.พ. 2567 ในการเสวนา “ก้าวแรกสหภาพวิชาชีพจิตวิทยา” จัดโดย กลุ่ม ‘ก้าวใจ Academy’ มีการพูดคุยหัวข้อการเติบโตในสหวิชาชีพนักจิตวิทยา คุณภาพชีวิต และค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ร่วมเสวนาโดย อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ นักสื่อสารนโยบาย Think Forward Center ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล เอกภพ สิทธิวรรณธนะ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนา ชุมชนกรุณา ธิติภัทรา รวมทรัพย์ นักจิตวิทยาและนักศิลปะบำบัด เจษฎา กลิ่นพูล นักจิตวิทยาการปรึกษา ธนวัต ปุณยกน Digital HR Analytics ร่วมด้วย สิริลภัส กองตระการ สส.พรรคก้าวไกล เขตบางกะปิ วังทองหลาง ดำเนินรายการโดย พันธุ์ทิพา สุขสิริสรณ์
ข้อมูลที่รวบรวมโดยกลุ่ม ก้าวใจ Academy ชี้ให้เห็นถึงปัญหาว่าสถานการณ์สุขภาพจิตในประเทศไทยตอนนี้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ปี 2564 มีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2.3 ล้านคน ในขณะที่ปี 2558 มีเพียง 1.3 ล้านคนเท่านั้น และมีการก่อเหตุความรุนแรงที่มาจากผู้ป่วยจิตเวชรวมแล้วกว่า 3,815 ราย และเป็นผู้ก่อเหตุซ้ำถึงร้อยละ 13 ขณะที่ในกลุ่มเด็กและเยาวชนพบว่า มี 1 ใน 4 ของเด็กที่อายุ 5-9 ปี และ 1 ใน 7 ของวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี ที่มีความผิดปกติด้านจิตประสาทและอารมณ์
ในขณะที่ข้อมูลของชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และกรมสุขภาพจิต รวบรวมโดย 101PUB พบว่า ตอนนี้เรามีสัดส่วนของบุคลากรและสถานที่สำหรับให้บริการทางจิตเวชน้อยมาก
ไทยมีจำนวนจิตแพทย์เพียง 845 คน (สัดส่วนต่อประชากร 1.28) พยาบาลจิตเวช 4,064 คน (สัดส่วนต่อประชากร 6.14) และนักจิตวิทยาเพียง 1,037 คน (สัดส่วนต่อประชากร 1.57) เท่านั้น และมีสถานพยาบาลด้านจิตเวชเพียง 443 แห่ง มีเพียง 1 ใน 3 แห่ง เท่านั้นที่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และกว่า 38% ประจำอยู่ในกรุงเทพมหานคร ในขณะที่อีก 23 จังหวัด ไม่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจำอยู่เลย
ขณะที่ฝั่งผู้รับบริการหรือคนไข้ก็เผชิญปัญหาในการเข้าถึงการบำบัดรักษามากเช่นกัน
พันธุ์ทิพา สุขสิริสรณ์ ผู้ประสานงานกลุ่มก้าวใจ Academy ระบุว่าปัญหาที่ประชาชนต้องเผชิญจากการเข้ารับบริการด้านสุขภาพจิตจากระบบสาธารณสุขไทย มี 4 ประเด็น ได้แก่
- ขาดระบบการจัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ จึงไม่ทราบถึงศักยภาพที่มีอยู่ รวมถึงปัญหาและความต้องการแท้จริงของผู้รับบริการ
- ผู้รับบริการเข้าถึงการรักษายากเกินไป รอคิวนาน ค่าใช้จ่ายสูง และเอกชนไม่ร่วมในระบบประกันสังคม
- ในระดับชุมชนยังขาดการส่งเสริมหลายอย่าง ได้แก่ การไม่มีสถานพักฟื้นจิตเวชระยะกลางที่เตรียมความพร้อมผู้ป่วยกลับสู่ชุมชน (Intermediate Mental Healthcare) ไม่มีนักจิตวิทยาในชุมชน เมื่อผู้ป่วยกลับคืนสู่ชุมชนจึงประสบปัญหาจิตเวชเรื้อรัง และขาดการพัฒนาทักษะของประชาชนเองในชุมชเพื่อรับมือกับสถาการณ์ฉุกเฉิน
- ขาดความรู้และทักษะรับมือปัญหาสุขภาพจิต ทั้งในระบบการศึกษา สถานที่ทำงาน จนถึงในระดับนโยบาย
และเมื่อหันกลับมามองที่ตัวผู้ให้บริการเองไม่ว่าจะเป็น จิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา หรือสหวิชาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก็พบปัญหาเช่นกันโดยมี 5 ข้อ ได้แก่
- บุคลากรมีคุณภาพชีวิตและค่าตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า
- มีจำนวนสัดส่วนบุคลากรไม่เพียงพอต่อผู้รับบริการ
- การมีใบรับรองและคุณวุฒิทางวิชาชีพด้านสุขภาพจิตไม่ได้ครอบคลุมความหลากหลายของอาชีพ
- มีการแอบอ้างวิชาชีพและขาดหน่วยงานเข้ามาดูแล
- มีการให้ผู้รับบริการใช้ยา เครื่องมือ หรือแบบทดสอบทางจิตวิทยาที่ไม่เหมาะสม
ขณะที่งบประมาณจากภาครัฐอาจยังไม่ครอบคลุมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จากการติดตามการสืบงบประมาณประเทศปี 2567 ที่ผ่านมา โดยใช้กรอบแนวคิด 6 Building Blocks ได้แก่ 1. กำลังคน 2. บริการ 3. เครื่องมือ-ยา-อาคาร 4. ระบบข้อมูล 5. การศึกษาวิจัย 6. การพัฒนาระบบ เพื่อตามหาว่างบฯ ในการสนับสนุนสุขภาพจิตไปกระจายอยู่ทีใดบ้าง มีข้อค้นพบ 4 ประเด็น
- ยังไม่เห็นการแจกงบประมาณสำหรับกำลังคนด้านสุขภาพในสาขาต่าง ๆ มีเพียงงบฯ ก้อนใหญ่ที่ยังประเมินไม่ได้ว่ามีความสมเหตุสมผลหรือไม่
- ยังไม่เห็นข้อมูลงบประมาณสำหรับการบริการสุขภาพจิตหรือกองทุนสุขภาพต่าง ๆ มีเพียงงบฯ ก้อนใหญ่ที่ยังไม่ได้แจกแจง
- ยังไม่เห็นงบประมาณสำหรับวิจัยด้านสุขภาพ ทำให้ยังประเมินได้ยากว่าตอนนี้เรามีบุคลากรด้านสุขภาพจิตเพียงพอแล้วหรือไม่ อย่างไร
- สิ่งที่พบว่าควรมีเพราะสำคัญต่อการพัฒนาการให้บริการสุขภาพจิตแต่ยังขาดไป คืองบประมาณการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในการดูแลสุขภาพจิตในการศึกษาทุกระดับ การเพิ่มศักยภาพของหน่วยงานที่ให้บริการด้านสุขภาพจิต และงบประมาณสำหรับเช่า-ซื้อเครื่องมือทางจิตวิทยา
เอกภพ สิทธิวรรณธนะ จาก มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนา ชุมชนกรุณา ชี้ให้เห็นว่าด้วยปัญหาเหล่านี้ การ “จัดตั้งสหภาพวิชาชีพทางจิตวิทยา” จึงเป็นสิ่งจำเป็นและเร่งด่วน เพราะเป็นหนึ่งในวิธีการพัฒนานโยบายที่รวดเร็วและตรงจุด จำทำให้เห็นปัญหาที่แท้จริงในการประกอบอาชีพจนไปถึงความคุ้มครองการทำงาน สวัสดิการ และค่าแรงที่เป็นธรรม เพื่อส่งเสียงไปถึงรัฐและนำไปสู่การสร้างบุคลากรคุณภาพที่เพียงพอกับความต้องการของประเทศ ดังที่เห็นแล้วในหลายประเทศ เช่น NUHW for Mental Health หรือ HACSU ในออสเตรเลีย
“ที่ผ่านมา บุคลากรทางจิตเวชมีจำนวนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะใน รพ.ชุมชน เมื่อรัฐมีอัตราการจ้างงานน้อย การ การเติบโตในวิชาชีพค่อนข้างต่ำ คนก็เลือกที่จะเข้าเรียนหรือประกอบอาชีพนี้ลดลง หรือเรียนจบแล้วก็เลือกที่จะประกอบอาชีพอื่น รวมถึงการสนับสนุนทางวิชาการที่น้อย คนในวิชาชีพจำเป็นต้องพัฒนาต่อยอดความรู้และเข้าถึงเครื่องมือจากต่างประเทศที่มีราคาแพงด้วยตัวเอง“
เขายังบอกอีกว่า การมีสหภาพฯ จะช่วยทำให้คนทำงานมีพื้นที่พูดคุยถึงอุปสรรคในวิชาชีพ รวมถึงความต้องการที่ตรงจุด ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ สวัสดิการ และค่าตอบแทนที่ควรได้รับอย่างเหมาะสม รวมไปถึงดูแลจิตใจกันและกันให้ยืนระยะในวิชาชีพนี้ได้อย่างยาวนาน
สำหรับ “ก้าวใจ Academy” เป็นกลุ่มตัวแทนจากภาคประชาชน ที่มีเป้าหมายผลักดันและสนับสนุนนโยบายการดูแลสุขภาพจิตและเป็นฐานข้อมูลเพื่อช่วยให้หน่วยงานที่กำลังพัฒนานโยบายได้เข้าใจอย่างตรงจุด ผ่านการผลักดันร่าง พ.ร.บ.สหภาพแรงงาน ที่จะนำมาสู่การจัดการมาตรฐานในวิชาชีพจิตวิทยา ที่เชื่อว่า เมื่อบุคลากรได้รับการสนับสนุนที่ดี จะส่งผลต่อประชาชนผู้รับบริการได้อีกด้วย