วิจัยชี้ เด็กไทย ‘ความสุข’ ลดลงทุกปี – ภาคกลางวิกฤตหนัก

‘รศ.นพ.สุริยเดว’ วอน อย่าผลักเด็กคนไหนออกจากระบบ บ้าน – ชุมชน – โรงเรียน คือ ระบบนิเวศสำคัญที่สุด แนะทำงานเชิงบวก ฟังเสียงเด็กให้มากขึ้น ลดแรงปะทะ วิกฤตสุขภาพจิตเด็กไทย

วันนี้ (30 ม.ค.67) รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น แสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในโรงเรียน จากกรณีนักเรียน ชั้น ม.2 ก่อเหตุจนเพื่อนเสียชีวิต โดยย้ำถึงรากฐานของความรุนแรง ว่า เกิดจากสภาพสังคมและครอบครัวที่เปลี่ยนไป ระบบการศึกษาบีบให้คัดเด็กบางส่วนหล่นหายไปจากระบบ รวมถึงชุมชน และสถาบันครอบครัวที่เป็นปัจเจกมากขึ้นอาจทำให้หลงลืมและกีดกันเด็กบางส่วนออกไปจากสังคมจนเกิดเป็นความรุนแรงในที่สุด

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี

วิจัยพบ เด็กไทย ‘ความสุข’ ลดลง วิกฤตร้ายแรงในเขตภาคกลาง

จากข้อมูลสถิติในปี 2561 สำรวจสถานการณ์การใช้ความรุนแรงของเด็กอายุ 13 – 15 ปี ทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยถูกจัดอันดับว่ามีการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น

และงานวิจัยในไทยอย่างการศึกษาเรื่อง ‘ต้นทุนชีวิต’ ของเด็ก รศ.นพ.สุริยเดว และคณะ ร่วมกันศึกษาเก็บข้อมูล เด็ก เยาวชนอายุ 12 ปี ระหว่างปี 2552 – 2564 ที่สำรวจความรู้สึกของเด็กผ่านตัวชี้วัด 5 มิติ รอบตัว ได้แก่ ครอบครัว, ชุมชน, โรงเรียน, เพื่อน และตัวเอง ด้วยคำถามต่าง ๆ เช่น สามารถพูดคุยเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันกับครอบครัวได้หรือไม่ ? รู้สึกอบอุ่นปลอดภัยเมื่อเข้าบ้านหรือไม่ ? ฯลฯ

พบว่า ในช่วงปี 2554 เด็กไทยทั่วประเทศ มีความรู้สึกดีอยู่ในระดับปานกลาง – ดีเท่านั้น และในปี 2562 มีจำนวนเด็กที่อยู่ในระดับดีลดลง และอยู่ในระดับปานกลางมากขึ้น จนกระทั่งปี 2564 เด็กไทยทั่วประเทศอยู่ในระดับปานกลางทั้งหมด ยกเว้นในภาคกลางที่อยู่ในระดับวิกฤต (สีแดง) สูงถึง 59.85%  

จากข้อมูลดังกล่าวมีข้อสังเกตสำคัญ 4 ประการ ได้แก่

  1. ตลอดระยะเวลาที่เก็บข้อมูลมาทั้งหมด ไม่มีช่วงปีไหนและในภูมิภาคใดเลยที่เด็กไทยจะมีความสุขอยูในระดับดีมาก (สีเขียว) 

  2. ความรู้สึกของเด็กไทยเริ่มอยู่ในภาวะวิกฤตตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา

  3. ทุกระบบนิเวศรอบตัวเด็ก ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว โรงเรียน หรือเพื่อน ทำให้เด็กมีความสุขลดน้อยลงต่อเนื่องทุกปี

  4. ในอดีต ครอบครัวเคยเป็นฐานรากที่มั่นคงให้แก่เด็ก แต่พบว่ากลับมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ 

รศ.นพ.สุริยเดว ระบุว่า งานวิจัยนี้เป็นเหมือนเสียงสะท้อนว่าเด็กไทยกำลังรู้สึกอย่างไรผ่านตัวแปรสำคัญที่เป็นระบบนิเวศรอบตัวซึ่งกำลังสะท้อนวิกฤตทางสุขภาพจิตของเด็กไทย

บ้าน – ชุมชน – โรงเรียน ระบบนิเวศที่สำคัญที่สุดของเด็ก

รศ.นพ.สุริยเดว ชี้ว่า ทั้งบ้าน โรงเรียน และชุมชน ควรทำงานไปด้วยกันในเชิงบวก โดยเฉพาะในโรงเรียน ขอให้รู้จักฟังเสียงเด็กให้มากขึ้น อาจทำง่าย ๆ ในชั่วโมงโฮมรูม เช่น

“เรียนมาทั้งวันแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง ?”

“เรียนมาทั้งวันแล้วได้เรียนรู้อะไร ?”

“สิ่งที่เรียนรู้จะเอาไปพัฒนาต่อยอดอย่างไร ?”

“คำถามเหล่านี้จะช่วยให้โรงเรียนไม่เผลอทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลัง เพราะเด็กแต่ละคนมีความสามารถทางการเรียนที่ไม่เท่ากัน หรือมีครอบครัวและต้นทุนในชีวิตที่ต่างกัน และเพื่อให้เด็กแต่ละคนเรียนรู้ความแตกต่าง ฝึกความเห็นอกเห็นใจ มีความเอื้ออาทรและช่วยเหลือกันแก่เพื่อนในห้องเรียน”

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี

ยกเลิกระบบแพ้คัดออก ไม่ควรมีเด็กคนใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

รศ.นพ.สุริยเดว ยังให้ความเห็นว่า 20 ปี ที่ผ่านมานี้ ระบบการศึกษาในไทยมีการแข่งขันสูงมาก โรงเรียนเลือกที่จะใช้ระบบแพ้คัดออก เด็กที่เรียนไม่เก่งกลายเป็นเด็กหลังห้อง เมื่อเด็กเรียนหนังสือไม่ทัน ความสนใจจึงอยู่นอกห้องเรียน และเมื่อออกนอกห้องเรียนแล้ว ก็จะไปสู่นอกรั้วโรงเรียนในที่สุด จนสุดท้ายก็ถูกผลักออกไปจากระบบการศึกษาในที่สุด ระบบนิเวศรอบตัวเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเติบโต ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว โรงเรียน หรือชุมชน

“เด็กทุกคนเป็นคนที่มีความหมาย อย่าผลักให้ใครออกไปจากระบบหรือแปลกแยกเพราะจะนำไปสู่การรุนแรงและการกลั่นแกล้งได้ในที่สุด การสร้างระบบที่เป็นพลังเชิงบวกแก่เด็ก รู้จักการช่วยเหลือ และเข้าใจความต่างของคนอื่นจะทำให้เด็กเข้าใจวิชาชีวิต ซึ่งทุกภาคส่วนต้องช่วยกันออกแบบไม่ว่าจะเป็น ครู ผู้ปกครอง หรือตัวเด็กเองที่จะช่วยลดความรุนแรงและสร้างความสุขให้กับเด็กไทยให้ดีขึ้นได้”

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี

The Active รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลผ่านเครื่องมือ Zocial Eye หลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียน จนเป็นเหตุให้นักเรียนชั้น ม. 2 เสียชีวิต เฉพาะวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา ผ่านเทรนด์ X #นักเรียนแทงกัน #พัฒนาการ พบหลายประเด็น ที่คนในโลกออนไลน์ มองว่าเป็นปมปัญหาในสังคมที่ซ้อนอยู่ในเหตุการณ์นี้

โดยประเด็นที่โลกออนไลน์พูดถึงมากที่สุด คือ เด็กพิเศษ ถึง 46% เพราะกระแสข่าวในช่วงแรกที่เกิดเหตุการณ์ มีข้อมูลว่า นักเรียนที่ก่อเหตุอาจเป็นเด็กพิเศษ ซึ่งภายหลังข้อมูลระบุว่า ไม่ใช่ โดยโรงเรียนออกมายืนยันว่า ไม่มีหลักฐานการรักษา รวมถึงตำรวจ ระบุว่า ผู้ก่อเหตุให้การปกติ แต่ยังต่อรอผลการตรวจจากแพทย์อีกครั้งหนึ่ง

สำหรับประเด็นเด็กพิเศษถือว่าน่าสนใจ เพราะ จะเห็นว่าคนส่วนใหญ่ในโลกออนไลน์ สื่อสารคล้ายกันในประเด็นที่ว่า ไม่ควรเหมารวมเด็กพิเศษ, อย่าหวาดกลัวเด็กพิเศษ, พร้อมขอให้สื่อควรระวังการนำเสนอคำว่าเด็กพิเศษ, ควรมีการดูแลและเข้าใจกลุ่มเด็กพิเศษ ให้สามารถเรียนรู้กับเด็กทั่วไปได้

ประเด็นรองลงมาที่ถูกพูดถึง 15% คือ เรื่องของการ กลั่นแกล้ง ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน มองว่า เด็กผู้ก่อเหตุถูกกระทำความรุนแรงมาก่อน (โดนไถเงิน ทำร้ายร่างกาย) จึงใช้ความรุนแรงกลับคืน

12% พูดถึง กัญชา ปัญหายาเสพติด ที่ระบาดในเยาวชน ซึ่งต่อยอดไปถึงนโยบายเกี่ยวกับกัญชาของรัฐบาล แม้อีกด้านจะมีข้อมูลออกมาว่า ผู้ก่อเหตุมีประวัติการเสพเพียงแค่ครั้งเดียวก็ตาม ​

ต่อมาคือ เรื่อง ความปลอดภัยในโรงเรียน 10% ซึ่งโลกออนไลน์ ถามหาหลักประกันความปลอดภัย และมองว่า โรงเรียนควรจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย ​

10% คือพูดถึง การพกอาวุธ มาโรงเรียน และมาตรการการตรวจอาวุธที่หละหลวม

ขณะที่ 4% พูดถึง บทลงโทษ และกฎหมายเยาวชน ซึ่งเรียกร้องให้แก้ไข ยกเลิกกฎหมายเยาวชน เทียบเคียงกับคดีกราดยิงพารากอน กระบวนการยุติธรรม เทียบกับการที่ลูกของผู้มีอำนาจรอดคดีเหมือนกัน ​

นอกจากนั้น 2% ยังพูดถึง สภาพแวดล้อมในโรงเรียน ที่เห็นว่าควรปรับวิธีการดูแลเด็ก และการสร้างสภาพแวดล้อมในโรงเรียนใหม่ แต่ก็มีความเห็นด้วยว่า ความรุนแรงไม่ได้เกิดจากแค่สภาพแวดล้อมอย่างเดียว แต่เกิดจากเด็กด้วย

ส่วนประเด็นสุดท้าย คือ นักจิตวิทยา 1% ที่พูดถึงกันว่า ควรมีนักจิตวิทยาเด็กประจำโรงเรียน ​

The Active ยังพบข้อมูลที่ UNICEF อ้างอิงรายงานจาก An Everyday Lesson #ENDviolence in Schools พบว่า ปี 2561 มีนักเรียนอายุ 13 – 15 ปี ประมาณ 150 ล้านคน เคยเผชิญกับความรุนแรงในโรงเรียน โดยการถูกรังแก หรือล้อเลียน (bullying) ในโรงเรียน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาที่ใหญ่ที่สุด

ทั้งยังพบว่า มีเด็กนักเรียน 1 ใน 3 เจอกับปัญหานี้ และไทยติดอันดับ 2 ของโลก รองจากญี่ปุ่น

ขณะที่ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ก็เคยสำรวจเอาไว้เช่นเดียวกัน โดยใน ปี 2561 พบว่ามีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณ 6 แสนคน และยังพบว่า เด็กกลุ่มที่ครอบครัวใช้ความรุนแรง หรือ เด็กที่ป่วยโรคทางจิตเวช มักเป็นกลุ่มผู้รังแก

ส่วน เด็กที่มีความเสี่ยงถูกรังแกสูง คือ เด็กที่มีปัญหาพัฒนาการช้า เด็กพิการ กลุ่มที่เป็นเด็กพิเศษ หรือ กลุ่มเพศทางเลือก

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาจากสถิติความรุนแรงภาพรวมของประเทศในเวลานี้ ข้อมูลล่าสุด เมื่อปี 2565 ซึ่งรวบรวมจากสายด่วน 1300 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยแบ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว และนอกครอบครัว พบว่า

  • ความรุนแรงในครอบครัวมากที่สุด 2,233 ราย  

  • นอกครอบครัว 710 ราย

ในข้อมูลยังระบุเพิ่มเติมว่า ความรุนแรงภายนอกครอบครัว ‘เด็ก’ ถูกกระทำมากที่สุด 419 ราย แบ่งเป็น ถูกทำร้ายร่างกาย 144 ราย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ 177 ราย และถูกกระทำอนาจาร 98 ราย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active