กทม. ผุด “ทีมพิทักษ์จิตเวช” ค้นหา-ส่งต่อ-ติดตาม ผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด

ตั้งเป้าเริ่มงานภายใน ก.พ. นี้ ดึงตำรวจ อสส. ชุมชน รายงานการกินยาจิตเวชทุกวัน ผ่าน Line ยอมรับ “บ้านพิชิตใจ” คับแคบรองรับไม่เพียงพอ จ่อคุย พม. ทำงานร่วมกัน 

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยแนวทางการจัดตั้ง “ทีมพิทักษ์จิตเวช” โดยศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเขต (ศป.ปส.ข.) ที่มีโครงสร้างทีมพิทักษ์จิตเวช ประกอบด้วย 1. บุคลากรจากสำนักงานเขต 2. บุคลากรจากศูนย์บริการสาธารณสุข 3. บุคลากรจากสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ 4. อาสาสมัครสาธารณสุขที่รับผิดชอบงานยาเสพติด/จิตเวช 5. ชมรมรักษ์ใจ (ถ้ามี) 6. กรรมการชุมชน (ถ้ามี) 

โดยทีมพิทักษ์จิตเวช มีบทบาทหน้าที่

  1. การค้นหาและส่งต่อข้อมูลผู้เสพ/ผู้ติดและผู้ป่วยจิตเวชเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา

  2. เข้าร่วมการซ้อมแผนเผชิญเหตุ

  3. การติดตามดูแลช่วยเหลือผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาและผู้ป่วยจิตเวชจากการใช้ยาและสารเสพติดในชุมชน

  4. รวบรวมข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติดทั้งหมด

  5. รายงานการกินยาจิตเวชทุกวัน ผ่าน Line OA ซึ่งจะมีการหารือในรายละเอียดเพิ่มเติมและตั้งเป้าหรือคาดว่าจะสามารถเริ่มดำการได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567

สำหรับรายงานสถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2566 จับกุมคดียาเสพติดคดีร้ายแรง 3,254 คดี โดยพื้นที่ที่มีการจับกุมเรียงตามลำดับสูงสุด 1-3 ดังนี้ 1. เขตลาดกระบัง 159 คดี 2. เขตคลองเตย 142 คดี และ 3. เขตบางกะปิ 141 คดี

“ไม่อยากให้พูดแค่ว่างานนี้เป็นของใคร คนรับผิดชอบเป็นใคร อาจรู้ว่าผู้ดูแลเป็นใคร แต่ในการทำงานต้องมีความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ซึ่งในการดูแลผู้ติดยาเสพติดนอกจากเรื่องของการบำบัดแล้ว อยากให้มีการพูดถึงเรื่องอื่น ๆ เช่น การสร้างอาชีพให้ เพื่อให้มีรายได้ดูแลตัวเองสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ รวมถึงการทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน”

รศ.ทวิดา กมลเวชช

รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุอีกว่า นอกจากเรื่องยาเสพติดที่กรุงเทพมหานคร และภาคส่วนต่าง ๆ ต้องร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาแล้ว ยังมีความห่วงใยในเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า ถึงแม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะไม่เชิงเป็นยาเสพติด แต่ก็มีสิ่งที่จะต้องดำเนินการ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของกัญชาที่มีร้านจำหน่ายเปิดเพิ่มขึ้นแทบทุกวัน และบางร้านอยู่ใกล้สถานศึกษา อาจต้องมีการจัดทำข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานครเองหรือไม่ เพราะต้องดูเรื่องความปลอดภัยให้เยาวชนก่อน ในส่วนนี้อาจจะต้องหารือกันอีกครั้งในหลักคิดโดยใช้ความละมุนละม่อม

รวมถึงเรื่องการเพิ่มพื้นที่ฟื้นฟูผู้ที่ติดยาเสพติดด้วย แม้ว่ากทม. จะมี “บ้านพิชิตใจ” แต่มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด สามารถหาพื้นที่เพิ่มเติมได้หรือไม่ ซึ่ง กทม. อยากร่วมมือหน่วยงานภายนอก และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้เยอะขึ้น ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร มีความร่วมมือกับ พม. หลายด้าน เช่น เรื่องคนไร้บ้านซึ่งเป็นกลุ่มคนเปราะบางในสังคม และเรื่องยาเสพติด 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active