เปิดสถิติปี 2566 เหยื่อคุกคามทางเพศเพิ่มขึ้น เยาวชนไทยยังเสี่ยงภัยรอบด้าน

มูลนิธิปวีณาฯ เปิดเผยสถิติช่วงสิ้นปี 2566 พบจำนวนร้องเรียนกรณีข่มขืน/อนาจารทะลุ 1 พันราย สูงกว่าปี 2565 ภัยไซเบอร์-ค้ามนุษย์เข้าถึงเด็กง่ายขึ้น ด้าน สพฐ. ระบุข้อมูลความเสี่ยงนักเรียน ภัยอุบัติเหตุมากสุด รองลงมาเป็นความรุนแรงทางกายและทางเพศ ‘ปวีณา’ ชี้ สถาบันครอบครัวอ่อนแอ หวังให้ครูและรร. เป็นพ่อแม่คนที่สองให้กับเยาวชน

วันนี้ (28 ธันวาคม 2566) มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรีเปิดเผยสถิติการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของมูลนิธิตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 – 27 ธันวาคม 2566 พบผู้ร้องเรียนปัญหาครอบครัวยังครองแชมป์ ปี 2566 สูงถึง 1,339 ราย ขณะที่จำนวนผู้ร้องเรียนกรณีข่มขืน/อนาจารสูงถึง 1,038 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 8.4 นอกจากนี้ ภัยอันตรายจากไซเบอร์และการล่อลวงค้ามนุษย์ ยังเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

May be an image of blueprint and text
ที่มา: มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี

ปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ได้เข้าพูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า ทางมูลนิธิได้รับการร้องเรียนปัญหาครอบครัวมาโดยตลอด ซึ่งเป็นปัญหาอันดับหนึ่ง เป็นเพราะสถาบันครอบครัวในปัจจุบันมีความอ่อนแอ พ่อแม่แยกทางกันอยู่ หรือเป็นครอบครัวแหว่งกลาง ทำให้เด็กอยู่ในสภาวะเสี่ยง หลายคนเป็นซึมเศร้า ดังนั้น โรงเรียนและครูจะต้องรับบทบาทเป็นพ่อแม่คนที่สอง คอยโอบอุ้มให้เด็กเหล่านี้ไปหลุดไปเผชิญกับความเสี่ยง

ปวีณา ยังระบุอีกว่า ในกรณีการข่มขืนที่ได้รับการร้องเรียนมา ส่วนมากเกิดขึ้นกับเด็กและผู้หญิง และเมื่อย้อนดูสถิติเมื่อปี 2565 พบว่า เด็กอายุ 10-15 ปี ถูกข่มขืนมากที่สุด 381 คน รองลงมาคือ อายุ 15-20 ปี 198 คน และอันดับ 3 คือ เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 10 ปี ถูกข่มขืน 110 คนซึ่งถือเป็นสถิติที่น่ากังวลมาก และในปีนี้ยอดการร้องเรียนกรณีคุกคามทางเพศก็สูงขึ้นอีก แนะทาง สพฐ. หาแนวทางช่วยเหลือเด็ก และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุน่าสลดใจ

“เมื่ออันตรายเริ่มต้นที่บ้าน คนที่รู้ปัญหานี้ได้มากที่สุดคือครูและเพื่อนของเขา หลายครั้งผู้ที่แจ้งเหตุมายังมูลนิธิเพื่อช่วยแก้ปัญหาคือครูและเพื่อนนักเรียนด้วยกันเอง ศึกษาธิการต้องเปิดโอกาสให้เด็กเข้าถึงการช่วยเหลือมากขึ้น เช่น เราต้องมีนักจิตวิทยาในโรงเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้มีพื้นที่ในการพูดคุย เพื่อเด็กที่มีปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที”

ปวีณา หงสกุล

ด้านสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยข้อมูลความไม่ปลอดภัยของนักเรียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 10 ธันวาคม 2566 พบทั้งสิ้น 2,618 กรณี แบ่งออกเป็น 4 ภัย ดังนี้

1. ภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุ 1,168 เรื่อง

2. ภัยที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงของมนุษย์/การคุกคามทางเพศ และการทะเลาะวิวาท 729 เรื่อง

3. ภัยที่เกิดจากผลกระทบทางสุขภาวะทางกายและจิตใจ/ภัยทั่วไป 495 เรื่อง

4. ภัยที่เกิดจากการถูกละเมิดสิทธิ 226 เรื่อง

โดยเฉพาะภัยจากการละเมิดสิทธิ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องครูทำโทษนักเรียนเกินกว่าเหตุ ครูผู้บริหารมีความประพฤติไม่เหมาะสม เป็นต้น ทาง สพฐ. ยืนยันว่า จะยกระดับวิธีการทำงานเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กให้มากขึ้น และไม่ให้เกิดเหตุการณ์นั้นซ้ำอีก

“ขณะเดียวกันโรงเรียนจะต้องให้ความรู้กับนักเรียนในเรื่องบทบาท หน้าที่และสิทธิของตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่จะทำให้เกิดความปลอดภัย”

ธีร์ ภวังคนันท์

ส่วนเรื่องของภัยคุกคามทางไซเบอร์ ทางสพฐ. จะมีการให้ข้อมูลและความรู้กับทางผู้ปกครองให้รู้เท่าทันภัยดังกล่าว และยังมีการให้การศึกษาในหลักสูตรแกนกลาง วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา หน่วยการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัย ปลูกฝังให้เยาวชนสามารถเรียนรู้และรับมือกับภัยอันตรายได้อย่างปลอดภัย ซึ่งมีสอนตั้งแต่ช่วงชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมถึงยังมีการให้จัดอบรมครูให้มีความรู้พิเศษเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า การทำ CPR การตรวจมะเร็งเต้านม เป็นต้น ซึ่งตนเชื่อว่าครูจะสามารถดูแลเด็กได้อย่างครอบคลุมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active