ชุมชน ชี้ ระบบสุขภาพ กทม. ไม่รองรับผู้ป่วยจิตเวช

สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย เผย มีผู้ป่วยทางจิตตกหล่นในชุมชน เข้าไม่ถึงการรักษา ขณะที่ กทม. เล็งให้สำนักงานเขตเป็นเจ้าภาพ ด้าน กรมสุขภาพจิต เตรียมเสนอยาจิตเวชแบบฉีด ขึ้นบัญชียาหลัก เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา 

วันนี้ (23 ต.ค. 2566) นุชจารี คล้ายสุวรรณ นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ The Active ว่าจากจำนวนผู้ป่วยจิตเวชที่เพิ่มมากขึ้น มีข้อสังเกตช่วงอายุของผู้ป่วยจิตเวชลดลงมาก จากเดิมอยู่ระหว่าง 30-40 ปี ปัจจุบันกลายเป็นกลุ่มวัยรุ่นอายุ 10 กว่าปีมากขึ้น และที่น่าเป็นห่วงคือความเข้าใจของคนในครอบครัว และชุมชนที่ตีตราผู้ป่วย เพราะเมื่อเกิดการตีตรา ก็ไม่กล้าเปิดตัวว่าเป็นผู้ป่วย ทำให้การช่วยเหลือการดูแลเข้าไม่ถึง พร้อมบอกว่า ก่อนอื่นอยากให้ชุมชนทำความเข้าใจว่าผู้ป่วยจิตเวชสามารถรักษาหายได้ หากรู้เร็วก็สามารถรักษาเร็ว สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเวลานี้คือผู้ป่วยจิตเวชจากปัญหายาเสพติด และผู้ป่วยทางจิตจากกัญชา กับกระท่อมก็มีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน 

“ตอนนี้มีหลายเขตที่ส่งข้อมูลมาให้ พบปัญหาผู้พิการทางจิตเยอะขึ้น เราเองซึ่งเป็นภาคเอกชน จิตอาสา คงไม่สามารถทำได้ทุกเรื่อง แต่เราเป็นกระบอกเสียงแจ้งได้ว่ามีปัญหาอะไรในพื้นที่ของเรา” 

นุชจารี คล้ายสุวรรณ

นุชจารี บอกอีกว่าหน่วยงานสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง และเครือข่ายภาคประชาชน ควรนั่งคุยกันว่าถ้าเจอเคสผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน ควรมีแนวทางในการปฏิบัติอย่างไร โดยกลุ่มอาสาสมัครตัวแทนชุมชนต่าง ๆใน กทม. พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ แต่เนื่องจากปัจจุบันขาดการเชื่อมต่อจึงไม่สามารถส่งต่อผู้ป่วยกันได้

ขณะที่ นภาพร วัฒนสิงหะ ทีมเฉพาะกิจ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เขตหนองจอก บอกว่ามีผู้ป่วยจิตเวชตกหล่นไม่ถึงเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มีปัจจัยซ้ำเติมมาจากปัญหายาเสพติดระบาดในชุมชน เพราะตำรวจไม่สามารถปราบปรามได้มาเป็นเวลานาน เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถนำผู้ป่วยจิตเวชไปบำบัดได้หากเจ้าตัวไม่ยินยอม  ขณะที่ศูนย์บริการสาธารณาสุขเอาผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มนี้ไปรักษาบำบัดด้วยวิธีการพูดคุย แล้วก็บอกให้ครั้งหน้ามาใหม่ 

โดยยกตัวอย่างกรณีหนึ่งที่หลังกลับจากการบำบัด เมื่อถึงบ้านเข้าก็ระเบิดอารมณ์ ทำร้ายร่างกายพ่อ จึงอยากให้หน่วยงานที่รับไปบำบัดหาที่รองรับ เพราะกลับไปอยู่ที่เดิม ชุมชนเดิม ก็เหมือนเดิม

เช่นเดียวกับ สุนันท์ ไล้เวียน ประธานชุมชนร่มเกล้า เขตลาดกระบัง บอกว่า ไม่ทราบแนวทางที่ชัดเจน เมื่อชุมชนพบผู้ป่วยจิตเวชจะต้องแจ้งใคร ส่งต่อใคร และหากโรงพยาบาลส่งตัวผู้ป่วยจิตเวชกลับมาชุมชนจะช่วยกันดูแลไม่ให้เขาขาดยาอย่างไร ควรมีสถานที่พักฟื้นต่อสัก 4-5 เดือน เพราะเมื่อกลับออกมาสู่สังคมบางรายไม่มีญาติไม่มีคนดูแล ยาก็ไม่ได้กิน ปัญหาก็ยังอยู่ในวังวนเดิม

ด้าน รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ยอมรับว่าเส้นทางส่งผู้ป่วยยังไม่ชัดเจน หากชาวบ้านแจ้ง อาสาสมัครสาธารณสุข กทม. (อสส.) หรือ ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ก็ยังไม่ได้เพราะว่าทีมต้องเข้าไปในบ้าน โดยปกติเวลามีเคสแบบนี้ ต้องเป็น พัฒนาสังคม (พม.) แต่ด้วยความที่ กทม. ไม่มีพัฒนาสังคมจังหวัด (พมจ.) แต่เรามีทีม พม.อยู่ เรากำลังคุยอยู่ว่าจะเป็นได้หรือไม่ถ้า ชาวบ้านพบผู้ป่วยจิตเวช ไม่ว่าจะแบบไหน ไม่ว่าเป็นใครจะแจ้งไปที่หน่วยงานปกครอง คือ สำนักงานเขต เพื่อบูรณาการทุกหน่วยงาน ทั้ง ศบส. พม. เข้าไปพร้อมกัน 

“เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ตามศักดิ์และสิทธิ์ คือ พม. ที่สามารถเข้าไปดูได้ว่าเกิดอะไรขึ้น และจะทำยังไงกับรายนั้น พิสูจน์ว่าเขามีภาวะจริง และส่งต่อรักษา แต่ยังต้องคุยใช้ชัดว่า เราจะเพิ่มให้ สำนักงานเขต จัดการตรงนี้ได้” 

รศ.ทวิดา กมลเวชช

กรมสุขภาพจิต เผย เตรียมเสนอยาจิตเวชแบบฉีด ขึ้นบัญชียาหลัก

The Active สอบถาม นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่าแนวทางที่กำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้คือการผลักดันยาจิตเวชประเภทยาฉีดเข้าสู่บัญชียาหลัก เพื่อให้ผู้ป่วยใช้สิทธิบัตรทองสามารถเบิกได้ ซึ่งจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยแก้ปัญหาการปฏิเสธการกินยาของผู้ป่วยจิตเวช 

ส่วนการแก้ปัญหาเชิงระบบ ในระยะสั้นต้องการปรับระบบบริการทั้งหมดประกอบด้วย 1. การเข้าถึงเหตุให้รวดเร็วที่สุด มีระบบการนำส่งการแจ้งฉุกเฉินทั้งในต่างจังหวัด และ กทม. 2. ระบบการนำไปรักษาการเพิ่มศัยภาพโรงพยาบาลในการรองรับ การเกลี่ยเตียงภายใน หรือการใช้ Home Ward เข้ามาช่วย 

ส่วนในระยะกลาง เป็นเรื่องของการให้ความรู้ประชาชนที่จะดูแลสุขภาพจิตตัวเองเพิ่มขึ้น ทั้งเชิงการป้องกัน หรือส่งเสริม หรือการสังเกตเห็นในเร็วขึ้น การรักษามันก็จะง่ายขึ้น ขณะที่ในระยะยาว กระทรวงสาธารณสุขมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนจิตแพทย์ 400 คนในอีก 5 ปี ซึ่งได้รับการอนุมัติและผ่านการจัดสรรงบประมาณแล้ว 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active