แม่ “หนุงหนิง” เหยื่อเสียชีวิตคนที่ 3 อโหสิกรรม พ่อเด็ก 14 ปี

ชี้ เหตุเกิดแล้วต้องมีภูมิคุ้มกันตัวเอง รักษาจิตใจ จิตแพทย์ ชื่นชม เผชิญภาวะสูญเสียด้วยความคิดเชิงบวก ไม่ส่งต่อความรุนแรง ให้อภัย หวังสังคมเรียนรู้สร้างระบบนิเวศสุขภาพจิตที่ทุกคนมีส่วนร่วม

จากกรณีที่วานนี้ (15 ต.ค. 66) ที่ภาควิชานิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาฯ แม่พร้อมด้วยน้าสาว ของเพ็ญพิวรรณ มิตรธรรมพิทักษ์ หรือ หนุงหนิง อายุ 30 ปี ผู้เสียชีวิตรายที่ 3 จากเหตุเด็กวัย 14 ปี ใช้ปืนยิงในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน แพทย์ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและยากระตุ้น กระทั่งวันที่ 10 ของการรักษา หนุงหนิง ได้จากไปอย่างสงบ โดยเจ้าหน้าที่ได้เคลื่อนย้ายศพขึ้นรถตู้ ไปที่วัดบางไผ่ พระอารามหลวง จังหวัดนนทบุรี เพื่อประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลเป็นเวลา 4 คืน ก่อนทำพิธีฌาปนกิจศพในวันที่ 19 ต.ค.นี้

ภายในงานศพของหนุงหนิง มีพวงหรีดร่วมแสดงความเสียใจจำนวนมาก เช่น พวงหรีด จากเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, บริษัทสยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด รวมถึงวง I GOT7 บอยแบนด์ดังเกาหลีใต้ และ นนท์ ธนนท์ นักร้อง ที่หนุงหนิงเป็นแฟนคลับอยู่

ขณะที่พ่อของเด็กชายวัย 14 ปี ที่ก่อเหตุ ได้เดินทางมาเคารพศพ พร้อมกราบเท้าขอขมาแม่ของหนุงหนิง ซึ่งทางแม่ แม้ยังทำใจไม่ได้ ร้องไห้ตลอดเวลา แต่ยืนยันว่า จะขออโหสิกรรมให้ เพราะไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ แต่เมื่อเกิดแล้วเหมือนเราต้องมีภูมิคุ้มกันตัวเอง ต้องรักษาจิตใจตัวเอง ต้องทำใจตัวเองให้ได้ ถ้าเราไปจองเวรจองกรรมกันไป มันก็จะไม่จบไม่สิ้น แต่ตั้งคำถามว่า ทำไมถึงปล่อยให้ลูกตนเองพกปืนและกระสุนเข้าไปที่ห้างฯ และยิงคน จนทำให้มีผู้เสียชีวิต จึงอยากฝากถึงพ่อแม่ผู้ปกครองหรือผู้ที่เลี้ยงดู ครูบาอาจารย์ ที่สามารถจะสั่งสอนได้เสริมความรู้จากครูคนแรกที่เป็นพ่อแม่ คือครูที่โรงเรียนพยายามปลูกฝังพยายามสอดแทรกเรื่องเหล่านี้ในขณะที่สอนอยู่ และให้ความรักความผูกพันกับเด็กให้มากที่สุด ดึงจิตใจให้เขาอยู่กับเราให้ได้ อย่าปล่อยปละละเลย

จิตแพทย์ ชื่นชม “แม่หนุงหนิง” ให้อภัย ไม่ส่งต่อความรุนแรง หวังสังคมเรียนรู้สร้างระบบนิเวศสุขภาพจิตคนไทย

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต กล่าวกับ The Active ว่า ในกรณีนี้ ต้องขอชื่นชมกับคุณแม่น้องหนุงหนิง ที่ในขั้นสุดท้ายสามารถที่จะยอมรับ และจัดการกับอารมณ์ ความรู้สึกของตัวได้ในเชิงบวก ทั้งในเรื่องของการไม่สร้างความรุนแรงต่อ และให้อภัย ซึ่งโดยธรรมชาติเมื่อคนเจอเรื่องร้ายๆ เข้ามา การจะบอกให้คิดเชิงบวกทันทีคงไม่ง่ายขนาดนั้น ยิ่งถ้าเป็นเรื่องร้ายแรงมากๆ  ตามกระบวนการความคิดของคน จะมีตั้งแต่ ตกใจ ตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ ไม่เชื่อว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง เสียใจ ยอมรับ ความคิดแบบนี้อาจจะวนอยู่ซ้ำ ๆ จนกระทั่งยอมรับได้

การมีภูมิคุ้มกันจิตใจเชิงบวก จะเกิดขึ้นได้ พญ.วิมลรัตน์ ย้ำว่า ต้องอาศัยหลายปัจจัย บางคนโชคดีเกิดมาพร้อมการมองโลกในเชิงบวก แต่ประสบการณ์ในชีวิตก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เช่น การดูแลในครอบครัว ถ้าหมั่นสอนลูกในเรื่องของการให้อภัย โรงเรียนช่วยกันดูแล สังคมมีระบบที่เกื้อกูลกัน จะนำไปสู่การมีระบบนิเวศทางจิตที่ดี ปัญหาความรุนแรงลดลง ไม่ว่าจะกับผู้ที่กำลังจะลงมือก่อเหตุหรือผู้ที่สูญเสียแล้วก็ตาม

“การแสดงออกของคนทุกคนไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียว มีตั้งแต่ปัจจัยทางชีวภาพ ตัวเองเป็นคนคิดมาก คิดบวก อารมณ์ดี เหล่านี้เป็นโดยธรรมชาติ ประกอบกับการเลี้ยงดูครอบครัวมีความเกื้อหนุนกันแค่ไหน ไปโรงเรียนเจอครู เพื่อนที่ดีหรือเปล่า รวมถึงสังคมออนไลน์ในทุกวันนี้ หลาย ๆ อย่างประกอบกัน ถึงจะทำให้คนๆ นึง ตัดสินใจว่าเขาจะทำอะไร”

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ

ก่อนหน้านี้ เวที Policy Forum ครั้งที่ 2: นโยบายสุขภาพจิต : Mental Health Policy Ecosystem ได้มีการถอดบทเรียนความรุนแรงในสังคม จากเหตุเด็กวัย 14 ปี ก่อเหตุกราดยิง พร้อมข้อเสนอในการผลักดันให้ “ระบบนิเวศสุขภาพจิต“ อยู่ในนโยบายสาธารณะ โดยมีองค์ความรู้จากหน่วยงานภาครัฐทุกสังกัด เอกชน และภาคประชาสังคม ทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการส่งเสริม ป้องกัน หรือมีภูมิคุ้มกันทางใจเพื่อรับมือกับสภาวะด้านลบ ใน 4 เรื่อง ดังนี้

1. ส่งเสริมบทบาทและทรัพยากรสนับสนุนแก่นักวิชาชีพจิตวิทยาสาขาต่าง ๆ อย่างชัดเจนและเพียงพอ

2. สร้างความร่วมมือและส่งเสริมความเข้มแข็งอาสาสมัครและนักดูแลสุขภาพใจในชุมชน

3. พัฒนาระบบและการศึกษาด้านสุขภาพจิตในสถานศึกษาและสถานประกอบการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

4. สนับสนุนการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสุขภาพจิตที่กระจายอย่างทั่วถึง

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขานรับแนวคิดดังกล่าว พร้อมเปิดเผยว่าเตรียมหารือกับกระทรวงศึกษาธิการในการทำงานร่วมกัน เพื่อดูแลสุขภาพจิตเยาวชนตั้งแต่ในครรภ์เมื่อพบความผิดปกติทางสมอง ฟื้นฟูตั้งแต่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพิ่มนักจิตวิทยาภายในโรงเรียน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเชิงบวก คาดว่าน่าจะเริ่มดำเนินการได้หลัง Quick win 100 วันแรก ประเด็นสุขภาพจิตและยาเสพติด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active