“อุตสาหกรรมเกมก้าวหน้า” ขอสื่ออย่าโทษ “เด็กติดเกม”

ด้าน “ผู้เชี่ยวชาญ” ยืนยัน “ภาวะติดเกม” ทำให้ป่วยทางจิตได้ แนะพ่อแม่จัดสรรเวลาสร้างสมดุลตนเอง ขณะที่ กรมการแพทย์ ระบุพบประวัติการรักษา ด.ช.14 ปี ที่ รพ.เด็ก

วันที่ (4 ต.ค. 2566) เพจเฟซบุ๊ก อุตสาหกรรมเกมก้าวหน้า – Progressive Game Industry  ออกแถลงการณ์ต่อเหตุการยิงในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ด้วยการระบุว่า “เรียน ผู้มีอำนาจและกลุ่มสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้อง” สืบเนื่องจากวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุสะเทือนขวัญขึ้น ณ ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ทำให้มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งโดยหลังจากเกิดเหตุ ได้มีสื่อมวลชนบางสำนัก รายงานข่าวว่า ผู้กระทำความผิดมีพฤติกรรมเลียนแบบเกม หรือที่เรียกกันว่า เด็กติดเกม

ทั้งนี้ทางอุตสาหกรรมเกมก้าวหน้า (Progressive Game Industry) ไม่เห็นด้วยต่อรายละเอียดที่สื่อบางสำนักได้กล่าวอ้างในข้อมูลข้างต้น อาจเป็นการชี้นำที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และเป็นการเรียกยอดความสนใจให้กับสื่อที่ไม่ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือใช้วิจารณญาณในกาวิเคราะห์ข้อมูลอย่างถี่ถ้วน

ทั้งนี้ทางกลุ่มอุตสาหกรรมก้าวหน้า ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอย้ำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งค้นหาข้อมูลเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงโดยเร็วที่สุด”

ผู้เชี่ยวชาญยัน ภาวะติดเกม นำมาสู่อาการป่วยจิตเวช 

รศ.ภญ.จิรภรณ์ อังวิทยาธร อาจารย์ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล จากบทความ “โรคติดเกม” ที่เผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อ้างอิงรายงาน กรมสุขภาพจิต ที่ระบุว่า เด็กไทยเล่นเกมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตเป็นอันดับ 1 ของประเทศแถบเอเชียตามมาด้วย ปัญหาวิกฤติเด็กติดเกม เด็กไทยมีปัญหานี้รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ 

รศ.ภญ.จิรภรณ์ ระบุว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดให้ภาวะติดเกมเป็นโรคชนิดหนึ่งที่ส่งผลให้ป่วยจนมีอาการทางจิตรุนแรงต้องได้รับการบำบัดรักษาเช่นเดียวกับโรคอื่น ๆ ทั้งที่จุดประสงค์ของเกมคือเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินหรือเพื่อผ่อนคลาย แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่เด็ก-เยาวชน ติดเกมเพิ่มขึ้นนั้น กลับเป็นผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นจากเกมออนไลน์ ที่มีปัจจัยจากผู้เล่นเกมควบคุมตนเองไม่ได้

สัญญาณบ่งชี้ว่าเด็กอาจเป็นโรคติดเกม หลักสังเกตอาจเริ่มดูจาก ปฏิกิริยาตอบสนองของเด็กเมื่อถูกบังคับให้หยุดเล่นเกมกลางคันหรือถูกขัดจังหวะ ซึ่งมักแสดงออกมาผ่านอารมณ์โกรธ-หงุดหงิดรุนแรง หรือ แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวแบบที่ควบคุมตนเองไม่ได้, ชอบแยกตัวจากสังคม  โดยตัดขาดจากโลกภายนอก แต่เลือกใช้เวลาอยู่หน้าจอมากกว่า, ละเลยกิจกรรมชีวิตที่เคยทำ เช่นการเรียน การทำงาน ตลอดจนกิจวัตรต่าง ๆ, หมกมุ่นอยู่กับการเล่นเกมตลอดเวลา เพื่อวางแผนที่จะเอาชนะในการเล่นเกมครั้งต่อไป หรือมักจะแสดงอาการโมโหฉุนเฉียวถ้าเล่นแพ้

และสัญญาณบ่งชี้ต่อมาคือ ไม่สามารถหยุดเล่นเกมได้ ทั้ง ๆ ที่ทราบดีว่า มีผลกระทบต่อตนเองอย่างมาก และ ผู้ที่เป็นโรคติดเกมส่วนใหญ่มักจะไม่ยอมรับความจริงว่าตนเองนั้นมีปัญหาจากการติดเกม ขณะที่พฤติกรรมด้านลบอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ด้วยเช่นกัน คือ มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น พูดโกหกบ่อยขึ้น ขโมยเงินหรือทรัพย์สิน เพื่อที่จะให้ได้เล่นเกมเหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ของอาการเสพติดเกม

คำแนะพ่อแม่มีลูกติดเกม 

รศ.ดร.ภญ.จิรภรณ์ ระบุอีกว่า การติดเกม มีลักษณะคล้ายกับการติดยาเสพติดทั้งนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญที่สุด ในการป้องกันเด็กไม่ให้เกิดภาวะโรคติดเกมควรตระหนักในการ เสริมสร้างพฤติกรรมให้เด็ก ต้องรู้จักจัดสรรเวลา ระหว่างกิจกรรมอื่น ๆ กับการเล่นเกม อาทิ กำหนดกติกาให้เด็ก ก่อนอนุญาตให้เล่นเกมได้ว่าต้องทำการบ้าน กินข้าว อาบน้ำ ให้เสร็จเสียก่อน หรือกำหนดเวลาเล่นเกม ห้ามเกินวันละ 2 ชั่วโมง หรือ คัดสรรประเภทเกม ที่จะให้เล่น รวมถึง พยายามหากิจกรรมอื่นมาทดแทน เพื่อให้เด็ก ๆ สนใจกิจกรรมอื่นที่นอกเหนือจากการเล่นเกมด้วย เป็นต้น

การเล่นเกม หากเล่นอย่างพอดี จะทำให้เด็กได้ฝึกทักษะ สมาธิ และช่วยพัฒนาเรื่องการตัดสินใจให้เด็กได้ รวมถึงช่วยให้กล้ามเนื้อและประสาทของมือกับตาได้พัฒนา แต่ถ้า เล่นเกมจนเกินพอดีมากไป จะทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายและสภาพจิตได้ จึงเป็นหน้าที่พ่อแม่ผู้ปกครองที่จะต้องสร้างสมดุล

ด.ช. 14 มีประวัติรักษาที่ รพ.เด็ก

วันเดียวกัน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าเด็กชายอายุ 14 ปีที่ก่อเหตุในห้างสรรพสินค้ากลางเมืองมีประวัติการรักษาตัวที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือ โรงพยาบาลเด็ก รักษามาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ก่อนหน้านี้อาจมีการรักษาที่อื่น อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดการรักษาได้เนื่องจากเป็นข้อมูลส่วนตัวผู้ป่วย

ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า หากมีประเด็นทางจิตเวชที่ต้องมีการประเมิน เพื่อช่วยเหลือและรักษา ทางกรมฯ ได้เตรียมหน่วยงานรองรับไว้แล้วและพร้อมร่วมมือกับตำรวจในการให้ข้อมูลไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเจ็บป่วย หรือเหตุเกี่ยวข้องใด ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีและการดูแล

ประเด็นที่สังคมจะได้ประโยชน์มากกว่าอาจจะไม่ใช่การสรุปว่าเด็กเจ็บป่วยหรือไม่ แต่เป็นการวิเคราะห์เหตุการณ์ว่า ไม่ว่าเด็กจะเป็นอะไรก็ตาม แต่สังคมต้องตื่นตัวกับการป้องกันความรุนแรง ไม่ว่ารายนี้จะเจ็บป่วยหรือไม่ 

“เด็กทุกคนที่เจ็บป่วยทางจิตต้องได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ไม่ว่ารายนี้จะขาดยาหรือไม่แต่ผู้ป่วยทุกคนต้องไม่ขาดยา และต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสมจากแพทย์ พร้อมกับได้รับความร่วมมือจากครอบครัว” 

พญ.อัมพร กล่าว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active