ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พัฒนาพื้นที่สุขภาวะที่ทุกคนเข้าถึงง่าย

สสส. จับมือภาคี ขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมสุขภาวะ พร้อมเปิดตัวคู่มือกิจกรรม Walkshop เสริมการจัด Healthy Active Meeting เปลี่ยนการประชุมแบบเดิม กระตุ้นประสิทธิภาพการทำงาน

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2566 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือภาคีด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประเทศไทย ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเวทีเสวนาการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย “PA Forum : EP.1 – Active Environment for All การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะที่ทุกคนมีส่วนร่วม” ขับเคลื่อนแนวคิดพื้นที่สุขภาวะที่ทุกคนมีส่วนร่วม

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ข้อมูลจากสหประชาชาติ ระบุว่า กลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทย (ตั้งแต่อายุ 30-70 ปี) สูงถึงร้อยละ 74 สสส. จึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในแง่การลดความเสี่ยงของการเกิดโรค ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง SDGs ของสหประชาชาติ ที่ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นเฉพาะเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ แต่ยังได้ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเท่าเทียมให้กับประชากรทุกกลุ่มในการมีกิจกรรมทางกาย

“กิจกรรมทางกาย เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ 7+1 ของ สสส. เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยของประชาชน โดยไม่เพียงสนับสนุนและกระตุ้นให้ทุกคนมีกิจกรรมทางกายอย่างพอเพียง แต่ยังรวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรทางกาย  เพื่อลดความเสี่ยงกลุ่มโรค NCDs การเสวนา ครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของพื้นที่สุขภาวะที่มีต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมสุขภาวะ หรือการมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย”

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย

ขณะที่ นายแพทย์ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า นโยบายของ สสส. ในเรื่องของ Health Promotion ต้องการส่งเสริมให้คนไทยมี Health Active Lifestyle จึงมีการดำเนินนโยบายส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะมาอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกที่ได้ขับเคลื่อน Global Action on Physical Activity เป้าประสงค์ทางยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ข้อมูลงานวิจัยพบว่า การจะส่งเสริมให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นนั้น จำเป็นต้องมีพื้นที่สุขภาวะที่เหมาะสมในแต่พื้นที่ เพื่อเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถเข้าใช้และประกอบกิจกรรมเพื่อสนับสนุนให้เกิดไปสู่สุขภาวะที่ดี ได้อย่างสาธารณะ

สสส. และภาคีเครือข่ายร่วมกันพัฒนาและผลักดันให้เกิดพื้นที่สุขภาวะในระยะที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างสวนขนาดเล็ก (Pocket Park) ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ในระยะ 400-800 เมตร ใช้เวลาในการเดินทางเข้าถึงไม่เกิน 15 นาที เพื่อจูงใจและกระตุ้นให้คนไทยลุกขึ้นมาขยับร่างกายให้มากขึ้น ให้มีกิจกรรมทางกาย และลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ซึ่งจะทำให้คนไทยหลุดพ้นจากการเป็นโรคในกลุ่มโรค NCDs และลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทั้งยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพจิตของประชากรเมือง ส่งเสริมระบบนิเวศน์เมือง ส่งเสริมการเรียนรู้ และความสัมพันธ์ทางสังคม และส่งเสริมเศรษฐกิจของย่านไปพร้อมกัน

พื้นที่สุขภาวะ คือ สภาพแวดล้อมทางกายภาพ ทั้งที่เป็นรูปแบบพื้นที่ว่าง และรูปแบบที่ผสานผสานกับระบบสัญจร ที่ได้รับการออกแบบเชิงกายภาพ และการจัดการเพื่อการสาธารณะ สสส. มีการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่สุขภาวะร่วมกับภาคีเครือข่ายเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ, เครือข่ายพื้นที่สุขภาวะ และกรุงเทพมหานคร ในการพัฒนา ย่านพื้นที่สุขภาวะ เช่น คลองสานกะดีจีน, ย่านจีนถิ่นบางกอก, ย่านพระโขนงบางนา พื้นที่สุขภาวะ เช่น ลานกีฬาพัฒน์ 1-2, สวนหัวลำโพงรุกขนิเวศน์, พื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่สุขภาวะภาษีเจริญ และ เส้นทางสัญจร เมืองเดินได้เดินดี ในย่านต่าง ๆ ของ กทม.

นิรมล ราศรี รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สำนัก 5) กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้นั้นถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้น หลักฐานเชิงประจักษ์ที่สามารถยืนยันประโยคข้างต้นได้เป็นอย่างดีคือ “การสร้างสภาพแวดล้อมที่่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย” เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของแผนปฏิบัติการระดับโลกเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ปี พ.ศ. 2561-2573 หรือ GAPPA ที่ว่าด้วยเรื่องของการให้ความสำคัญกับความจำเป็นในการสร้างพื้นที่และสถานที่ที่ส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายและปกป้องสิทธิความเท่าเทียมให้กับผู้คนทุกวัยและทุกสมรรถภาพในการใช้พื้นที่ในเมือง ชุมชน และสถานที่ที่มีความปลอดภัยและเอื้อให้ทุกคนมีกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอ

ด้าน พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านสิ่งแวดล้อม  กล่าวว่า พื้นที่สีเขียวมีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาสุขภาวะของประชาชน พร้อมอธิบายความหมายของนโยบาย ‘สวน 15 นาที’ ว่า หลักการไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของสวน แต่ขึ้นกับการเข้าถึงสวน รู้สึกว่ายังมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องพื้นที่สีเขียว ในกรุงเทพฯ ชั้นในการเข้าถึงสวนค่อนข้างมีแนวโน้มที่ดี แต่ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นเมื่อการขยายตัวของเมือง ทั้งฝั่นธนบุรีหรือฝั่งกรุงเทพฯตะวันออก ตามแนวของรถไฟฟ้าที่เริ่มขยาย เมื่อความหนาแน่นของประชากรกระจายออกไป ดังนั้น แนวทางที่อยากส่งเสริมคือต้องสร้างสวนในบริเวณนั้นให้เพิ่มขึ้น

หลังจากงานเสวนาได้มีการเปิดตัว คู่มือการจัดกิจกรรม “WalkShop: เครื่องมือส่งเสริมการจัด Healthy Active Meeting” ชุดเครื่องมือสำหรับหน่วยงาน องค์กร สำหรับการจัดประชุมเพื่อส่งเสริมสุขภาพ โดยใช้ “การเดินประชุม” ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและหยิบจับเอาความคิด หรือไอเดียใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินพูดคุย สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างการประชุม พร้อมกับจำลองการจัดกิจกรรม “WalkShop” ใน 3 เส้นทางของสวนเบญจกิติและสะพานเขียว เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ใช้เวลาในการแลกเปลี่ยนไอเดียร่วมกัน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มเวลาการมีกิจกรรมทางกายเพื่อการมีสุขภาพที่ดีอีกด้วย

WalkShop เป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการประชุมแบเดิม ๆ มาเป็นการเดินประชุม (Walk) เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและหยิบจับ (Shop) ความคิดใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินพูดคุยหารือกันของสมาชิก และเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้กระตุ้นประสิทธิของการประชุม ช่วยเพิ่มเวลาในการมีกิจกรรมทางกายเพื่อการมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น

WalkShop สามารถนำไปประยุกตร์ใช้กับทั้งการประชุมต่าง ๆ โดยพิจารณาจากเนื้อหาและวาระการประชุม ที่อาจไม่จำเป็นต้องมีการนำเสนออย่างเป็นทางการ ไม่ต้องใช้เอกสารหรืออุปกรณ์ประกอบการประชุม เป็นการประชุมย่อย การพูดคุยหารือร่วมกัน นอกจากนี้กิจกรรม WalkShop ยังใช้เพื่อตัดพฤติกรรมเนือยนิ่งระหว่างการประชุม โดยมีการออกแบบคล้ายการจัดให้เป็นหนึ่งกิจกรรมย่อยของการประชุมในช่วงเย็น หรือหากเป็นการประชุมภายในตัวอาคารก็สามารถทำได้ทั้งวัน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active