เวียงเชียงแสน คัดกรองสุขภาพจิตนักเรียน ส่งต่อ รพ.แล้ว 28 คน

เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน จ.เชียงราย จับมือ 2 โรงเรียน คัดครองนักเรียนผ่านแบบประเมิน-ให้คำปรึกษา พบความเสี่ยงจนต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลถึง 28 คน เชื่อช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายได้ผล

วันนี้ (26 มิ.ย. 2566) เกศสุดา สังขกร นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน  เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้มีโอกาสปรึกษากับนักจิตวิทยา โรงพยาบาลเชียงแสน จ.เชียงราย ถึงกรณีที่พบว่านักเรียนจาก 2 โรงเรียน ใน ต.เวียงเชียงแสน ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต จึงได้มีการพูดคุยเพื่อหาแนวทางการแก้ไข จนเกิดเป็นโครงการ “วัยรุ่น วัยใส ใส่ใจสุขภาพจิต” ในปี 2564 จากนั้นได้มีการค้นหาแกนนำนักเรียนที่จะเข้ามาเป็นที่ปรึกษาในลักษณะของเพื่อนช่วยเพื่อน พี่ช่วยน้อง ผ่านการทำแบบประเมินและให้คำปรึกษาเบื้องต้น จนนำไปสู่การส่งต่อการรักษาดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2564 ข้อมูลปัจจุบันพบว่าขณะนี้มีนักเรียนเข้ารับบริการปรึกษาสะสม 63 คนและส่งต่อไปยังโรงพยาบาล 28 คน

เกศสุดา

“หลังจากเริ่มโครงการไปได้ 1 ปี พบว่าที่ผ่านมาในเขตเทศบาลตำบลเวียงไม่พบว่ามีเด็กนักเรียนคิดสั้น หรือฆ่าตัวตาย อีกทั้งยังพบอีกว่าปัญหายาเสพติด ท้องก่อนวัยลดลงก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จ จนได้เริ่มโครงการฯ ต่อมาในปี 2565 จนถึงปัจจุบัน” 

เกศสุดา

ด้าน น้ำเพชร วงค์น้อย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หนึ่งในแกนนำ โครงการฯ โรงเรียนเชียงแสนวิทยาคม  บอกว่า ส่วนมากนักเรียนส่วนใหญ่ในโรงเรียนจะมีความเครียดเรื่องเพื่อน การเรียน และครอบครัว โดยอาสาสมัครโครงการฯ จะใช้วิธีการรับฟังปัญหามากกว่าการให้คำปรึกษา ซึ่งนักเรียนที่เข้ามาจะเป็นในลักษณะของการระบายมากกว่าการขอคำปรึกษา โดยจะมีการติดตามผลการให้คำปรึกษาเพื่อดูว่าวิธีที่ใช้พูดคุยนั้นได้ผลหรือไม่ ส่วนมากก็พบว่าดีขึ้น 

ขณะที่ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจของที่นี่ คือการสร้างเครือข่ายของนักเรียนภายใต้การสนับสนุนจากครู ซึ่งมีทั้งผู้นำนักเรียนและมีช่องทางการให้คำปรึกษาทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ เพื่อให้เด็กที่มีปัญหาสามารถพูดคุยระบายให้กับคนรุ่นเดียวกันได้ฟัง จนทำให้อัตราการฆ่าตัวตายของที่นี่เป็นศูนย์ 

ทพ.อรรถพร

รองเลขา สปสช. บอกอีกว่า การที่เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสนสามารถขับเคลื่อนงานเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตได้อย่างเป็นรูปธรรม ตรงตามวัตถุประสงค์ของงบฯ กองทุน กปท. ที่ใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยนำปัญหาจากพื้นที่เป็นที่ตั้ง หากมองดูตัวเลขงบประมาณที่ใช้จะพบว่าไม่ได้มาก จึงอยากจะบอกต่อให้กับพื้นที่อื่น ๆ ว่าหากสามารถขยายการดำเนินการในลักษณะไปได้ก็จะทำให้กลายเป็นสังคมที่มีสุขภาพจิตแข็งแรงได้ ซึ่ง สปสช. ก็พร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ 

สำหรับโครงการวัยรุ่น วัยใส ใส่ใจสุขภาพจิต เป็นการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของเด็กในโรงเรียนผ่านกลไกงบประมาณจาก กปท. โดยได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลเชียงแสน จ.เชียงราย และเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสนในการคัดกรองสุขภาพจิตเด็กนักเรียน เช่น ความเครียด โรคซึมเศร้า ฯลฯ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active