คุมมาตรฐานความปลอดภัยผู้ป่วย หลังยกระดับบัตรทองรักษาทุกที่

ผอ.สรพ. หนุนโรงพยาบาลใช้องค์ความรู้เทคโนโลยี นวัตกรรมบริหารความเสี่ยง สร้างเครือข่ายรองรับ ดึงผู้ป่วยมีส่วนร่วมออกแบบระบบสุขภาพ 

หลังจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปักธงนโยบาย Quick Win ยกระดับบัตรทอง บัตรประชาชนรักษาทุกที่ ซึ่งจะต้องมีการวางโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างทั้งระบบคลาวด์เก็บประวัติผู้ป่วยให้เชื่อมต่อกันได้ทุกโรงพยาบาล และเชื่อว่าจะไม่ทำให้เกิดการกระจุกตัวในโรงพยาบาลใหญ่ โดยจะเร่งพัฒนาหน่วยพยาบาลใกล้บ้านไปพร้อม ๆ กัน 

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2566 สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) จัดงาน วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก ครั้งที่ 5 โดย พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ  ผอ.สรพ. ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในเรื่องของการกำหนดมาตรฐาน พัฒนาระบบบริการเพื่อให้ระบบสุขภาพมีคุณภาพและมีความปลอดภัยโดยให้โรงพยาบาลมาร่วมกันออกแบบระบบบริการภายใต้ข้อจำกัด​ บอกว่าโรงพยาบาลต้องใช้ความรู้และเครื่องมือต่าง ๆ มาบริหารความเสี่ยง กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่ที่ไม่เคยเจอมากก่อน เช่น โควิด-19 และนโยบายที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่ถ้าเจอแล้วต้องใช้หลักในการบริหารความเสี่ยงเอามาทบทวนว่ามันมีโอกาสเกิดความไม่ปลอดภัยในประเด็นใดบ้างแล้วใช้กลไกเครื่องมือคุณภาพ ใช้กลใลการยบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน  

“สำหรับมาตรฐานของเรา ทุกโรงพยาบาลเป้าหมาย คือเขาต้องทำให้ผู้ป่วยปลอดภัย ใช้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางของการออกแบบระบบบริการ มีการพัฒนาต่อเนื่อง เราไม่ได้รับรองว่าดี แต่รับรองว่าเขาพยายามพัฒนาให้ดีขึ้นตลอดเวลา” 

พญ.ปิยวรรณ กล่าว
พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ

ที่สำคัญเวลานี้คือการสร้างเครือข่ายระบบบริการสุขภาพ จะช่วยสนับสนุนนโยบายบัตรทองรักษาทุกที่ได้ดี เนื่องจากคนไข้หนึ่งคนอาจไม่ได้รักษาจบที่ใดที่หนึ่ง คนไข้ทุกคนมีโอกาสเดินทางไปตามหน่วยบริการในระดับต่าง ๆ มีการส่งต่อขยับระบบบริการปฐมภูมิขึ้นไป เพราะโรคบางโรคไม่สามารถรักษาได้ที่หน่วยบริการปฐมภูมิ ดังนั้นการสร้างเครือข่ายจึงมีความสำคัญเพื่อทำให้เกิดความคล่องตัว และเป็นระบบ 

แต่การสร้างเครือข่าย ต้องมีการออกแบบ ระดมสมอง ทำงานร่วมกัน เราไม่สามารถสั่งให้มีเครือข่ายได้  นอกจากโรงพยาบาลที่พบปัญหา แล้วรู้ว่าการสร้างเครือข่ายคือการแก้ปัญหา เครือข่ายจึงจะเกิดได้อย่างแข็งแรง โดยช่วงที่ผ่านมา สรพ.ก็เริ่มออกแบบการประเมินคุณภาพรูปแบบบริการที่เป็นเครือข่าย อย่างเช่นวันนี้ เรามอบใบประกาศให้กับสถานพยาบาลที่ทำเรื่องการส่งต่อฉุกเฉิน คือการส่งต่อทำอย่างไรจึงจะส่งต่อให้เร็วที่สุดมาสู่โรงพยาบาลศูนย์ การออกแบบข้อมูล บริหารทรัพยากรบุคคล ตลอดจนคนไข้ที่เกิดการเคลื่อนย้ายไปได้อย่างปลอดภัยตลอดสาย เป็นต้น 

อีกประเด็นหนึ่ง เราจะออกแบบระบบบริการสุขภาพอย่างไร ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม นั่นหมายความว่า ทั้งโรงพยาบาล ผู้ป่วย ประชาชน มาร่วมเป็นหนึ่งในบุคคลที่จะช่วยกันให้ความสำคัญในการค้นหาสิ่งต่างๆ เป็นทีมร่วมกันก็จะทำให้เรานั้นมีความปลอดภัยด้วยตัวเราเอง 

ยกตัวอย่าง เช่น ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความปลอดภัย ง่าย ๆ เลยถ้าเราเป็นประชาชน เรารู้ว่าตัวเองแพ้ยาอะไร เรารู้หมู่เลือดของตัวเอง เรารู้โรคประจำตัวของตัวเอง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้แพทย์และพยาบาลต้องซักประวัติอยู่แล้ว 

หากเราในฐานะผู้ป่วยเป็นผู้ให้ข้อมูลเองตั้งแต่แรก ก็จะมีส่วนช่วยไม่ให้เกิดการแพ้ยาซ้ำ การกินยาผิดพลาด หรือแม้แต่การทวนชื่อนามสกุลก่อนจ่ายยา เพื่อป้องกันการจ่ายยาผิดพลาดก็เป็นเรื่องที่เราควรให้ความใส่ใจ อย่ารำคาญเวลาถูกถามบ่อยๆ เพราะนั่นเป็นการย้ำว่า รักษาถูกคน ถูกที่ ถูกเวลา สิ่งเหล่านี้เราสามารถมีส่วนร่วมกันได้ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง และช่วยลดปริมาณผู้ป่วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความปลอดภัยเพราะการที่มีผู้ป่วยจำนวนลดลง จะช่วยให้บุคคลากรที่มีอย่างจำกันสามารถทำงานได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

พญ.ปิยวรรณ บอกอีกว่า นวัตกรรมเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความปลอดภัย กล่าวคือ เวลาที่เราออกแบบระบบบริการดูแลผู้ป่วย จะมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 3 อย่าง คือ 

  1. บุคลากรในการทำงาน ซึ่งมีส่วนสำคัญ ทั้งจำนวนและศักยภาพ 
  2. ระบบหรือกระบวนการ (Process) เราต้องออกแบบระบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ 
  3. เทคโนโลยี 

ดังนั้นถ้าเรามีทรัพยากรอย่างจำกัด แต่เรายังต้องให้บริการกับประชาชน เราจำเป็นต้องมีการออกแบบบริการให้สามารถเกิดความปลอดภัยได้ โดยมีเทคโนโลยีมาสนับสนุนหรือการปรับกระบวนการ 

ต้องยอมรับว่ามนุษย์เราทุกคนมีโอการเกิดความผิดพลาดได้ แต่บุคลากรสาธารณสุขไม่เคยตั้งใจที่จะทำให้เกิดข้อผิดพลาดกับประชาชนที่มารับบริการดังนั้น เราจึงใช้หลักคิด Human Factor Engineering คือ การใช้เทคโนโลยีเชิงศวกรรมมาออกแบบระบบลดข้อผิดพลาดที่มีโอกาสเกิด ช่วยให้มนุษย์สามารถทำงานได้ คล่องขึ้น ปลอดภัยขึ้น ด้วยความเข้าใจข้อจำกัดของมนุษย์

นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์

ด้าน นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคูเมือง จ.บุรีรัมย์ กล่าวถึงนวัตกรรมดังกล่าวว่าจุดเริ่มต้นของการพัฒนา คือ จ.บุรีรัมย์ มีปัญหาคล้าย ๆ กับในหลายพื้นที่ คือจำนวนผู้สูงอายุเยอะขึ้น ซึ่งเดิมมีเครือข่ายที่ร่วมกันทำงานอยู่แล้ว ได้นำเอากลุ่มประชากรที่อยู่ในความดูแล ที่มีจำนวนมากที่สุดคือกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มาจัดการก่อน ทั้งในรูปแบบ Intermediate Care (IMC), Long-Term Care (LTC) และ Palliative Care (PC) 

โดยพยายามสรุปภาพออกมาว่า มีกำลังคนและบุคลากรอยู่จุดไหนบ้าง มีโรคอะไรบ้าง เพื่อจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม และพบปัญหาว่าการทำงานและข้อมูลไม่เชื่อมโยงกัน จึงพยายามจัดการอัตรากำลังคนโดยใช้เครื่องมือแอปพลิเคชันกับตัวระบบข้อมูลเพื่อเป็นการจัดสรรการทำงานต่าง ๆ ในการติดตามดูแล สะท้อนข้อมูลผู้ป่วยเพื่อปรับปรุงระบบ จนพบว่าปัญหาสำคัญที่ได้รับจากการดูแลผู้ป่วย มีทั้งปัญหาภาระงาน การทำงานไม่สะดวก เดินทางมาโรงพยาบาลลำบาก  ปัญหาเรื่องสิทธิการรักษา ขณะที่ผู้ให้บริการก็พบปัญหาเรื่องภาระงานมีความซ้ำซ้อน  ทำให้การดูแลผู้ป่วยไม่ต่อเนื่อง

เมื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์และออกแบบ และตั้งเป้าหมายในแต่ละกลุ่มที่เราต้องการ  ได้แก่ ด้านผู้ป่วยและผู้รับบริการ ที่เขาต้องได้ระบบการดูแลต่อเนื่องได้ประโยชน์ตามสิทธิ ด้านบุคลากร ที่ต้องช่วยลดภาระงาน ต้องได้เห็นข้อมูลต้องวิเคราะห์ข้อมูล เยี่ยมบ้านได้ครบตามเกณฑ์ และด้านองค์กรและเครือข่าย  ที่ต้องมีข้อมูลการบริการที่จำเป็น สามารถดูแลประชาชนได้ทั่วถึง ลดค่าใช้จ่ายในการดูแล ขยายผลในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มอื่น เกิดเป็น แอปพลิเคชันPalliative Pansuk, IMC Pansuk, LTC Pansuk และ LAO Pansuk ที่ทำงานเชื่อมโยงกัน ทำให้สามารถเห็นคนไข้ในทุกมิติ 

โดยใช้หลักการที่ผู้ใช้งานผู้ปฏิบัติอกแบบร่วมกันโดยใช้แนวคิด Human Factor Engineering และ Design Thinking ในการออกแบบแอปพลิเคชัน ออกแบบระบบ วางระบบและทดลองใช้งาน และมีช่องทางให้ผู้ป่วยสามารถรายงานเราได้ และมีการให้ยืนยันการส่งต่อข้อมูลให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามหลักการ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) 

จุดเด่นของแอปพลิเคชัน คือ การใช้สัญลักษณ์เพื่อให้เห็นความแตกต่างชัดเจนแสดงความเร่งด่วนในการติดตามเยี่ยมบ้านตามระดับอาการของผู้ป่วย มีการจัดลำดับ โดยมีทีมสหวิชาชีพร่วมออกแบบข้อมูลที่ต้องการใช้งานในแอปพลิเคชัน ส่วนทีมโปรแกรมก็พัฒนาตาม ทำให้แอปพลิเคชันใช้ง่าย มีการคำนวณให้ มีดักจับการกรอกข้อมูลผิดพลาด ขณะที่แอปฯ ของ อปท.จะเน้นไปที่ข้อมูลการเยี่ยมบ้าน อาชีพ รายได้ สวัสดิการ พบว่า สามารถลดการซ้ำซ้อนในการทำงานได้ ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยผู้ป่วยอีกหลายด้านที่นำมาเสนอเช่น นวัตกรรมลดข้อผิดพลาดในการจ่ายยา แก้ปัญหาการให้เลือดผิด การรักษาอุณหภูมิในเวชภัณฑ์ยา โดยนวัตกรรมป้องกันคนไข้ในตึกสูง สำหรับผลงานที่นำเสนอครั้งนี้ ประกอบด้วย

1. NAH Surviving Sepsis โรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจ.พิษณุโลก (รางวัล Rising Star)

2. Application Rayong network alert SOS Score for sepsis โรงพยาบาลระยอง (รางวัล Rising Star)

3. Smart Central Monitoring (การพัฒนาระบบตรวจสอบและติดตามอุณหภูมิและความชื้นตู้เย็นแช่ยาและเวชภัณฑ์ผ่านระบบ Smart Central Monitor) โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย (รางวัล Rising Star)

4. EMAR on view chart โรงพยาบาลสุรินทร์ (รางวัล Rising Star)

5. Smart MED-Admin in IPD โรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจ.พิษณุโลก (รางวัล Rising Star)

6. Blood transfusion Safety: Patient Identify โรงพยาบาลสุรินทร์ (รางวัลThe Best of Care)

7. Vachira Phuket Patient Identification and Care Process Management โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต (รางวัล Rising Star)

8. โรคประจำตัวของฉัน โรงพยาบาลค่ายนวมินทราชินี จ.ชลบุรี (รางวัล The Best of Change)

9. ศูนย์ปันสุข ร่วมกับเครือข่าย ดูแลต่อเนื่องทุกกลุ่มวัยใกล้บ้าน ใกล้ใจ โรงพยาบาลคูเมือง จ.บุรีรัมย์ (รางวัล The Best 0f Collaboration and Network)

10. Surin In Sight Application “ให้คนไข้อยู่ในสายตาเรา” โรงพยาบาลสุรินทร์(รางวัล Rising Star)

ซึ่งผลงานที่นำมาเสนอเป็น 10 นวัตกรรมที่ผ่านเข้ารอบจาก 24 นวัตกรรม ที่ผ่านการนำเสอจากเวที เวทีประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 23 ซึ่งเป็นผลงานที่ใช้จริงในสถานพยาบาล หลายแห่งและยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ล้วนเป็นผลงานที่มีคุณค่า เห็นประโยชน์ ต่อผู้ป่วย ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะการลดภาระงาน ลดความผิดพลาด ซึ่งส่งผลประโยชน์ไปสู่ประชาชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active