ยกระดับบัตรทอง ต้องแก้ 5 โจทย์ปัญหาสาธารณสุข

“นิมิตร์” แนะ เร่งพัฒนาหน่วยบริการใกล้บ้าน ชี้คงไม่มีใครอยากเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลไกลๆ ด้าน “โฆษกรัฐบาล” ยัน บัตรทองเวอร์ชั่นใหม่ผู้ป่วยเลือกไปโรงพยาบาลไหนก็ได้ ที่สะดวกและมั่นใจ 

วันที่ (13 ก.ย. 2566) นิมิตร์ เทียนอุดม กรรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ผู้แทนภาคประชาชน ให้สัมภาษณ์ The Active ว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันประชาชนก็ใช้บัตรประชาชนเพื่อยืนยันตัวตนใช้สิทธิสุขภาพกันอยู่แล้ว และบางพื้นที่ก็มีโครงการ OP Refer ตามจ่ายข้ามเขตลักษณะรักษาได้ทุกที่ แต่เพื่อความยั่งยืนเกี่ยวกับนโยบายการยกระดับบัตรทอง – บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ยังมี 5 โจทย์ปัญหา สุขภาพที่ต้องแก้ไข 

  1. หน่วยบริการใกล้บ้านไม่เพียงพอโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการสร้าง 50 เขต 50 เขต 50 โรงพยาบาล เพื่อรองรับ 
  2. หน่วยบริการใกล้บ้านไม่มีศักยภาพที่จะรักษาโรคยาก ๆ ทำให้ประชาชนต้องวิ่งเข้าไปที่โรงพยาบาลใหญ่ 
  3. ประชาชนที่ใช้บริการมักเจอปัญหาเตียงเต็ม มีปัญหาการเลือกปฏิบัติ ปฏิเสธการเข้ารับบริการของโรงพยาบาลบางแห่ง 
  4. ปัญหาคนสิทธิสุขภาพอื่นที่ตกหล่น ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังไม่สามารถรองรับ 
  5. บัตรทองครอบคลุมเฉพาะคนไทย แต่รัฐพูดถึงเรื่องการหารายได้ จึงเสนอให้สปสช.ขายประกันให้กับคนต่างชาติทุกประเภททั้งนักท่องเที่ยว และแรงงานข้ามชาติเท่ากัน เพื่อสร้างสมดุล ลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ และสามารถจัดเก็บรายได้เข้าประเทศไปพร้อมกัน 

“การพัฒนาหน่วยบริการใกล้บ้าน น่าจะเป็นโจทย์ที่สำคัญที่สุด สำหรับการยกระดับบัตรทองรักษาทุกที่ เพราะคงไม่มีประชาชนคนไหน อยากเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลไกล ๆ หากโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านมีศักยภาพเพียงพอ” 

นิมิตร์ กล่าวว่า ยังแสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณีการถ่ายโอน รพ.สต.ไปอยู่กับองค์การบริหารส่วนจังหวัง ซึ่งบางแห่งไม่พร้อม และไม่มีหมอมาประจำ ต่างจากเดิมที่ รพ.สต.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ผ่านมาจะมีหมอจากโรงพยาบาลชุมชนเวียนไปประจำ ซึ่งหากมีนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ การยกระดับหน่วยบริการปฐมภูมิให้มีแพทย์ประจำเป็นสิ่งจำเป็นและที่มีนโยบายที่เริ่มต้นไว้ดีแล้วทั้งยังระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญคือ “หมอครอบครัว” แต่บทบาทของหมอครอบครัวในปัจจุบันยังไม่เข้มแข็ง ยังไม่มีที่ทางที่ชัดเจน จึงควรยกระดับให้หมอครอบครัวเหล่านี้มาประจำอยู่ในหน่วยบริการปฐมภูมิเช่น รพ.สต.

ส่วนการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ 3 กองสุขภาพเห็นด้วยกับการจัดตั้งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติหรือ Health board ที่จะมี authority ในการจัดระบบงบประมาณสุขภาพ และคาดหวังไปถึงการจัดซื้อยารวม และการลดความเหลื่อมล้ำของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกันกับกองทุนสุขภาพอื่น 

“ที่ผ่านมาภาคประชาชนสนับสนุนให้รวม 3 กองทุนสุขภาพ เพราะถ้าไม่แตะเรื่องนี้ปัญหาหยุมหยิมก็จะไม่จบไป”

นิมิตร์

ด้าน นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เรียกว่าเป็น Digital Transformation ถึงวันนี้ยังไม่สามารถทำได้ 100% แต่เมื่อเป็นนโยบายสำคัญจะต้องทำให้ได้ทั้งประเทศ เชื่อว่ากระทรวงสาธารณสุขจะเป็นแม่งานใหญ่ บูรณาการข้อมูลเข้ามา ส่วน สปสช. ก็จะบูรณาการข้อมูลเบิกจ่ายทุกสังกัด ทั้งเอกชน โรงเรียนแพทย์เป็นต้น

“ การยกระดับบัตรทองให้ใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่เป็นนโยบายควิกวินของหมอชนน่านที่ต้องสำเร็จภายใน 100 วัน โดยก่อนหน้านั้นอาจมีการนำร่องในบางเขตสุขภาพก่อน ใช้กันทั้งประเทศ”​

นายแพทย์จเด็จ

ไฟเขียวประชาชนช็อปปิ้งโรงพยาบาล 

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก ว่า การไปรับบริการที่ รพ. จากเดิมที่ต้องรอคอยนานเป็นวันเพื่อพบแพทย์เพียง 2 นาที จากนี้จะเป็นระบบการนัดหมายเข้ารับบริการ เพื่อจะได้ไม่ต้องรอคอยที่โรงพยาบาลทั้งวัน หรือในบางกรณีที่เป็นเพียงการนัดหมายเพื่อติดตามอาการ หรือรับยาเท่านั้น อาจไม่จำเป็นต้องเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลแล้ว แต่สามารถให้ญาติ ประสานผ่านระบบอินเตอร์เน็ตเพื่อขอรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านได้

นายสัตวแพทย์ชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในเรื่องของการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า ซึ่งจากเดิมจะต้องมีการขอใบส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นทาง ที่มีความยุ่งยาก และใช้เวลานาน ต่อจากนี้ไม่ต้องไปขอใบส่งตัวแล้ว เพราะข้อมูลผู้ป่วยมีอยู่ในฐานระบบที่เชื่อมโยงกันอยู่ 

ที่สำคัญจากนี้ไม่ต้องมีโรงพยาบาลประจำแล้ว จากนี้หากผู้ป่วยอยู่ใกล้โรงพยาบาลไหนหรือชอบใจ มั่นใจโรงพยาบาลไหนก็สามารถไปได้เลย เหมือนประกันเอกชนคอยดูแลสามารถเลือกไปโรงพยาบาลไหนก็ได้ นี่คือเวอร์ชั่นใหม่ เป็นเวอร์ชั่นที่เอาผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง ให้ประชาชนมีความสะดวก ไม่ใช่ให้ผู้ให้บริการมีความสะดวก นี่เป็นเรื่องใหม่มากๆ เป็นการยกระดับอย่างเห็นได้ชัด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active