คนไทยเครียดโหวตนายกฯ กรมสุขภาพจิต ห่วง ส่งผลกระทบการใช้ชีวิต

กรมสุขภาพจิต มองกระแสตื่นตัวคนรุ่นใหม่ สะท้อนสังคมไทยก้าวหน้าเรื่องการเมือง เสนอ 3 วิธีดูแลตนเอง มีสติ จัดสรรเวลา ปรึกษาคนใกล้ชิด แนะใช้ Mental Health Check-In แอปพลิเคชันสำรวจสุขภาพใจด้วยตนเอง

เมื่อวันที่ 19 ก.ค.66  พญ. อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์ภาวะเครียดระหว่างการจัดประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ภายใต้หัวข้อเรื่อง “ภาคีความร่วมมือ สร้างสังคมผาสุก หยุดทุกความรุนแรง” ระบุว่า สังคมไทยประสบกับปัญหาความรุนแรงในหลายมิติและหลากหลายรูปแบบ และปัญหาดังกล่าวได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ และสังคม ทั้งในความรุนแรงที่ปรากฏเด่นชัด เช่น การฆ่าตัวตาย ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงในเด็กและเยาวชน การก่ออาชญากรรม เป็นต้น จะเห็นได้จากใน ปี พ.ศ. 2565 พบว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความสงบสุขของโลกในลำดับที่ 103 และเป็นประเทศที่มีความรุนแรงในลำดับที่ 47 จาก 163 ประเทศ 

โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญในเวลานี้คือการเสพข่าวการเมือง โดยมองว่า ความสนใจการเมืองเป็นเรื่องดีสะท้อนสังคมไทยก้าวหน้าในเรื่องนี้ ประชาชนตื่นตัวให้ความสนใจ แต่หลายเรื่องไม่สามารถเป็นไปตามที่ใจคิด กรมสุขภาพจิต มีการติดตาม รวมถึงการให้ความรู้ ข้อแนะนำต่าง ๆ ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ว่า การรับรู้ข่าวสารข้อมูลอย่างมีสติทำได้อย่างไร มีข้อแนะนำการประเมินตนเองว่า เมื่อไรควรจะถอยตัวเองออกจากการรับรู้ เมื่อไรถึงขั้นที่ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อการรักษา ซึ่งข้อมูลต่างๆ สามารถศึกษาเรียนรู้ได้ผ่านเว็บไซต์กรมสุขภาพจิต 

สำหรับคำแนะนำการดูแลตนเองในการเสพข่าวการเมืองไม่ให้เกิดความเครียดจนเกินไป

1.การมีสติ ต้องประเมินตัวเองว่าเป็นอย่างไร สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้ปกติ ทั้งกิจวัตรประจำวัน การทำงาน สัมพันธภาพกับคนครอบข้างยังไม่บกพร่อง ไม่ได้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกับใครไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เพราะบางคนอาจจะไม่ได้ทะเลาะเรื่องการเมืองโดยตรง แต่อาจจะทะเลาะเรื่องอื่น ๆ ก็ได้ และสำรวจตัวเองด้วยว่ากิน-นอนได้ไหม อารมณ์เบิกบานไหม หากไม่แน่ใจเข้าไปเช็กตัวเองผ่าน MENTAL HEALTH CHECK IN ซึ่งเป็นเครื่องมือประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น ว่ามีความเครียดที่เป็นความเสี่ยงสูงหรือไม่

2.การจัดสรรเวลาการรับรู้ข่าวสารแต่พอสมควรกับตัวเอง ซึ่งแต่ละคนไม่เท่ากัน หลายคนอาจสามารถติดตามข่าวสารได้วันละ 4-5 ชั่วโมง แต่ก็ยังเดินหน้าทำงานต่อได้ แต่บางคนติดตามแค่ชั่วโมงเดียวก็ไม่ไหวแล้ว ดังนั้นอาจจะมีการจัดสรรเวลาที่เหมาะสมสำหรับตัวเอง

3.หากรู้สึกว่าอารมณ์ไม่ค่อยดี หงุดหงิด แนะนำให้ปรึกษาคนใกล้ชิด แต่ต้องเลือกคนใกล้ชิดที่มีวุฒิภาวะพร้อมรับฟังและปรึกษาไปกันได้ ไม่ใช่รับฟังแล้วนำไปสู่การทะเลาะ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหากพบว่าเกิดภาวะเครียดจนรุมเร้าต่อหน้าที่การงาน สัมพันธภาพ ที่สำคัญไม่ควรแก้ปัญหาด้วยการพึ่งดื่มสุรา สูบบุหรี่มากขึ้น เพราะจะทำให้ปัญหาที่มีอยู่เพิ่มมากขึ้นได้  

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ

ด้าน พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ โฆษกกรมสุขภาพจิตและผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า สถานการณ์ที่อาจมีผลต่อภาวะอารมณ์อย่างมาก เช่น วันโหวตนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นไปได้ว่าจะมีทั้งผู้ที่สมหวัง และผิดหวัง และไปแสดงออกในโลกออนไลน์ ส่วนตัวรู้สึกเป็นห่วงในการแสดงความเห็นในลักษณะที่ใช้คำพูดรุนแรง ด้อยค่า หรือละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น 

ซึ่งผลกระทบสามารถเกิดขึ้นได้ทั้ง 2 ฝั่ง เช่น ฝั่งที่สมหวังใช้คำพูดในเชิงทับถม ดูถูกดูแคลน ส่วนฝั่งที่ผิดหวัง อาจจะพิมพ์โต้ตอบด้วยความรุนแรง ซึ่งในต่างประเทศ พบว่า สามารถพัฒนาเป็นความรุนแรงในชีวิตจริง เช่นการเผาทำลายบ้านเรือน หรือการแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้ง 2 ฝั่ง หากใช้อารมณ์ขณะเสพข่าวการเมืองในช่วงนี้

“แน่นอนว่าฝั่งที่สมหวังคงดีใจ แต่จะดีกว่าถ้าเราเก็บเอาความรู้สึกนี้ผลักให้สังคมเดินหน้าต่ออย่างสร้างสรรค์ มีนโยบายอะไรที่ต้องทำ ขณะเดียวกันคนที่ผิดหวังอันดับแรกอยากให้กำลังใจ รวมถึงคนในครอบครัว รอบข้างอาจจะลองหยุดพักเรื่องนี้พูดคุยกันอย่างเปิดใจ ลองหาเครื่องมือ นวัตกรรม เครือข่ายใหม่ ๆ ในการขับเคลื่อนสังคมต่อไป แต่ไม่ใช่ว่าแสดงความเห็นอะไรไม่ได้เลย เพียงแต่ไม่อยากการแสดงออกของทั้ง 2 ฝั่ง กลายเป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้ง ซึ่งเชื่อว่าหลายคนไม่ได้ตั้งใจแบบนั้น”

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ

อย่างไรก็ตาม หากช่วงนี้รู้สึกเครียด กังวล ไม่สบายใจ ประชาชนสามารถสำรวจสุขภาพใจด้วยไลน์แอปพลิเคชัน คิวอาร์โคด Mental Health Check-In (MHCI) เพื่อรับทราบแนวทางการดูแลตนเองหรือรับการปรึกษาที่สถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active