โรงพยาบาลสังกัด กทม. ขาดแคลนพยาบาล เตรียมบรรจุเพิ่มก่อน 1 ส.ค.

รองผู้ว่าฯ ทวิดา ขออภัยพยาบาล เหตุทำงานเกินเวลา เตรียมปรับปรุงระบบเตือนทำงานเกินเวลาโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ พร้อมพัฒนาหน่วยบริการระดับปฐมภูมิให้เข้มแข็ง ช่วยลดความแออัดของคนไข้จากโรงพยาบาล  

จากกรณีสื่อสังคมออนไลน์ได้กล่าวถึงบุคลากรทางการแพทย์พยาบาลของโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครทำงานเกินเวลา กรุงเทพมหานครจึงได้มีการตรวจสอบเบื้องต้นจากระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) พบว่ามีผู้ร้องเรียนเข้ามาจริง 

4 มิ.ย. 2566 รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การให้พยาบาลทำงานเกินกว่าชั่วโมงที่ควรจะต้องทำเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะจริง ๆ แล้วทางสำนักการแพทย์มีมาตรฐานการทำงานที่เข้มงวด โดยปกติพยาบาลจะอยู่กะได้ติดต่อกันแค่เพียง 2 กะเท่านั้น คือไม่เกิน 16 ชั่วโมง ซึ่งทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กำชับเรื่องนี้ไว้ด้วยเหตุผลที่ว่าถ้าพยาบาลทำงานนานจนเกินไป อาจจะเป็นไปได้ที่จะกระทบต่อความเหนื่อย กระทบต่อสมาธิ หรืออาจจะกระทบต่อการรักษาพยาบาลประชาชน ทั้งในแง่ของสมรรถนะ ความสามารถ หรืออารมณ์ จึงได้สั่งการให้หาข้อเท็จจริงและทำการแก้ไข โดยไม่ให้มีการทำงานเกินกว่าชั่วโมงมาตรฐานอีก

รศ.ทวิดา กมลเวชช 

จากระบบ ทราฟฟี่ฟองดูว์ ทำให้พอจะทราบตำแหน่งโดยสังเขปของปัญหาว่าน่าจะอยู่ในโซนตะวันออก ซึ่งสามารถเข้าใจต้นสายปลายเหตุได้บางส่วนว่าประชากรในพื้นที่กรุงเทพมหานครในโซนดังกล่าวมีจำนวนมากจริง ๆ เมื่อนำรายชื่อพยาบาลที่เข้ากะครั้งละ 8 ชั่วโมง มาตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่ามีมูลแห่งความจริง ยอมรับว่าอาจจะเป็นระบบของเราที่ไม่มีการเตือนว่าพยาบาลทำงานเกินกว่าชั่วโมงที่เรากำหนดไว้แล้ว ซึ่งระบบดังกล่าวมีในโรงพยาบาลวชิรพยาบาลคือสามารถสแกนใบหน้าบันทึกข้อมูลการเข้าเวร ในส่วนของโรงพยาบาลกลางก็จะมีระบบการตรวจสอบข้อมูลนี้จากฐานข้อมูลเวรกลางของโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กรุงเทพมหานครต้องไปจัดการทำการแก้ไขให้ระบบแบบนี้เกิดขึ้นในทุกโรงพยาบาล

อีกมุมหนึ่งปัญหาอาจจะเป็นที่การบริหารจัดการของเราในบางช่วงเวลา เช่น กรณีที่การบริหารจัดการเวรพยาบาลมีอยู่แล้วในจำนวนที่ค่อนข้างพอดี แล้วเกิดเหตุพยาบาลมีการติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นโดยพร้อมกัน จำเป็นต้องให้พยาบาลหยุด 3 – 5 คน ในเวลาเดียวกัน ก็อาจจะทำให้คนที่เหลืออยู่ต้องทำงานยาวนานเกินไป 

ในเรื่องนี้กรุงเทพมหานครมีการจ้างพยาบาลห้วงเวลาเสริมอยู่ทุกโรงพยาบาลและเรื่องอัตรากำลังที่ตึงตัว เราก็พยายามจะเรียกบรรจุเพิ่มเติมอยู่ในทุกโรงพยาบาลซึ่งจะทยอยเข้าในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม กรุงเทพมหานครไม่ปฏิเสธเมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น โดยจะมีการปรับระบบบริหารจัดการบุคลากรใหม่ทั้งหมดในทุกโรงพยาบาล เพื่อให้เห็นหน้าตักทรัพยากรของทั้งโรงพยาบาลและสามารถบริหารจัดการได้ดียิ่งขึ้น ต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น เมื่อพยาบาลเข้าเวรให้มีระบบนับจำนวนชั่วโมง หากครบ 16 ชั่วโมงจะต้องมีการเตือน ซึ่งการปรับระบบนี้จะต้องเร่งแก้ไขโดยด่วนเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ซ้ำอีก และเพื่อไม่ให้บุคลากรของเราต้องทำงานหนักเกินไปเพราะอาจจะกระทบไปถึงภาคประชาชนที่มารับบริการ เราต้องบริหารจัดการจำนวนพยาบาลให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้เกิดการหยุดชะงัก ต้องคุยกับบุคลากรถึงขั้นตอนการทำงาน การอยู่เวร ส่วนสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยบังคับหรือการบังคับให้อยู่ต่อไม่ควรเกิดขึ้น

สำหรับตำแหน่งว่างพยาบาลวิชาชีพและตำแหน่งอื่น ๆ อยู่ในระหว่างดำเนินการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครในหลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิตจากพยาบาลเกื้อการุณย์มหาวิทยาลัยนวมินทร์ 138 ราย อยู่ระหว่างรอประกาศผลสอบเพื่ออนุญาตใบวิชาชีพการพยาบาล ซึ่งเราน่าจะสามารถดึงบุคลากรบางส่วนจากตรงนี้ไปได้ 

ขณะเดียวกันของสังกัดสำนักการแพทย์โดยตรงซึ่งได้ดำเนินการสัมภาษณ์แล้วจะบรรจุแต่งตั้งภายใน 1 สิงหาคมนี้ จะเร่งประสานว่าสามารถที่จะบรรจุแต่งตั้งเร็วกว่านั้นได้หรือไม่ อีกทั้งยังต้องดูเรื่องแผนการเกลี่ยอัตรากำลัง เนื่องจากครั้งหนึ่งมีการเปิดโรงพยาบาลใหม่จึงมีการเกลี่ยอัตรากำลังไป และหลังจากการเกลี่ยอัตรากำลังครั้งนั้นยังไม่ได้ทบทวนในจำนวนที่เพียงพอและรวดเร็วนอกจากนี้ แม้ว่าเราจะถูกควบคุมค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น แต่โรงพยาบาลสามารถบริหารจัดการความยืดหยุ่นของเงินทุนของตัวเองในการจ้างพยาบาลห้วงเวลาเสริมได้ ฉะนั้นต้องยอมรับว่าเราบริหารจัดการได้ไม่รอบคอบพอ 

“ต้องขออภัยน้องพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ที่ทำให้เกิดความเครียด หลังจากนี้จะมีการเร่งจัดการเรื่องอัตรากำลังโดยประสานไปยังสำนักงาน ก.ก. ในการเรียกบรรจุสำหรับบุคคลที่สอบแข่งขันได้และขึ้นบัญชีไว้ให้เร็วขึ้นหากสามารถทำได้” 

รศ.ทวิดา กมลเวชช 

พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวว่า  กรณีที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นที่น่าเห็นใจ เนื่องจากระบบงานของโรงพยาบาลมีภาระงานจำนวนมาก มีจำนวนพยาบาลของสำนักการแพทย์อยู่ที่ 2,300 คน อย่างไรก็ตาม สำนักการแพทย์ให้ความสำคัญกับเรื่องของมาตรฐานในการดูแลประชาชน และการทำงานต้องเป็นไปตามมาตรฐานของสภาการพยาบาล ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลก็มีการประกันคุณภาพมาตรฐานโรงพยาบาลด้วย ในวันนี้จึงได้มีการคุยกับผู้บริหารของแต่ละโรงพยาบาลว่าจะต้องให้ความสำคัญในการดูแลทุกข์สุขของน้อง ๆ พยาบาล รวมถึงเจ้าหน้าที่บุคลากรอื่น ๆ โดยดูว่าติดขัดตรงไหน และขอให้พี่ ๆ ช่วยกันแก้ปัญหาอุปสรรคให้กับน้อง ๆ ด้วย  ส่วนในเรื่องของระบบตามที่ท่านรองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้ให้คำแนะนำ เราคงต้องไปพัฒนาระบบให้มีการตรวจสอบติดตามอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีก 

พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง

“อีกมาตรการหนึ่งตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่จะสร้างความเข้มแข็งของโรงพยาบาล คือสถานพยาบาลในระดับปฐมภูมิ ซึ่งเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่จะช่วยลดความแออัดของคนไข้จากโรงพยาบาลได้ ทั้งนี้ สำนักการแพทย์จะทำอย่างเต็มที่ เรายินดีที่จะดูแลประชาชนให้มีคุณภาพ”

พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง 

ด้าน สายฝน ภู่พิทยา หัวหน้าพยาบาล โรงพยาบาลกลาง กล่าวว่า รูปแบบของการบริหารอัตรากำลังของฝ่ายการพยาบาลทั้ง 11 โรงพยาบาลมีรูปแบบที่ใกล้เคียงกัน โดยปกติรูปแบบที่จัดจะไม่เกิน 16 ชั่วโมง ใน 1 เวร แต่ถ้าเกินขึ้นมาเราจะเกลี่ยอัตรากำลัง เช่น ดึงอัตรากำลังบางตึกที่เพียงพอมาช่วยในสถานการณ์ที่คับขัน ยืนยันว่าฝ่ายพยาบาลทราบกฎระเบียบเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ฝ่ายการพยาบาล 11 โรงพยาบาลได้รับคำสั่งจากผู้บริหารให้กลับไปทบทวนแก้ไขเรื่องดังกล่าว โดยเน้นแก้ปัญหาที่ระบบมากกว่าการหาตัวผู้ร้องเรียน

ขณะที่ ฤดีวรรณ รัตนานุวัติ หัวหน้าพยาบาล โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า  โรงพยาบาลทั้ง 11 แห่ง มีการดูแลกันทั้งในเรื่องการจัดเวรและความทุกข์สุขของพยาบาล รวมถึงมีการช่วยเหลือกันและกันระหว่างโรงพยาบาลด้วย ซึ่งเป็นการทำตามความสมัครใจ ไม่ได้มีการบังคับน้อง ๆ แต่อย่างใด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active