“สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน” หวั่นจัดสรร “แพทย์ใช้ทุน” ลดลงกระทบระบบสาธารณสุข

“สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน” ห่วงกระทบปีถัดไป ด้าน “นพ.ทวีศิลป์” ยัน แพทย์จบใหม่ไม่ขาดแคลน ให้ย้อนดูข้อมูลว่าเป็นเขตสุขภาพที่เคยได้แพทย์มากมาก่อน ชี้ หลังจบฝึกเพิ่มพูนทักษะ จะเติมเต็มหมอโรงพยาบาลชุมชนได้มากกว่า 90% 

ความคืบหน้าสถานการณ์แพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรือแพทย์ใช้ทุน (intern) ปี 1 ในหลายโรงพยาบาลขาดตำแหน่ง จนต้องเปิดรับเพิ่มเอง และโรงพยาบาลหลายแห่ง แพทย์ intern ปี 2 ไม่สามารถย้ายไปโรงพยาบาลชุมชนได้ เพราะโรงพยาบาลศูนย์อัตรากำลังไม่พอ 

จากข้อมูลเทียบการเปิดรับตำแหน่งแพทย์ใช้ทุนปีที่ 1 เทียบกับปี 2565 พบว่าจำนวนทั้งหมดเท่ากัน แต่มีการแบ่งสัดส่วนแต่ละเขตสุขภาพแตกต่างกันไปจากเดิม ทำให้หลายจังหวัด แพทย์น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เปรียบเทียบจำนวนปี 2565 กับปี 2566 

  • เขตสุขภาพที่ 6 (สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ชลบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด) ได้รับโควตา 36 คน จากเดิม 46 คน ลดลงไป 10 คน
  • เขตสุขภาพที่ 5 (เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี) ได้รับโควตา 65 คน จากเดิม 96 คน ลดลงไป 31 คน
  • เขตสุขภาพที่ 12 (สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ได้รับโควตา 4 คน จากเดิม 47 คน ลดลงไปมากถึง 43 คน
ที่มา: สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน

สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน มีความกังวลว่า อาจทำให้ในปีถัดไป บางโรงพยาบาลจะมีจำนวนแพทย์ intern เข้ามาปฏิบัติงานน้อยลง ซึ่งทำให้ผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่เดิมจะต้องทำงานหนักมากขึ้น โดยเฉพาะในบางแห่งที่มีจำนวนแพทย์ intern ลดลงหลักสิบคน การอยู่เวรก็จะมากขึ้น เช่น ในบางรายที่ปัจจุบันต้องอยู่ 10 เวร หากจัดสรรโควตาลักษณะนี้ในปีหน้าอาจต้องอยู่ 15-20 เวร 

ล่าสุด วันนี้ (2 มิ.ย. 2566) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า บางเขตสุขภาพได้รับจัดสรรแพทย์ intern ลดลงนั้น หากดูข้อมูลย้อนหลังจะพบว่าเป็นเขตสุขภาพที่เคยได้มากมาก่อน อย่างไรก็ตาม การจัดสรรแพทย์ของปีนี้ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ โดยรอบปกติที่จัดสรรไปแล้วประกอบด้วย แพทย์ทั่วไปจับสลาก 685 คน แพทย์โครงการผลิตแพทย์เพิ่ม 885 คน แพทย์หลักสูตรเวชศาสตร์ครอบครัว 119 คน แพทย์พี่เลี้ยง 166 คนแพทย์สังกัดกรมฯ 6 คน ข้าราชการลาศึกษา 19 คน แพทย์สังกัดคณะแพทยศาสตร์ฝากฝึก (แพทย์นอกสังกัดฝากฝึก) 134 คน และยังมีแพทย์ที่อยู่ระหว่างการบรรจุรอบพิเศษ เมื่อมีคุณสมบัติครบถ้วน ซึ่งเมื่อรวมแพทย์ทั้งหมดที่จะจบการฝึกอบรมเพิ่มพูนทักษะในปีที่ 1 แล้ว จะสามารถเติมเต็มความขาดแคลนแพทย์ของโรงพยาบาลชุมชนได้มากกว่า 90%

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน

สำหรับแพทย์ใช้ทุนส่วนของกระทรวงสาธารณสุข มี 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มแพทย์โครงการที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมผลิต รวมถึงแพทย์พี่เลี้ยงและแพทย์หลักสูตรเวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งกระจายโควตาไว้ในแต่ละเขตสุขภาพแล้ว และ 2) กลุ่มแพทย์ใช้ทุนโครงการทั่วไป ที่ผลิตโดยสถาบันแพทยศาสตร์ (กสพท.) ซึ่งจะมีการจับสลากเลือกพื้นที่ เพื่อเติมโควตาที่ยังว่างในแต่ละเขตสุขภาพ

การคิดโควตาแพทย์ใช้ทุนจะมีคณะกรรมการกลั่นกรองตามลำดับชั้น และใช้ข้อมูลหลายส่วนประกอบกัน ทั้งข้อมูลแพทย์ของโรงพยาบาลชุมชนที่ยังขาดแคลน ข้อมูลการจัดสรรแพทย์ย้อนหลัง 5 ปี จำนวนแพทย์ที่คงอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน จำนวนแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาในปีนั้น และนำมาเกลี่ยการจัดสรรให้เหมาะสม 

โดยในปี 2566 ได้รับจัดสรรแพทย์ใช้ทุนปี 1 จำนวน 2,014 คน ขณะที่โรงพยาบาล 116 แห่ง สามารถฝึกอบรมเพิ่มพูนทักษะได้ 3,157 คน เขตสุขภาพที่มีศักยภาพการฝึกอบรมแพทย์เพิ่มพูนทักษะค่อนข้างสูง จึงมีการจัดสรรแพทย์นอกสังกัดฝากฝึก เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาทางหนึ่ง 

ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ ยอมรับว่า โรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไปบางแห่งที่มีภาระงานมาก มีวิธีการบริหารจัดการ เช่น จัดให้แพทย์ใช้ทุนปี 2 ปี 3 มาช่วยปฏิบัติงานในโรงพยาบาลศูนย์ โดยจัดให้ระยะเวลาการปฏิบัติในโรงพยาบาลชุมชนน้อยลง 

สำหรับโรงพยาบาลที่เป็นสถาบันฝึกอบรมเพิ่มพูนทักษะแพทย์ 116 แห่ง ซึ่งกระจายอยู่ทุกเขตสุขภาพ เพื่อให้แพทย์ที่ไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนในพื้นที่ได้มีโอกาสเพิ่มพูนประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยที่หลากหลาย รวมถึงได้รับการถ่ายทอดทักษะความชำนาญจากแพทย์รุ่นพี่ที่ประจำอยู่ในโรงพยาบาลต่างๆโดยกำชับทุกแห่งให้ความสำคัญ 2 ส่วน คือ 

1) ความเป็นอยู่ ให้ดูแลทั้งเรื่องที่พัก สิ่งอำนวยความสะดวก 

2) การเพิ่มพูนทักษะ ต้องจัดการเรียนการสอน ภายใต้การดูแลของแพทย์ประจำโรงพยาบาลตามแนวทางที่แพทยสภากำหนด จัดแพทย์ประจำดูแลควบคู่ทุกเวรโดยเฉพาะการปฏิบัติงานที่ห้องฉุกเฉิน ทั้งนี้ จะมีการส่งข้อมูลข้อดีข้อเสียที่ได้รับมาเพื่อสะท้อนให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้รับทราบด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active