จี้ ผอ.รพ.แก่งกระจาน รับผิดชอบกรณี “กิ๊ป ต้นน้ำเพชร” เสียชีวิต

ปลัด สธ. ขอเวลา 15 วันเร่งตรวจสอบรายละเอียดความผิดพลาด  ล่าสุด เดือน มี.ค ที่ผ่านมา เพิ่งไปลงไปเยี่ยมโรงพยาบาลแก่งกระจาน และชูต้นแบบจัดระบบดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล ขณะที่สถานการณ์ไข้เลือดออกป่วยพุ่ง ตั้งแต่ต้นปี 66 พบ 1.6 หมื่นคน เสียชีวิต 17 คน

วันนี้ (29 พ.ค. 2566) ที่หน้าสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายประชาชนพิทักษ์สิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรม ได้นำพวงหรีดของผู้อำนวยการโรงพยาบาลแก่งกระจาย ซึ่งได้นำมาไว้อาลัยในงานสวดพระอภิธรรมศพ “กิ๊ป ต้นน้ำเพชร” ผู้นำสตรีชาวบางกลอย ไปคืนไว้ที่ป้ายกระทรวงสาธารณสุข พร้อมแถลงข้อเรียกร้องให้ปลัดกระทรวงคำนึงถึงมนุษยธรรมและหลักการสิทธิมนุษยชนแสดงความรับผิดชอบและให้ความเป็นธรรมต่อการเสียชีวิตจากการเข้าไม่ถึงและถูกเลือกปฏิบัติจากบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ 

วรา จันทร์มณี เลขาธิการเครือข่ายฯ กล่าวว่า ครอบครัวและสังคมเชื่อว่าการเสียชีวิตของ “กิ๊ป”​ เกิดจากการปฏิบัติงานที่บกพร่องของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแก่งกระจาน รวมถึงในส่วนของโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี ก็มีความบกพร่อง ซึ่งเครือข่ายฯ มองว่าความบกพร่องดังกล่าวเกิดจากความไม่ตระหนักในหลักการสิทธิมนุษยชน โดยมีอคติเห็นคนไม่เท่ากัน มีการเหยียดกลุ่มชาติพันธุ์ จึงขอให้กำหนดมาตรการป้องกันปัญหาที่จะเกิดซ้ำในอนาคต ภายใต้หลักการ ‘คนเท่ากัน’ ซึ่งนี้เครือข่ายฯ ได้เรียกร้อง 4 ข้อ

  1. ขอให้ลงโทษผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแก่งกระจานที่บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้นางสาวกิ๊ปเสียชีวิต
  2. ขอให้ลงโทษเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี ที่ใส่ท่อช่วยหายใจโดยไม่อธิบายชี้แจงและสอบถามความสมัครใจจากญาติ
  3. ขอให้เยียวยาความเสียหายแก่ครอบครัวนางสาวกิ๊ปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 41 และกฏหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ในอัตราสูงสุด โดยขอให้คำนึงถึงหลักมนุษยธรรม เนื่องจากผู้เสียชีวิตจากไปในอายุเพียง 44 ปี มีบุตรที่ต้องเลี้ยงดูอยู่ข้างหลังถึง 7 คน อีกทั้งสามีก็สุขภาพไม่แข็งแรง
  4. ขอให้กำหนดมาตรการป้องกันปัญหาที่จะเกิดซ้ำในอนาคตอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาลแก่งกระจาน ซึ่งได้รับคำร้องเรียนมากจากชาวบ้านมากถึงการปฏิบัติที่ไม่มีมนุษยสัมพันธ์ ขอให้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติต่อชาวกะเหรี่ยงอย่างคนปฏิบัติกับคนเท่ากัน โดยคำนึงถึงจรรยาบรรณในอาชีพ ไม่แบ่งแยกเลือกปฏิบัติหรือเหยียดกลุ่มชาติพันธุ์ 

ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ขอเสนอให้กระทรวงจัดกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งสามารถขอความร่วมมือจากเครือข่ายฯ และภาคีด้านสิทธิมนุษยชน ร่วมแลกเปลี่ยนศึกษาเรียนรู้พูดคุยรับฟังปัญหาจากพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอย โดยเปิดให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนรวมในกิจกรรมนี้ด้วย มิใช่คุยกันเฉพาะเจ้าหน้าที่กับชาวชาติพันธุ์ พร้อมกันนี้เครือข่ายฯ 

นฐวรรณ เพ็งไพบูลย์ รองผอ.ศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ สธ. เป็นตัวแทนมารับหนังสือร้องเรียน จากเครือข่ายฯ

วรา บอกกับ The Active ว่าในระหว่างที่มีงานศพ ทำไมปลัด สธ. ไม่ส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางไปคุยกับญาติ คุยกับชาวบ้านจะได้รู้ถึงปัญหา เมื่อท่านเป็นผู้บังคับบัญชา ผอ.โรงพยาบาลแก่งกระจาน ดังนั้นควรอำนวยความสะดวกพัฒนาโรงพยาบาล

“ผมไปอยู่งานศพ 3 วันสุ่มถามพูดคุยกับชาวบ้าน เขาโดนปฏิบัติเช่นพูดจาไม่สุภาพ ตะคอกใส่ เหมือนที่รพ.รัฐหลาย รพ.มีปัญหา โดยเฉพาะคนจน คนกะเหรี่ยง คือมีค่านิยมบางอย่างที่มองเขาเป็นอีกชนชั้นหนึ่ง ไม่ใช่คนเหมือนเราชาวบ้านเขารู้สึกอย่างนี้ ถ้ายังเป็นอย่างนี้อีก เราก็ต้องมาทักท้วง ในกรณีการปฏิบัติของ รพ.แก่งกระจานอีก” 

วรา กล่าว

วรา ยังได้เปิดเผยไทม์ไลน์ของเหตุการณ์การเสียชีวิตของกิ๊ป โดยหลังจากได้สอบถามพูดกับกับ ปีกนก ต้นน้ำเพชร สามี กิ๊ป และลูกสาวคนโต จันทร ต้นน้ำเพชร ไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ได้ดังนี้ 

  • วันศุกร์ ที่ 19 พ.ค.2566 กิ๊ปเริ่มมีไข้ แต่ยังทำงานบ้านได้
  • วันเสาร์ ที่ 20 พ.ค.2566 กลางวันยังทำงานบ้านได้ แต่ไข้เริ่มมากขึ้น กลางคืนยิ่งมาก 
  • วันอาทิตย์ ที่ 21 พ.ค.2566 กิ๊ปอาการไม่ค่อยดี ปีกนก (สามี) จึงพาเดินทางจากบางกลอยล่าง มา รพ.แก่งกระจาน (ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง) มาถึง รพ.แก่งกระจาน เวลาประมาณ บ่าย 2- บ่าย 3  แต่พยาบาลกลับแจ้งว่าแผนกเจาะเลือดปิดแล้ว ให้มาพรุ่งนี้ ปีกนกจึงพากิ๊ปไปพักที่บ้านญาติในแก่งกระจาน เพราะพรุ่งนี้จะได้ไป รพ.แต่เช้า
  • วันจันทร์ ที่่ 22 พ.ค.2566 ปีกนกพากิ๊ปไป รพ.แก่งกระจาน แต่เช้า ได้คิวแรก ๆ แต่กลับได้ตรวจคนสุดท้ายหรือเกือบสุดท้าย ในตอนเที่ยง พอตอนบ่าย รพ. ให้น้ำเกลือ จนกลางคืนกิ๊ปอาการหนัก ถูกส่งตัวไป รพ.จังหวัด ในเวลาประมาณ 2-3 ทุ่ม คืนนั้นกิ๊ปนอนเจ็บปวดทรมานในตัวร้อนเหมือนมีไฟทั้งคืน
  • วันอังคาร 23 พ.ค.2566 ประมาณ 10 โมงเช้า รพ.จังหวัดสอดสายออกซิเจนแต่ไม่ได้อธิบายหรือขออนุญาตปีกนกให้เข้าใจ จนเวลาก่อนเที่ยงกิ๊ปถูกนำเข้าห้อง ICU (ปีกนกเล่าว่าก่อนที่จะวางท่อ กิ๊ปก็ยังคุยได้ พูดรู้เรื่อง แต่หลังจากวางท่อกิ๊ปก็ไม่ลืมตาซะแล้ว)
  • วันพุธ 24 พ.ค.2566 ประมาณ 8 โมงเช้า รพ.จังหวัด ขอปั๊มหัวใจ ตอนเที่ยงเมื่อญาติ ๆ ไปเยี่ยมกิ๊ปก็ไม่รู้สึกตัวแล้ว จนถึงเวลา 6 โมงเย็นกิ๊ปก็เสียชีวิต
  • วันเสาร์ 27 พ.ค.2566 ผอ.รพ.แก่งกระจานมาวางพวงหรีด ขออภัยเรื่องการบริการที่ล่าช้า และยังแจ้งว่าวันเสาร์อาทิตย์ แผนกเจาะเลือด ปิด 4 โมงเย็น

“ถ้าเป็นไปตามไทม์ไลน์ อย่างนี้ มีอคติหรือไม่ก็ตาม ท่านบกพร่องตามหน้าที่ ไปวันอาทิตย์ก่อน 4 โมงเย็นทำไมไม่ตรวจเขา พอวันจันทร์ ก็ไปแต่เช้าไปหยิบบัตรคิวแรก ๆ ทำไมไปตรวจเขาตอนเที่ยง นี่คืออะไร จะอธิบายว่าอคติ  หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ จะให้เรียกว่าอะไร ท่านก็รู้ว่าไข้เลือดออกอาการหนักในช่วงวันที่ 4-5 มีอันตรายถึงชีวิต”

วรา ตั้งข้อสังเกต

ปลัด สธ.เพิ่งไปเยี่ยม โรงพยาบาลแก่งกระจาน ชูต้นแบบจัดระบบดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล เมื่อเดือน มี.ค ที่ผ่านมา 

วันเดียวกันผู้สื่อข่าวสอบถาม นายแพทย์ โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้มอบทีมงานไปสอบสวนดูว่าเกิดจากอะไร เพราะจะมีรายละเอียดที่ต้องทำความเข้าใจ โรคไข้เลือดออกอาการช่วงแรก ๆ จะเหมือนกับโรคอื่นหลายโรค ทั้งโควิด ไข้หวัดใหญ่ โรคฉี่หนู ถ้ามาครั้งแรกจะไม่มีใครวินิจฉัยได้ ถ้ามาครั้งแรกแล้วยังไม่ดีขึ้น ให้กลับไปพบแพทย์คนเดิม บางทีมีการเปลี่ยนสถานที่รักษาบ่อยก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่ ก็คงต้องดูทั้งสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องกัน พร้อมทั้งให้ รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ รับเรื่องจากเครือข่ายไว้ 

“ต้องย้ำเตือนโรคไข้เลือดออกจริง ๆ ระยะแรกไม่ใช่โรคที่วินิจฉัยได้ง่าย ต้องให้ความใส่ใจและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด จะย้ำเตือนและมีหนังสือสั่งการไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดให้ใส่ใจเรื่องไข้เลือดออกเพิ่มเติม” 

ปลัด สธ. ระบุ

ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รับการยื่นหนังสือจากทางเครือข่าย และ กระทรวงสาธารณสุขขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิต ส่วนเรื่องของการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากบริการทางการแพทย์นั้น สามารถประสานยื่นเรื่องไปยัง สปสช.ได้ ซึ่งจะมีการพิจารณาเยียวยาตามมาตรา 41 โดยไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด

สำหรับโรงพยาบาลแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี นั้นถือว่าเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ประมาณ 40% ของจังหวัด อยู่ห่างไกลติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีข้อจำกัดเรื่องการเดินทางมารับบริการ และการส่งต่อผู้ป่วย นอกจากประชากรในพื้นที่กว่า 33,000 คน ยังดูแลประชากรในเรือนจำ 2,192 คน และกลุ่มชาติพันธุ์ อีก 3,650 คน

ผู้สื่อข่าว The Active พบว่า เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พึ่งลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม โรงพยาบาลแก่งกระจาน  และขอชื่นชม แพทย์หญิงอนุธิดา ประทุม ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ที่บริหารจัดการโรงพยาบาลให้สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างดี ทั้งการย้ายสิทธิการรักษาของประชากรในเรือนจำมาที่โรงพยาบาล การดูแลกลุ่มคนไทยไร้สิทธิและกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสวัสดิการการรักษาพยาบาลได้มากขึ้น

ภาพจาก สำนักสารนิเทศ​ กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 4 มี.ค. 2566

นพ.โอภาส บอกในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมครั้งนั้นด้วยว่า  โรงพยาบาลแก่งกระจานยังมีการพัฒนาระบบบริการให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ที่มีข้อจำกัดเรื่องการมารับบริการและการส่งต่อผู้ป่วย โดยสร้างเครือข่ายการรักษาผ่านระบบ Tele Health ร่วมกับ รพ.สต. 9 แห่ง สุขศาลาพระราชทาน 2 แห่ง และคลินิกปฐมภูมิ 4 แห่ง ที่กระจายอยู่ภายในอำเภอ เพื่อดูแลผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุม ส่งผลให้ในปี 2565 ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้พิการ ได้รับการดูแลครบ 100% ส่วนผู้สูงอายุติดสังคมและกลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลกว่า 90% ส่วนพื้นที่ห่างไกลใช้เวลาเดินทางไปกลับถึง 4 ชั่วโมง ได้ร่วมกับเครือข่ายชุมชนวางระบบนำส่งผู้ป่วยมาเปลี่ยนถ่ายให้รถโรงพยาบาลระหว่างทาง ช่วยลดระยะเวลาให้ผู้ป่วยถึงมือแพทย์เร็วขึ้น

(จากซ้าย คนที่ 2) พญ.อนุธิดา ประทุม ผอ.รพ.แก่งกระจาน / ภาพจาก สำนักสารนิเทศ​ กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 4 มี.ค. 2566

ขณะที่ พญ.อนุธิดา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแก่งกระจาน ก็บอกว่าระยะต่อไปมีแผนจะพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลให้ตอบสนองการบริการผู้ป่วยได้มากขึ้น เช่น จัดระบบ Tele Health ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ที่อยู่ห่างไกลให้สามารถสื่อสารทางตรงกับโรงพยาบาลได้ทันที เพิ่มการรับส่งต่อผู้ป่วยเร่งด่วนฉุกเฉินด้วย Sky Doctor ซึ่งจะยิ่งลดระยะเวลาถึงมือแพทย์จาก 2 ชั่วโมง เหลือ 15 นาทีช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้ผู้ป่วยในภาวะวิกฤต 

รวมทั้งจะพัฒนาให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเป็นอีกหนึ่งหน่วยบริการดูแลส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ (Health Promotive and Preventive Clinic Elderly Care) มีระบบ Drive Thru ในการเจาะเลือด รับยา ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น พร้อมทั้งเตรียมปรับภาพลักษณ์โรงพยาบาลให้สวยงาม ทันสมัย ตอบสนองความต้องการประชาชนในทุกด้าน เพื่อให้ผู้มารับบริการประทับใจและกลับบ้านไปด้วยรอยยิ้ม

“ไข้เลือดออก” ป่วยพุ่ง ตั้งแต่ต้นปีพบ 1.6 หมื่นราย 

สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออก นพ.โอภาส ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุสถานการณ์โรคไข้เลือดออกจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก โดยตั้งแต่ต้นปี ม.ค. 2566 มีผู้ป่วยแล้ว 16,650 คนมากกว่าปีที่แล้วหลายเท่า เสียชีวิตแล้ว 17 คนคาดว่าเดือนหน้าป่วยเพิ่มอีกหลังเข้าฤดูฝน ดัชนีลูกน้ำยุงลายสูง ทั้งโรงเรียน วัดสถานที่ราชการ โรงงาน ได้ประสาน กระทรวงศึกษาธิการ สำรวจกำจัดแหล่งยุงลาย ขณะนี้มีผู้เสียชีวิต 17 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ มีภาวะอ้วนยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิต บางส่วนมีไข้แต่คิดถึงโควิดก่อน ทำให้รักษาช้า เหตุอาการคล้ายหลายโรค วินิจฉัยได้ยาก เตรียมทำหนังสือทุกจังหวัดเฝ้าระวัง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active