จี้ กฤษฎีกา เร่งรัดจัดทำ พ.ร.ฎ. คืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

หลังคนไทยนอกสิทธิบัตรทอง เสียสิทธิเข้ารับการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคเข้าเดือนที่ 7 ขณะที่ สปสช.ยังค้างจ่ายหน่วยบริการเอกชนที่ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี กว่า 49 ล้านบาท  

วันนี้ (8 พ.ค. 2566) ภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้คนไทยทุกคน รวมตัวกันที่ด้านหน้าสำนักงานสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อยื่นหนังสือติดตามทวงถาม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้เร่งรัดการตราพระราชกฤษฎีกาสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 

โดย รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้แทนภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้คนไทยทุกคน กล่าวว่า จากการที่ อนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ลงนามในประกาศที่เกี่ยวข้องกับสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในปีงบประมาณ 2566 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำให้สิทธิสุขภาพดังกล่าวครอบคลุมเฉพาะกลุ่มสิทธิหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทองเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผลแห่งการไม่ลงนาม ส่งผลให้ประชาชนไทยที่มีสิทธิสุขภาพนอกสิทธิบัตรทองประมาณ 20 ล้านคน ที่เคยได้รับมาการดูแลโดยตลอดตั้งแต่มีพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพในปี 2545 ซึ่งแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะหาทางออกด้วยการออกด้วยแนวทางการตราพระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 9 และมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมผลักดันการเสนอ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับในหลักการ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกานำไปพิจารณาก่อนตราออกเป็นพระราชกฤษฎีกาต่อไปขณะนี้ได้ล่วงเลยเวลามานาน หากนับตั้งแต่วันที่คนไทยนอกสิทธิบัตรทองได้เสียสิทธิเข้ารับการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคไป ก็ย่างเข้าเดือนที่ 7 หรือไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2566 แล้ว 

ขณะที่บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคหลายด้านก็ยังคงให้บริการต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พบข้อมูลชี้ชัดว่าความเสียหายจากความล่าช้านี้มีทั้งในระดับปัจเจกและระดับองค์กร ดังนี้ 

(1) ในระดับปัจเจก คนไทยนอกสิทธิบัตรทองต้องจำใจจ่ายค่าบริการด้วยตนเองโดยไม่สมควร ทั้งที่รัฐได้ตั้งงบประมาณส่วนนี้ไว้แล้ว และยังรวมถึงผู้ที่เสียโอกาสในการเข้ารับบริการสร้างเสริมป้องกันโรคเนื่องจากไม่มีกำลังจ่ายค่าบริการตั้งแต่ต้น ความเสียหายในระดับปัจเจกนี้เองที่ส่งผลในภาพรวมของปัญหาสาธารณสุขไทยในอนาคต แม้ว่าผลกระทบได้ในปัจจุบันยังไม่ชัดเจน แต่การเข้าไม่ถึงกลไกการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอย่างถ้วนหน้า ย่อมส่งผลในระยะยาวต่อประเทศในด้านความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยที่มากขึ้นและการควบคุมโรคที่ไร้ประสิทธิภาพที่ไม่ครอบคลุมประชนชนทุกคน    

(2) ในระดับองค์กร สถานบริการจำนวนมากทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ให้บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2566 ให้กับผู้รับบริการทุกสิทธิสุขภาพ และได้ลงข้อมูลในระบบเพื่อเบิกค่าใช้จ่ายกับทาง สปสช. แต่ สปสช. ยังคงค้างจ่ายค่าบริการกลุ่มนอกสิทธิบัตรทองอยู่ ทั้งนี้ สปสช. ไม่ได้รับการแจ้งข่าวสารใด ๆ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2566 ดังนั้น ในไตรมาสที่สองของปีงบประมาณ บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคหลายด้านจึงให้บริการโดยเก็บค่าบริการตามจริงจากประชาชนนอกสิทธิบัตรทอง แต่บริการบางด้าน เช่น การให้ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีนั้นจำเป็นต้องให้ยาต่อเนื่องเพื่อการป้องกันที่ได้ผล โดยไม่สามารถเบิกคืนค่าบริการจาก สปสช.ได้เลย 

ภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้คนไทยทุกคน  ซึ่งประกอบด้วยองค์กร กลุ่ม และเครือข่ายที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค สุขภาวะของเด็ก เยาวชน ผู้หญิง ผู้มีความหลากหลายทางเพศ รัฐวิสาหกิจ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี พนักงานบริการ องค์กรด้านแรงงาน และผู้ให้บริการสุขภาพ รวม 130 องค์กร  ได้สำรวจความเสียหายบางส่วนจากบริการที่ได้ให้ค่าบริการกลุ่มนอกสิทธิหลักประกันสุขภาพ เฉพาะที่ได้ลงข้อมูลในระบบเพื่อเบิกคืนจาก สปสช. และยังคงค้างจ่ายถึงปัจจุบัน ดังต่อไปนี้

(1) บริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ ได้แก่ การฝังยาคุมกำเนิด และการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ได้ข้อมูลจากสถานบริการภาคเอกชนเพียง 3 แห่ง พบว่า สปสช. ยังคงค้างจ่ายค่าบริการกลุ่มนอกสิทธิหลักประกันสุขภาพเป็นจำนวนรวม 1,004,500 บาท ซึ่งส่วนใหญ่คือบริการที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ ส่วนในไตรมาสที่สอง หลังจากพบว่าผู้รับบริการนอกบัตรทองไม่สามารถเบิกจาก สปสช. สถานบริการก็จำเป็นต้องให้ผู้รับบริการรับภาระจ่ายเอง

(2) บริการด้านป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ได้ข้อมูลจากสถานบริการภาคเอกชน5 แห่ง พบว่า สปสช. ยังคงค้างจ่ายค่าบริการกลุ่มนอกสิทธิหลักประกันสุขภาพเป็นจำนวนรวม 49,677,344 บาท ซึ่งในกรณีนี้แม้ทราบว่าผู้รับบริการนอกบัตรทองไม่สามารถเบิกจาก สปสช. ก็ยังคงให้บริการอย่างต่อเนื่องตามหลักวิชาการทางการแพทย์

“ค่าบริการที่ สปสช. ยังคงค้างจ่ายสถานบริการที่ได้ให้บริการกลุ่มนอกสิทธิบัตรทองตามที่ได้กล่าวมานั้น เป็นจำนวนเงินเพียงส่วนน้อยบนยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น จำนวนความเสียหายต่อสถานบริการสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชนยังมีมากมายกว่านี้ ทางภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตระหนักว่า การเร่งตราพระราชกฤษฎีกาที่มีผลต่อการเบิกจ่ายของ สปสช. ตลอดปีงบประมาณ 2566 นั้น เป็นทางออกทางเดียว ณ ขณะนี้ที่จะทำให้ระบบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคสามารถเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคง” 

ภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จึงขอเรียกร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ดำเนินการ ดังนี้

(1) เร่งรัดการพิจารณาและจัดทำพระราชกฤษฎีกา เพื่อคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้ทุกคนในประเทศให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้คนไทยทุกสิทธิสุขภาพสามารถเข้าถึงสิทธิที่พึงมีได้อย่างแท้จริง และลดปัญหาสาธารณสุขที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

(2) ขอให้พระราชกฤษฎีกาที่จะจัดทำขึ้น มีผลบังคับใช้ต่อบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่เกิดขึ้นตลอดปีงบประมาณ 2566 ที่ สปสช. มีงบประมาณรองรับไว้แล้ว ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดการฟ้องร้องทางกฎหมายต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่เกิดขึ้นจากการคงค้างจ่ายค่าบริการที่ยังเบิกคืนไม่ได้เป็นจำนวนหลายล้านบาท

ภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ในนามของผู้เสียสิทธิสุขภาพจำนวน 20 ล้านคน ตระหนักว่าการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็น “สิทธิสุขภาพ” ที่ได้มาจากเงินภาษีของทุกคน นอกเหนือไปจากสิทธิการรักษาพยาบาล จึงเป็นหน้าที่ที่รัฐจะต้องหาแสวงหาแนวทาง เร่งรัดเพื่อจัดสรรให้คนไทยทุกคนโดยไม่แบ่งแยก ทั้งนี้ ความล่าช้าของกระบวนการตรากฤษฎีกานั้นอาจคือความมอยุติธรรม และเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เพราะนำมาสู่การการลิดรอนสิทธิสุขภาพที่ประชาชนพึงมีอยู่แล้ว 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active