“หมอประสิทธิ์” แนะงดวิ่งกลางแจ้ง เหตุ PM 2.5 ยังวิกฤต

งานวิจัยต่างประเทศพบผู้ป่วยมะเร็งปอดในคนที่ไม่สูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ศาลปกครองเชียงใหม่ นัดไต่สวนกรณีภาคประชาชนยื่นฟ้อง “พลเอกประยุทธ์” ไม่สั่งการให้แก้ปัญหา PM 2.5

วันนี้ (16 มี.ค. 2566) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานกรรมการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) HA เปิดเผยกับ The Active ว่า  ข้อมูลทั่วโลกในการศึกษาผลของ PM 2.5 กระทบต่อสุขภาพ มีรายงานอย่างชัดเจนมากขึ้น จากสถาบันแห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักร ซึ่งรายงานออกมาพบว่าอุบัติการของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดในคนที่ไม่สูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ที่มีระดับ PM 2.5 สูง ขณะเดียวกันการติดตามวิเคราะห์ PM 2.5 ไม่ได้เป็นเฉพาะที่ปอด แต่เข้าไปในกระแสเลือด ส่งผลต่ออวัยวะภายใน 

นพ.ประสิทธิ์ มองว่านี่เป็นสัญญาณเตือนภัย สำหรับสังคมไทยปีนี้เราเจอ PM 2.5 มากและลากยาวโดยปกติแล้วในกรุงเทพมหานคร จะเจอฝุ่น PM 2.5 ช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงมกราคม พอถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ก็จะหมดฤดูฝุ่น แต่ปีนี้เดือนมีนาคม ฝุ่นก็ยังไม่หมดไป ถ้าใครเข้าไปดูในแอพพลิเคชั่นอากาศจะเห็นว่ามีมวลอากาศก้อนใหญ่จากจีนที่กำลังจะพาลงมาเป็นปัจจัยที่เราคุมไม่ได้ แต่ปัจจัยที่เราคุมได้คือต้องลดการเผาในที่โล่ง มลภาวะจากรถยนต์ 

ขณะที่หน้ากากบางอย่างที่เราใช้กัน โควิด-19 พอได้แต่ใน PM 2.5 กันไม่ได้ แม้หน้ากากอนามัยบางชนิดจะกรอง PM 2.5 ได้ แต่ถ้ามันใส่แล้วไม่แนบไปกับจมูกฝุ่นก็ยังสามารถรอดเข้าไปในระบบเดินทางหายใจได้

อาจต้องกลับมาทบทวนและตระหนักเรื่องนี้ เพราะคนหลายคนคิดว่าตื่นมาตอนเช้าดูเหมือนอากาศดี เดินออกมาถอนหน้ากากแล้วก็วิ่งออกกำลังกาย ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่ PM 2.5 พีคสูง

“ช่วงนี้จริง ๆ อยากแนะนำงดการจัดวิ่งกลางแจ้งทั้งหลายขอให้งด ท่านไม่รู้ตัวหรอกว่าสิ่งที่เข้าไปในร่างกายมันไม่เกิดผลในปีสองปี แต่มันสะสมไปเรื่อย ๆ และก็ไม่อยากให้ประเทศเรามีผู้ป่วยด้วยโรคปอดที่เพิ่มขึ้น” 

นพ.ประสิทธิ์

จากข้อมูลที่ติดตามภายในโรงพยาบาลศิริราช เราเจอผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดที่ไม่ใช่ผู้สูบบุหรี่มากขึ้นจริง ๆ แต่จะบอกว่ามันเกิดจาก PM 2.5 หรือไม่ ยังบอกไม่ได้เต็มที่ แต่อยู่ระหว่างวิจัยเรื่องนี้ 

ถ้าเอาที่มองเห็นชัด ๆ เมื่อก่อนตอนที่ตนเป็นนักศึกษาแพทย์ คนที่เป็นมะเร็งปอด 95% สูบบุหรี่ แต่ตอนหลังที่เราเจอคือคนไม่สูบบุหรี่เป็นมะเร็งปอด ในกลุ่มผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง แต่ตอนนี้คนที่อยู่ในบ้านไม่มีใครสูบบุหรี่เลย ก็ยังพบว่าเป็นมะเร็งปอดได้ 

นี่จึงเป็นข้อพึงเตือนอย่ารอจนตัวเลขชัดเพราะมันจะแก้ไม่ทันการ แก้ไขตอนนี้อาจจะง่ายกว่าโควิดด้วยซ้ำ ก็คือการใส่หน้ากาก การจะออกไปนอกบ้านช่วงกลางวันตอนนี้ ก็ไม่ปลอดภัย เราควรจะดูข้อมูลอยู่ตลอดเวลาว่าพื้นที่ไหนมีความเสี่ยงก็ใส่หน้ากาก เราคุ้นเคยกับการใส่หน้ากากก็ใส่ต่อสักเดือนสองเดือน

ส่วนสิ่งที่สาธารณสุขจะทำได้คือ 1. การให้ความรู้ประชาชนให้ข้อมูลที่ถูกต้องพร้อมกับให้ข้อเสนอแนะ ถึงแม้ข้อมูลมะเร็งปอดตอนนี้ยังไม่ชัดแต่ไม่จำเป็นต้องรอ เราอาจจะอ้างที่อื่นที่มีการศึกษาแล้ว เอามาเตือน

2. มาตรการในการป้องกัน เชิญชวนรณรงค์ประชาชนมอนิเตอร์อากาศตามจุดต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าที่นี่เป็นพื้นที่เสี่ยง สีแดงหรือสีส้มสิ่งนี้คือสิ่งที่รัฐควรจะสื่อสารกับประชาชน 

“ผมคิดว่าต้องรีบมาให้ข้อมูล ผมเชื่อว่าคณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาล คงจะออกมาร่วมกันเตือนเร็ว ๆ นี้” 

นพ.ประสิทธิ์

สถานการณ์ฝุ่นพิษในประเทศไทยอาจเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคเอเชียใต้

เพจ BIOTHAI ระบุ Krishna Vadrevu นักวิจัยจาก NASA Marshall Space Flight Center และคณะ เผยแพร่งานวิจัยชิ้นสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาเผาไหม้ชีวมวลในเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ในวารสาร Nature เมื่อเร็ว ๆ นี้  (29 ตุลาคม 2565) 

แผนภาพดาวเทียมแสดงจุดเผาไหม้ เห็นได้ชัดว่าประเทศไทยอยู่ภายใต้ฝุ่นพิษจากการเผาไหม้ทั้งที่เกิดในประเทศไทยเองและเพื่อนบ้าน โดยการเผาไหม้สูงสุดเกิดขึ้นในประเทศพม่า 409,866 จุด ประเทศไทยรองลงมาที่ 219,482 จุด อันดับ 3 และ 4 คือเพื่อนบ้านใกล้ชิดของเราคือ กัมพูชา 200,712 จุด และลาว 177,161 จุด

ภาพจาก NASA เห็นได้ชัดว่าสถานการณ์ในประเทศไทยน่าจะสาหัสสุดเมื่อเปรียบเทียบกับการเผาไหม้ที่เกิดขึ้นใน 2 ภูมิภาคสำคัญของเอเชีย  เพราะนอกจากผลิตฝุ่นพิษเองแล้วยังได้มลพิษที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ที่มา: เพจ BIOTHAI (มูลนิธิชีววิถี)

การวิเคราะห์ของ NASA ระบุว่าการเผาไหม้ในประเทศไทยย้อนหลังตั้งแต่ ปี 2000 เป็นต้นมา เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรมากกว่าพื้นที่ป่า ยกเว้นปี 2020 ที่พื้นที่ป่ามากกว่าเล็กน้อย 

การเผาในประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงยกเว้นลาวเกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 1 ใน 3 แต่โชคร้ายที่พื้นที่เกษตรกรรมเช่นข้าวโพดในพม่า หรืออ้อยในกัมพูชาดันอยู่ใกล้ชายแดนประเทศไทย  และมีเอกชนยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและลงทุนเพื่อผลิตวัตถุดิบและแปรรูปพืชอุตสาหกรรมดังกล่าว

“ภายใต้การเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ มีพรรคการเมืองใดบ้างที่นำเสนอนโยบายเพื่อจัดการปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนอย่างหนักหนาสาหัสนี้?” 

BIOTHAI ระบุ

ศาลปกครองเชียงใหม่ นัดไต่สวนกรณีภาคประชาชนยื่นฟ้อง พลเอกประยุทธ์ ไม่สั่งการให้แก้ปัญหา PM 2.5

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ศาลปกครองเชียงใหม่ ได้มีคำสั่งรับคำฟ้อง ตามที่นายภูมิวชร เจริญผลิตผล ได้ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในกรณีไม่ได้สั่งการให้แก้ปัญหาผลกระทบจากมลพิษฝุ่นควัน PM 2.5 ตามคดีหมายเลขดำที่ ส.1\2566 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา 

การไต่สวนในครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งที่ 4 หลังจากที่ ศาลได้รับคำฟ้อง มี  ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำผลงานวิจัย ผลกระทบสุขภาพจาก PM 2.5 เข้าเป็นพยานต่อศาล  

ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ที่มาเป็นพยานในครั้งนี้ เพราะอยากให้ภาครัฐหันมาแก้ปัญหามลพิษอย่างจริงจัง เพราะผลงานวิจัยชี้ให้เห็นแล้วว่า ส่งผลกระทบกับสุขภาพประชาชนอย่างร้ายแรง

ที่ผ่านมา ภาครัฐแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามาโดยตลอด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจ ในการแก้ปัญหา และส่งผลกระทบกับประชาชนมานับ 10 ปี ซึ่งหากจะแก้ปัญหาสุขภาพ ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมกันทำงานเชิงบูรณาการ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง

ภูมิวชร เจริญผลิตผล ชาวบ้านในอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่  เปิดเผยว่าในคดีที่ตนฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เพื่อฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยตรง เพราะตนมองว่า นายกรัฐมนตรียังไม่ได้ดำเนินการให้มีการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะในมิติผลกระทบสุขภาพ ปัญหานี้ต้องแก้ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และผลกระทบสุขภาพควบคู่กัน แต่พบว่ารัฐบาลยังละเลยก่อให้เกิดปัญหาต่อประชาชนอย่างมาก ในฤดูฝุ่นควันที่กำลังเกิดในเวลานี้ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active