ได้ข้อสรุปงบป้องกันโรคฯ ครอบคลุมทุกสิทธิ

สปสช. ได้รับหนังสือตอบกลับจาก “ประกันสังคม-กรมบัญชีกลาง” ยินยอมให้มีการออก พ.ร.ฎ. เพื่อให้งบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคครอบคลุมสิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ ขณะที่ “อนุทิน” สรุปผลงานสาธารณสุข 4 ปี  ก่อนยุบสภา

วันนี้ (1 มี.ค. 2566)  นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารีย์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่าตามที่มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 ก.พ. มอบให้ สปสช. หารือกับสำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง ออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถได้รับสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบของ สปสช.ได้ 

ขณะนี้ สปสช.ได้รับหนังสือตอบกลับจากทั้ง 2 กองทุน ยินยอมให้มีการออกพ.ร.ฎ. เพื่อให้งบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคครอบคลุมสิทธิประกันสังคมและสิทธิข้าราชการ ขั้นตอนหลังจากนี้ คือการนำร่าง พ.ร.ฎ. เข้าบอร์ด สปสช. ในวันที่ 13 มี.ค. คาดว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะสามารถนำเข้าในที่ประชุม ครม. ในวันที่ 14 มี.ค. เพราะเป็นเรื่องงบประมาณ

เลขาธิการ สปสช. บอกอีกว่าการใช้มติ ครม. ถือเป็นทางออกในความกังวลเรื่องการตีความกฎหมาย ซึ่งตลอด 20 ปีที่ผ่านมาไม่เคยได้ฉันทามติจาก 3 กองทุนในการออก พ.ร.ฎ. เพื่อปลดล็อกให้งบส่งเสริมป้องกันโรค ดูแลประชาชนได้ครอบคลุม 70 ล้านคน ไม่ใช่เพียงคนสิทธิบัตรทองอย่างเดียว 

เลขาธิการ สปสช.

“อนุทิน” สรุปผลงานสาธารณสุข 4 ปี  ก่อนยุบสภา

วันนี้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูงครั้งสุดท้ายก่อนรัฐบาลหมดวาระ สรุปผลสำเร็จการดำเนินงาน 4 ปี ระบุว่าช่วยยกระดับระบบสาธารณสุขไทยแข็งแกร่งขึ้น ทั้งจากการควบคุมโรคโควิด-19 โครงการ 3 หมอดูแลประชาชนกว่า 33 ล้านคน 30 บาทรักษาทุกที่ครอบคลุมทั้งประเทศ มะเร็งรักษาทุกที่ 2.46 แสนคนฟอกไตฟรี 8.2 หมื่นคน ปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด

สำหรับนโยบายที่ต้องการให้มีการสานต่อคือ การพัฒนากัญชาทางการแพทย์, 30 บาทรักษาทุกโรครักษาทุกที่, การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง, โครงการ 3 หมอ, การพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพดิจิทัล และระบบเทเลเมดิซีน ทั้งนี้ ได้ย้ำให้ช่วยกันผลักดันให้ไทยได้เป็นเจ้าภาพการจัดงาน Specialize Expo ภูเก็ต 2028 ซึ่งจะช่วยยกระดับประเทศไทยให้เป็นเมดิคัล ฮับ อย่างสมบูรณ์แบบ และสร้างโอกาสสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง 

เฝ้าระวัง “ไข้หวัดนก” ระบาด 

หลังพบผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนก ที่ประเทศกัมพูชาแล้ว 1 คน นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมควบคุมโรค ได้เตรียมการเต็มที่มีศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) ภายในกรมควบคุมโรค แต่ยังไม่ถึงขั้นโควิด-19 หรือโรคไข้หวัดนกช่วงก่อนหน้านี้ที่ต้องประชุมทุกเช้า เพราะสถานการณ์ปัจจุบัน ความพร้อมของทรัพยากร และความรู้ของเราที่มีสามารถใช้ป้องกันโรคได้ อะไรที่ควรจะเน้นเราก็มาประมวลกัน เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย

ด้าน นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  ในวันที่ 2 มี.ค. จะมีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จะมีการหารือประเด็นโรคไข้หวัดนกด้วย หลังจากที่กรมควบคุมโรคได้รับรายงานก็เฝ้าระวังร่วมกับกรมอุทยาน เฝ้าระวังร่วมกับจังหวัดชายแดนไทยกัมพูชา ตรวจตราผู้เดินทางและร่วมกับกรมปศุสัตว์ดูแลการนำเข้าสัตว์จากชายแดน ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ติดตามสัตว์ป่วยในพื้นที่โดยเฉพาะสัตว์ปีก

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active