แพทย์เตือน ฝุ่นในเด็กรุนแรงมากกว่า ผู้ปกครองต้องดูแลใกล้ชิด

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ให้ข้อมูลว่าเด็กอาจรับฝุ่นมากกว่าผู้ใหญ่เนื่องจากพฤติกรรมการเล่น และขาดความระวังตัวเอง อาจทำให้ป่วยได้ง่าย ทั้งยังเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้น-ระยะยาว

วันนี้ (4 ก.พ. 2566) สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 สามารถผ่านเข้าไปยังโพรงจมูกและลงสู่ระบบทางเดินหายใจชั้นใน เนื่องจากขนจมูกไม่สามารถกรองได้ ซึ่งในสถานการณ์ที่ฝุ่นละอองขนาดเล็กมีปริมาณมากในอากาศ จะส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งในะระยะสั้นและระยะยาว

นายแพทย์ประวิทย์ เจตนชัย นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า เด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังเป็นพิเศษเพราะเด็กมีขนาดตัวเล็ก ระบบในร่างกายยังอยู่ระหว่างการเจริญเติบโต ปอดยังอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา ขณะที่เด็ก ๆ มักชอบเล่นในที่กลางแจ้ง เมื่อเหนื่อยอัตราการหายใจจะเร็วกว่าผู้ใหญ่ และเด็ก ๆ ยังมีความระวังเรื่องสุขภาพน้อยจึงมีแนวโน้มที่จะไม่สวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น และทำให้มีโอกาสได้รับฝุ่นจำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวของพวกเขา

“ฝุ่นขนาดเล็กมาก ๆ อย่าง PM2.5 สามารถแทรกซึมไปในหลอดเลือดฝอยได้ ผลกระทบระยะสั้น เช่น ไอ จาม คัดจมูก แสบจมูก มีน้ำตา ส่วนผลกระทบระยะยาวคือ มะเร็งปอด ซึ่งเด็กมีโอกาสสัมผัสฝุ่นมากกว่า เพราะมีการป้องกันน้อยกว่า และเด็กยังอาจรับฝุ่นมากกว่าผู้ใหญ่ในปริมาณฝุ่นที่เท่ากันในอากาศ หากคุณภาพของอากาศ มีฝุ่นมากกว่าระดับ 25 ให้เลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน และใส่หน้ากาก N95 เพราะกรองฝุ่นได้ดีกว่าหน้ากากอนามัยทั่วไป”

นายแพทย์ประวิทย์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า สารพิษที่อยู่ในฝุ่นละอองขนาดเล็ก สามารถเข้าสู่ทางเดินหายใจเข้าไปยังถุงลมและแทรกซึมผ่านเข้าไปยังหลอดเลือดฝอยและเข้าสู่กะรแสเลือดได้ ทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากขึ้นอีก ดังนั้นผู้ปกครองหรือผู้ที่มีความรับผิดชอบต้องดูแลเด็ก ๆ จึงควรมีวิธีป้องกันฝุ่น PM2.5 เป็นพิเศษ 1. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน หากจำเป็นต้องให้เด็กใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.ให้ดื่มน้ำสะอาดวันละ 8-10 แก้ว 3.ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด เปิดพัดลมให้อากาศหมุนเวียน และ 4. หากพบว่าเด็กมีอาการผิดปกติให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที

“สำหรับเด็กที่มี โรคประจำตัว ให้ผู้ปกครองเตรียมยาอุปกรณ์ให้พร้อม หากมีอาการไอ จาม หอบหืด ให้ดูแลรักษาตามอาการและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ หากหายใจไม่ออกต้องมาโรงพยาบาล เช่น เป็นหอบหืด ภูมิแพ้ หมอก็จะให้ยาพ่นขยายหลอดลม แต่หากแสบตาก็ล้างตาที่บ้านได้ ซึ่งที่ผ่านมามีเด็กป่วยมาโรงพยาบาลบ้างแต่ยังไม่มีอาการรุนแรง เช่น เป็นผดผื่นคัน…โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี อาจต้องพิจารณาลดหรืองดเวลาการออกนอกบ้าน ส่วนการเรียนอยู่กับบ้าน ก็อาจจะเป็นข้อพิจารณาในเชิงนโยบาย”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active