พบหญิง 7 คน ถูกปฏิเสธยุติการตั้งครรภ์ แม้เสี่ยงพิการ เสียชีวิต

59 เครือข่าย ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง สธ.เร่งกำกับสถานบริการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ตามกฎหมายทำแท้งฉบับใหม่

วันนี้ (27 ก.ค.65) เครือข่ายท้องไม่พร้อมฯ เครือข่ายอาสา RSA สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 และองค์กรภาคีรวม 59 องค์กร ร่วมกันยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ และแพทยสภา เรียกร้องให้กำหนดมาตรฐานการดูแลรักษา พัฒนา และกำกับติดตามการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ ให้เป็นหนึ่งในบริการสุขภาพที่มีมาตรฐาน ให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้ง พ.ศ. 2564 ข้อบังคับแพทยสภา สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ และระบบประกันสังคม ให้เข้าถึงได้อย่างปลอดภัย โดยรวบรวมกรณีศึกษาส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในปี 65

“แพทย์ประเมินว่าลูกในท้องมีโอกาสผิดปกติด้านสมอง จึงแนะนำให้ยุติการตั้งครรภ์ แต่ทางโรงพยาบาลไม่สามารถที่จะยุติครรภ์ให้ได้ จึงแนะนำให้ไปโรงเรียนแพทย์ เธอเดินทางไปโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่งในกรุงเทพฯ ไม่มีที่ไหนรับ…”

 “อายุ 48 ปี มีลูกมาแล้ว 5 คน อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ท้องนี้ไม่พร้อม เพราะเป็นโรคลมชัก เคยผ่าตัดเนื้องอกในสมอง ต่อมาพบเนื้องอกในมดลูก โรงพยาบาลไม่สามารถยุติการตั้งครรภ์จึงส่งปรึกษาต่อเพื่อให้ยกบุตรบุญธรรมหลังคลอด แต่เธอไม่ต้องการตั้งครรภ์ต่อ….”

“ตั้งแต่ท้องมาก็มีเลือดออกมาตลอดแต่ไม่มาก หมอบอกว่ารกเกาะต่ำ จนอายุครรภ์ 19 สัปดาห์พบว่ามีเลือดออกทั้งคืน ไปตรวจที่โรงพยาบาลพบภาวะเลือดจาง อยากยุติการตั้งครรภ์เพราะคลอดลูกคนแรกก็แท้งคุกคามต้องให้เลือด แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าอายุครรภ์เกินกว่าที่จะยุติแล้ว ฉีดยากันแท้งและให้กลับบ้าน จึงพยายามหาข้อมูลเอง มีคนแนะนำให้ซื้อยาจากเน็ตมาใช้เอง….”

เมื่อนำมาวิเคราะห์พบประเด็นปัญหาดังต่อไปนี้

  • กระบวนการตรวจความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์มีขั้นตอนที่ซับซ้อนใช้เวลานาน ส่งผลให้อายุครรภ์มากขึ้นและหากผู้หญิงต้องการยุติการตั้งครรภ์ในระหว่างนั้น จะหาสถานบริการได้ยาก
  • สูตินรีแพทย์จำนวนหนึ่งไม่ได้ยุติการตั้งครรภ์ตามแนวทางราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ เกี่ยวกับการคัดกรองทารกพิการดาวน์ซินโดรม
  • ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมละเลยการปฏิบัติตามแนวทางข้อบังคับแพทยสภา ในข้อ 4 (1) ความเสี่ยงต่อสุขภาพกายและใจ และ ข้อ 4 (2) ทารกเสี่ยงพิการหรือโรคทางพันธุกรรม
  • โรงพยาบาลที่ตรวจความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ไม่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ และไม่ทำเรื่องส่งตัว
  • พบปัญหาส่วนใหญ่ในหญิงตั้งครรภ์ที่ใช้สิทธิประกันสังคม
  • เมื่อพบความเสี่ยงต่อสุขภาพกาย โรงพยาบาลมีกระบวนการตรวจที่รอนานทำให้อายุครรภ์เพิ่มมากขึ้น และละเลยการประสานส่งต่อฯ
  • มีการตั้งคณะกรรมการยุติการตั้งครรภ์ในโรงพยาบาลหลายแห่ง เพื่อพิจารณาว่าสมควรให้บริการหรือไม่ ซึ่งใช้เวลาพิจารณาค่อนข้างนาน ทำให้อายุครรภ์มากขึ้น
  • บุคลากรสุขภาพขาดองค์ความรู้ในด้านวิธียุติการตั้งครรภ์ อายุครรภ์ที่ทำได้ กฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้ง ไม่รู้ข้อมูลเครือข่ายให้บริการและแนวทางการส่งต่อฯ
  • สุดท้ายหญิงตั้งครรภ์ต้องไปแสวงหาบริการเอง ไม่มีเอกสารส่งตัว ไม่สามารถใช้สิทธิสุขภาพ และต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด สุ่มเสี่ยงต่อการได้รับบริการที่ไม่ปลอดภัย

ภาคีที่ร่วมยื่นจดหมายเปิดผนึกฯ มีข้อเสนอต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องดังนี้

1. ข้อเสนอต่อหน่วยงานทั้ง 5 แห่ง พัฒนาทัศนคติของบุคลากรทางการแพทย์ต่อการยุติการตั้งครรภ์ให้สอดคล้องตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก “Safe abortion is health care, it saves lives.” คือ การยุติการตั้งครรภ์คือบริการสุขภาพที่ช่วยชีวิตคน

2. ข้อเสนอต่อแพทยสภา และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย บริหารจัดการกำกับและติดตามให้มีแพทย์และสถานพยาบาล เพื่อให้การดูแลรักษาการยุติการตั้งครรภ์

3. ข้อเสนอเฉพาะราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ต้องออกมาตรฐานจริยธรรมสำหรับสูตินรีแพทย์ในการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคของทารก ให้บริการในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์ตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ภายหลังได้รับคำปรึกษาทางพันธุกรรม หรือจัดบริการส่งต่อโดยมิชักช้า

4. ข้อเสนอต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมวางแนวทางการให้บริการตรวจความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์และการยุติการตั้งครรภ์ โดยมีรายละเอียดในด้านระเบียบค่าใช้จ่าย การบริการ และส่งต่อตามสิทธิสุขภาพ

5. ข้อเสนอเฉพาะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องทำความชัดเจนในการเบิกจ่ายค่าบริการยุติการตั้งครรภ์ของผู้รับบริการสิทธิอื่น เปิดช่องทางการร้องเรียนให้แก่ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างทั่วถึง

6. ข้อเสนอเฉพาะสำนักงานประกันสังคม ต้องมีช่องทางในการร้องเรียนสถานพยาบาลคู่สัญญา ประสานให้ผู้ประกันตนอย่างทันท่วงที โดยมีมาตรการลงโทษสถานพยาบาลคู่สัญญาที่ละเมิดสิทธิการรักษาของผู้ประกันตน

7. ข้อเสนอเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ต้องพัฒนาความรู้ความเข้าใจวิธีการยุติการตั้งครรภ์ อายุครรภ์ที่ทำได้อย่างปลอดภัย ประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้ง เครือข่ายบริการและแนวทางการส่งต่อบริการยุติการตั้งครรภ์ให้กับสถานพยาบาลในสังกัด

“เหตุที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงทั้ง 7 กรณี มี 3-4 กรณีที่เสี่ยงสูงจะได้รับอันตรายถึงชีวิต สิ่งที่เราเรียกร้องไม่ได้ต้องการให้ลงโทษใคร แต่ต้องการให้เกิดระบบพัฒนาบริการ ส่งต่อ ยุติการตั้งครรภ์ตามบริบทของกฎหมายใหม่ และข้อบังคับของแพทยสภาที่ออกมาแล้วเมื่อ ก.ค.64  เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายและไม่ถูกผลักดันไปเรื่อยๆ”

รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายท้องไม่พร้อมฯ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ตัวแทนรับมอบจดหมายเปิดผนึก กล่าวว่า ในส่วนของข้อเสนอถึง สปสช. ทั้ง 3 ข้อ จะเร่งนำไปดำเนินการ พร้อมเสนอสร้างกลไกในการเชื่อมโยง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนทั้ง 59 องค์กร ในการแก้ปัญหานี้ต่อไป ประเด็นไหนที่ต่อเสนอต่อคณะกรรมการฯ ในฐานะเลขาธิการ สปสช. จะทำหน้าที่เสนออย่างรวดเร็ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน