ถึงตาย!! หักดิบเลิกเหล้า แนะใช้สิทธิบัตรทอง-ประกันสังคมเข้าบำบัด

ไทยพบผู้มีภาวะขาดสุราเรื้อรังรุนแรง กว่า 1 แสนคน ช่วงเข้าพรรษา และปัญหาค่าครองชีพ ดึงนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา ผ่านสายด่วน 1434

วันเข้าพรรษาไม่เพียงเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่พระภิกษุสงฆ์ จะเริ่มต้นจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน เท่านั้น แต่ยังเป็นวันที่ศาสนิกชน และหลายหน่วยงานในไทย ถือเป็นวันเริ่มต้นการรณรงค์งดเหล้าอีกด้วย โดยเริ่มต้นไปเมื่อวานนี้ (14 ก.ค.65)

ข้อมูลผู้ติดสุราในประเทศไทย จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบ ประมาณ 9 แสน ถึง 1 ล้านคนทั่วประเทศ ในจำนวนนี้มีผู้ติดสุราอย่างหนัก ที่อาจจะมีภาวะขาดสุรารุนแรงและซับซ้อน อยู่ประมาณ 5-10% หรือประมาณ 5 หมื่นคน ถึง 1 แสนคน โดยผู้ติดสุรากลุ่มนี้ ควรได้รับการดูแลรักษาภาวะขาดสุราในสถานพยาบาล เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน และมีอันตรายถึงชีวิต ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรให้ความรู้ในการเตรียมความพร้อมก่อนงดเหล้าเข้าพรรษา แนะนำช่องทางการเข้ารับการบำบัดคัดกรอง ดูแลตัวเองหลังการบำบัดในช่วงเข้าพรรษา ป้องกันภาวะลงแดง(ขาดเหล้า) รุนแรงในคนที่เป็นพิษสุราเรื้อรัง

ธวัชชัย กุศล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและการบริการ ศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด 1413 กล่าวถึงการเลิกเหล้ามี 2 วิธีหลัก ๆ คือ เลิกด้วยตัวเอง และเลิกโดยการพบแพทย์ ในกลุ่มผู้ดื่มประจำหรือผู้ที่ติดสุราไปแล้ว ควรคำนึงถึงภาวะบางประการตามหลักการทางการแพทย์ ต้องระวังภาวะถอนสุรา เช่น มือสั่น เหงื่อออก หนาวสั่น หรืออาจมีบางอาการที่รุนแรง เช่น ชัก เพ้อ สับสน ที่อันตรายถึงชีวิต และจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งการรักษาในช่วงอาการถอนพิษสุรา อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของผู้ติดสุรา 

“ผู้ติดสุราขอใช้สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ในการเข้ารับการบำบัดรักษาได้ โดยตรวจสอบการใช้สิทธิ์ได้จากการโทรสอบถามโรงพยาบาลที่ต้องการเข้าบำบัดรักษา หรือสายด่วนเลิกเหล้า 1413 ที่จะมีนักจิตวิทยาคลินิกให้การปรึกษาทุกวันตั้งแต่ เวลา 08:00 – 20:00 น. ในช่วงเข้าพรรษา”

ธวัชชัย กุศล

ด้านศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ และสมาคมฮักชุมชน กล่าวว่า จากการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราและสุขภาวะโดยชุมชน ในปี พ.ศ. 2562 – 2565 ผ่านกิจกรรมตามรูปแบบเชิงพุทธ มุ่งเน้นการห่างไกลสภาพแวดล้อม เดิมใช้พื้นที่วัดในการทบทวนตัวเอง สร้างสติ ปัญญารูปแบบกลุ่มครอบครัว และติดตามผลในระยะ 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน และ 12 เดือน โดยใช้แบบประเมิน ASSIST พบว่า ผู้มีปัญหาสุรา ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่ม โดยสามารถเลิกดื่มสุรา 38% และลดการดื่มสุรา 55% ด้วยแนวทางของ ”การกู้คืนฟื้นตัว” หรือ “Recovery” ซึ่งเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อปรับปรุงสุขภาพ ความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยทำให้ตัวเองเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิม ไม่พึ่งสุราหรือยาเสพติด หรือ เรียกอีกอย่างว่า Self-Directed Life ที่ผู้มีปัญหาสุรา มีการจัดการตัวเองแบบองค์รวม 4 มิติ ได้แก่ สุขภาพ ความเป็นอยู่ ครอบครัว และชุมชน

ทั้งนี้นโยบายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านนโยบายและมาตรการต่างๆ  สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) เพื่อให้ทุกประเทศตระหนักถึงผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับสูงจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศได้  

ขณะที่องค์การอนามัยโลก(WHO) ก็มีกรอบมาตรให้ประเทศสมาชิกนำไปปฏิบัติเพื่อสร้างสังคมปลอดภัยจากปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ควบคุมและจำกัดการเข้าถึง ควบคุมพฤติกรรมการขับขี่หลังการดื่ม  คัดกรองและบำบัดรักษาผู้มีปัญหาจากสุรา ควบคุมการโฆษณา ส่งเสริมการขาย การให้ทุนสนับสนุน และการดำเนินการผ่านระบบภาษี

โดยประเทศไทยได้ขับเคลื่อนนโยบายลดการดื่มแอลกอฮอล์ผ่านคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข  ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการฯ อยู่ในขั้นตอนเตรียมแผนปฏิบัติการและกฎหมายและเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติและดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อมีผลบังคับต่อไป ประกอบด้วย ร่างแผนปฏิบัติการด้านควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2570)  และ ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ…..

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน