Thailand Policy Lab สำรวจข้อมูลออนไลน์ พบ โควิด-19 ทำเยาวชนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า หลายคน เหงา เครียดนอนไม่หลับ บางคนพยายามฆ่าตัวตายมากกว่า 1 ครั้ง เตรียมสรุปข้อมูลเป็นนโยบายแก้ปัญหา
เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) ระบุว่า หลังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มากกว่า 2 ปี แม้ขณะนี้นักเรียนจะสามารถไปโรงเรียนได้แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถมีวิถีชีวิตตามปกติได้ ซึ่งสร้างผลกระทบต่อสุขภาพจิตอย่างมาก Thailand Policy Lab จึงได้นำเครื่องมือนวัตกรรมอย่าง social listening มากวาดจับความคิดเห็นบนอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับสุขภาวะทั้ง 4 ด้าน คือ จิต กาย ปัญญา และ สังคม และ นำมาเป็นข้อมูลสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพจิตเยาวชนไทยต่อไป ขณะที่ Data Visualization แพลตฟอร์มที่รวบรวมความคิดเห็นของเยาวชนต่อเรื่องสุขภาพจิตบนโซเชียลมีเดียมากกว่า 100,000 ข้อความ และมากกว่า 10 ล้าน engagement (ไลก์ แชร์ คอมเมนท์) เพื่อนำมาซึ่งข้อมูลเชิงลึกในการออกแบบนโยบายด้านสุขภาพจิตเพื่อเยาวชนโดยเยาวชน
“การทำให้ประชากรเป็นผู้กำหนดอนาคตของตัวเองได้มากยิ่งขึ้น จะสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และสามารถแสดงความเห็นของพวกเขาได้ ซึ่งจะช่วยสะท้อนความเป็นจริงของพวกเขาได้มากขึ้น โดยเสียงสะท้อนทั้งหมดที่เรารวบรวมมาระหว่างการหารือและจากสื่อสังคมออนไลน์นี้จะนำเข้าไปสู่กระบวนการกำหนดการออกแบบนโยบายเป็นพันธสัญญาของรัฐบาลที่จะเปิดให้กระบวนการกำหนดนโยบายสร้างการมีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่านโยบายนี้ทำขึ้นโดยประชาชนและเพื่อประชาชน”
เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP Thailand)
ด้าน พงศ์ปณต ดีคง ผู้ช่วยด้านนวัตกรรมสังคมและนโยบาย Thailand Policy Lab ระบุว่า ระบบ Data Visualization สามารถกวาดจับข้อความได้มากกว่า 100,000 ข้อความ และ มีมากกว่า 10 ล้าน social media engagement ซึ่งพบว่าในด้านสุขภาวะทางจิต เยาวชนระบายคำว่า”เครียด” เกือบ 60,000 ข้อความ ในด้านสุขภาวะทางสังคม เยาวชนระบายคำว่า “เหงา” มากกว่า 42,000 ข้อความ ในด้านสุขภาวะด้านร่างกาย เยาวชนระบายคำว่า “นอนไม่หลับ” มากที่สุด กว่า 2,700 ข้อความ ในด้านสุขภาวะด้านปัญญา เยาวชนระบายคำว่า “ไม่มีความรู้” มากที่สุด มากกว่า 550 ข้อความ ขณะที่บางส่วนระบายว่า วิตกกังวล เบื่อหน่าย และ อยากฆ่าตัวตาย สาเหตุร่วมกันของปัญหาสุขภาวะทั้ง 4 ด้าน มาจากการเรียนออนไลน์มากที่สุดเป็นอันดับ 1 โดยมีผลกระทบทางด้านสติปัญญาร้อยละ 70 ร่างกายร้อยละ 91 จิตใจร้อยละ 88 และ สังคมร้อยละ 56
“โจทย์ของเราคือนโยบายเพื่อเยาวชน ประเด็นที่เราจับ คือประเด็นเรื่องการศึกษา ความหลากหลายทางเพศ และสุขภาพจิตของเยาวชน พอเป็น สุขภาพจิตของเยาวชน เทรนด์ ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊กมาเป็นอันดับ 1 keyword การฆ่าตัวตาย เรียนไม่รู้เรื่อง เหงา มันเป็น keyword ที่เยอะมาก ดังนั้น การออกแบบนโยบายใหม่ ๆ ที่เหมาะสม อาจเป็นส่วนที่เร่งแก้ปัญหาก่อนจะสายไป
พงศ์ปณต ดีคง
โดยตัวเลขที่ชัดมากที่สุดคือเด็กเรียนออนไลน์ เราเก็บข้อมูล ตั้งแต่เดือน กรรกฎาคม 2564 ถึง พฤศจิกายน 2564 ที่เป็นช่วงเด็กเรียนออนไลน์เยอะ โดยการจ้องจอ นานๆ มีผลต่อสุขภาพจิต และเกิดความเครียด”
ดร.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO Thailand) บอกว่า เยาวชนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตมากถึง 1 ใน 7 และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เยาวชนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า วัยรุ่น 1 ใน 5 รู้สึกเหงาโดดเดี่ยว วัยรุ่น 1 ใน 7 คน เครียดจนนอนไม่หลับ และ วัยรุ่น 1 ใน 7 คน เคยพยายามฆ่าตัวตายมากกว่า 1 ครั้ง โดยวัยรุ่นหญิง มีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าวัยรุ่นชาย และปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นจะส่งผลไปถึงสุขภาพจิตเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ด้วย จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน
“เยาวชนจำเป็นที่จะต้องมีปฎิสัมพันธ์ทางสังคม พวกเขาต้องการเพื่อน พวกเขาต้องการสิ่งแวดล้อมทางสังคม พวกเขาต้องการสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาจะเติบโตได้และโควิด-19 สร้างข้อจำกัดในเรื่องนี้ แล้วโควิด-19 ก็ยังสร้างความกังวลใหม่ๆ ทั้งเรื่องอนาคต เรื่องครอบครัวในหลายครอบครัวประสบปัญหาทางการเงินที่จะเอาชีวิตรอด และแน่นอนว่าเยาวชนได้รับผลกระทบไปด้วย
เรื่องเหล่านี้ทำให้พวกเขากังวลและผลกระทบจากโควิด-19 สร้างปัญหาด้านสุขภาวะทางจิต โดยเฉพาะสุขภาวะทางจิตของเยาวชน”
ศุภวุฒิ แพร่แสงเอี่ยม นักศึกษาชั้นปีที่ 1 และ สมาชิกศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมา ปัญหาการศึกษามีความเกี่ยวเนื่องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก การเรียนออนไลน์ทำให้เกิดความเครียดที่ต้องถูกจำกัดอยู่ในห้องและหน้าจอ แม้จะพยายามปรับตัวด้วยการแชทหรือเล่นเกมออนไลน์กับเพื่อนได้ แต่ก็เป็นการเปลี่ยนธรรมชาติของเยาวชนในการสร้างปฎิสัมพันธ์ในสังคมไปอย่างน่ากลัว ขณะที่ครูและอาจารย์จำนวนมากยังไม่มีความเข้าใจเรื่องการสอนออนไลน์มากนัก ซึ่งส่งผลกระทบกับการเรียนรู้ของเยาวชนอย่างมาก
“ผมจึงอยากเสนอการแก้ไขปัญหา ให้มีการกระจายอำนาจการบริหารจัดการแบบไม่รวมศูนย์เพียงแค่ส่วนกลาง และต้องการให้โรงเรียน มีอิสระบริหารจัดการตามบริบทในพื้นที่ อย่างในต่างประเทศมีการจัดห้องเรียนให้นักเรียนมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม ขณะที่ทุกวันนี้ การเรียนบางส่วนในประเทศยังเน้นการเรียนเจาะลึกมากเกินไปบางอย่างก็นำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันไม่ได้ทั้งหมด ซึ่งโลกเปลี่ยนไปมากแต่การศึกษาบางอย่างยังไม่ทันกับยุคที่เปลี่ยนไป”
ขณะที่นายอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า จำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการการทำงานระหว่างครูแนะแนว ครูประจำชั้น และนักจิตวิทยา เพราะแม้ทุกโรงเรียนจะมีครูแนะแนวแต่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่สุขภาพจิตของเด็ก แต่เพราะโควิด-19 ครูแนะแนวจำเป็นที่จะต้องทำงานมากขึ้น โดยจำเป็นที่จะต้องทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอก เช่น นักจิตวิทยา โดยขณะนี้มีนโยบายที่จะให้มีนักจิตวิทยาประจำอยู่ที่เขตการศึกษา เขตละ 1 คน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จึงควรมีนักจิตวิทยาประจำอยู่ทุกโรงเรียนมากกว่า แต่ระหว่างนี้ควรมีการฝึกอบรมครูแนะแนวให้เข้าใจในการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนเป็นรายบุคคลเพื่อให้คำปรึกษาเบื้องต้นได้ และทำงานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายร่วมกันกับนักจิตวิทยาภายนอกเพื่อแก้ปัญหา ขณะที่นักจิตวิทยาไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่ให้คำแนะนำกับนักเรียนเท่านั้น แต่ควรให้คำปรึกษาให้กับครูด้วย ขณะที่ครูต้องเฝ้าระวังสถานการณ์สุขภาพจิตนักเรียนในช่วงนี้ให้ดี เพราะเป็นระยะปรับตัวที่เด็กเริ่มกลับมาเรียนในโรงเรียนอีกครั้ง หลังต้องเรียนออนไลน์มานานกว่า 2 ปี
ทั้งนี้ เพื่อหาทางออกปัญหาสุขภาพจิตเยาวชนไทย Thailand Policy Lab จะเข้ามาแฮ็กทางออกและวางนโยบายร่วมกัน (policy hackathon) ในวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2565 โดยให้เยาวชนร่วมออกแบบนโยบายใน 4 ด้าน คือ การแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต (protection) การป้องกันปัญหาสุขภาพจิต (prevention) การส่งเสริมความเข้าใจด้านสุขภาพจิต (promotion) และอนาคตของการศึกษาที่เข้าใจสุขภาพจิตของผู้เรียน (future of education) เพื่อให้ได้การแก้ปัญหาเชิงระบบอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป