แพทย์ยัน ยังไม่พบ “ฝีดาษลิง” ระบาดในไทย แนะเฝ้าระวังผู้มาจากแอฟริกา

นักไวรัสฯ มองไวรัสหลุดออกมาแล้วส่อระบาด อาจต้องกลับมาปลูกฝีไข้ทรพิษกันอีกรอบ ด้าน “นพ.ยง” เผยวัคซีนป้องกันฝีดาษ น่าจะป้องกันโรคนี้ได้ แม้ไทยเลิกปลูกฝีมาตั้งแต่ปี 2517 แล้ว ย้ำไม่ต้องตื่นตระหนก

หลายประเทศตื่นตัวโรคระบาด Monkeypox หรือ โรคฝีดาษลิง ซึ่งพบคนติดเชื้อแล้วในยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยอาการโรคจะเป็นตุ่มแดงบริเวณผิวหนัง หนาวสั่น มีไข้ มีคนเอาไปเปรียบว่าคล้ายกับโรคอีสุกอีใส ที่คนไทยคุ้นเคยกัน

วันนี้ (20 พ.ค. 2565) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคใหม่ แต่เคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษในคนหรือไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน (vaccinia virus) และฝีดาษวัว(cowpox virus) 

โรคฝีดาษลิง ติดต่ออย่างไร

เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้ คนสามารถติดโรคจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย 

การแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน 

โรคฝีดาษลิง อาการเป็นอย่างไร 

อาการเริ่มแรกจะมีไข้ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยจะประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ โดยอาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งในประเทศแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 10

ป้องกันโรคฝีดาษลิงได้อย่างไร 

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการป้องกันควบคุมโรค เริ่มต้นด้วยการป้องกันตนเอง คือ 

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า  
  2. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ  
  3. หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า  
  4. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค  
  5. กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน  หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อ ไม่ให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ 

การรักษาโรคฝีดาษลิง 

ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงที่เฉพาะเจาะจง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วย การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% โดยก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษได้นั้น  มีการฉีดวัคซีนหรือที่เรียกกันว่าการปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งสองโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม เด็กที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 

ข้อสังเกตฝีดาษลิงหลุดจากห้องแล็บ

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์ และการจัดการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก วันที่ 19 พ.ค. 2565 ระบุ แม้อีสุกอีใส เรียกว่า Chickenpox ก็จริง แต่ไม่ใช่ Poxvirus เหมือน ฝีดาษลิง ทั้งนี้ไวรัสอีสุกอีใสตัวที่แพร่ไวในอากาศได้เป็นตระกูล herpes virus ซึ่งไม่ใช่ Poxvirus เอามาอนุมานเทียบกันไม่ได้เลยทั้งนี้ไวรัสชนิดนี้จริงๆมี 2 ชนิด แบ่งได้ตามความรุนแรงตัวที่พบกระจายอยู่ตอนนี้เป็นสายพันธุ์รุนแรงน้อย ส่วนตัวที่รุนแรงมากยังเป็นโรคประจำถิ่นในทวีปแอฟริกาซึ่งความรุนแรงจะสูงกว่าเทียบเท่ากับ SARS-CoV ตัวแรก

ข้อมูลทางไวรัสวิทยา  Monkeypoxvirus เป็น ตระกูลเดียวกับไวรัส smallpox ที่ก่อให้เกิดโรคไข้ทรพิษ หรือ ฝีดาษ ในอดีต แต่ปัจจุบันไม่พบไวรัสตัวนี้ในธรรมชาติแล้ว แต่ตัวเชื้อยังมีเก็บรักษาไว้ในห้องแล็บที่มีความปลอดภัยสูงสุดเนื่องจาก smallpox เป็นเชื้อที่แพร่กระจายได้ไวแพร่ทางอากาศได้ ทำให้มีคนอนุมานต่อว่า Monkeypoxจะเป็นแบบนั้นเช่นกัน ซึ่งข้อสรุปอันนี้เป็นการคาดการณ์ที่ไม่มีหลักฐานจริงยืนยัน

“Monkeypox พบครั้งแรกในลิงในห้อง Lab แต่สัตว์ตัวกลางในธรรมชาติคือ หนู…จริงๆควรเรียกว่า Rodentpox มากกว่า เพราะลิงไม่ได้เป็นพาหะ” 

ดร.อนันต์ ระบุอีกว่า ฝีดาษลิง มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2493 พบติดเชื้อในคนได้แต่ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ เพราะ ช่วงนั้นมีการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ  แต่เนื่องจากวัคซีนไข้ทรพิษไม่ได้มีการฉีดกันมานานและ ภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ก็ตกลง จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นสาเหตุให้ Monkeypox สามารถกระโดดเข้ามาในประชากรมนุษย์ได้อีกซึ่งข้อมูลตอนนี้ยังไม่มาก

“เชื่อว่าไวรัสคงออกมาแล้ว และไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหนบ้าง  จึงไม่แน่ว่า เราอาจจะต้องกลับมาปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษกันอีกรอบ” 

นพ.ยง ย้ำไม่ต้องตื่นตระหนกแต่ให้เฝ้าระวัง 

ด้าน นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก วันที่ 20 พ.ค. 2565 กล่าวถึงโรคฝีดาษลิง ว่า เป็นเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษ จึงเชื่อว่าวัคซีนป้องกันฝีดาษ น่าจะป้องกันโรคนี้ได้คงต้องรอการพิสูจน์การปลูกฝี มีประสิทธิภาพในการป้องกันฝีดาษสูงมากจึงทำให้โรคฝีดาษหมดไปและประเทศไทยเลิกปลูกฝีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 แล้ว 

“ฝีดาษลิง ไม่เคยพบในประเทศไทย ไม่มีอะไรต้องตื่นตระหนกเพราะต้องมีการติดต่อแพร่กระจายต้องสัมผัสอย่างใกล้ชิด การเฝ้าระวังจึงเป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากแอฟริกาตะวันตก และแอฟริกากลางรวมทั้งการนำสัตว์ต่างถิ่นเข้าสู่ประเทศไทย” 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS