โลกออนไลน์ วิพากษ์วิจารณ์ หนังไทยหลายเรื่องขายคำหยาบโจ่งแจ้ง ‘ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชน’ ติง สร้างหนังให้สมจริง ต้องอย่าลืมรับผิดชอบต่อสังคมด้วย แนะครอบครัวผู้รับสารจริงจัง สร้างภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันสื่อ
“เธอ ฟอร์ แคช สินเชื่อ..รักแลกเงิน” เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่มาพร้อมกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ภายหลังเข้าสู่แพลตฟอร์ม Netflix เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมา ทั้งข้อสังเกตในแง่มุมบวก
อย่างความเห็นของ เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) ในฐานะของอดีตนักเศรษฐศาสตร์ โพสต์ถึงหนังเรื่องนี้ ว่า นอกจากสะท้อนชีวิต และสังคมแล้ว ยังเป็นหนังที่สอนความรอบรู้ทางการเงินแบบชีวิตจริง โดยเฉพาะคนยากจน ที่ถูกข้อจำกัดของเวลาบีบรัดการตัดสินใจในทางการเงิน ท่ามกลางการถูกเอาเปรียบ ยอมขูดรีด
โดยย้ำด้วยว่า หนังเรื่องนี้ทำให้อยากตั้งต้นกระบวนการสอนเศรษฐศาสตร์ใหม่ แทนที่จะเน้นทฤษฎี อาจต้องเริ่มต้นจาก ข้อจำกัด ในชีวิตจริงให้มากขึ้น และในฐานะผู้ทำงานการเมือง หนังเรื่องนี้ก็ให้แนวคิดในการจัดทำนโยบาย ที่จะต้องเข้าใจทั้งข้อจำกัดที่คนแต่ละกลุ่มต้องเผชิญ
ไม่เพียงเนื้อหาที่หนังได้ถ่ายทอดออกมา จนสะท้อนแง่มุมการใช้ชีวิตได้อย่างน่าสนใจ แต่ในทางตรงกันข้าม รายละเอียดของหนังก็ถูกนำมาพูดถึงไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะในประเด็น “การใช้คำหยาบของหนัง” ซึ่งไม่ใช่แค่หนังเรื่องนี้เท่านั้นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ยังมีหนังอีกหลายเรื่องถูกมองว่าใช้คำหยาบอย่างโจ่งแจ้ง จนทำให้หลายความเห็นมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม และต้องระมัดระวังการใช้คำพูดในสื่อให้มากขึ้น
The Active ชวนมองปรากฏการณ์ และข้อสังเกตที่เกิดขึ้นผ่านมุมมองของ ผศ.วาลี ปรีชาปัญญากุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชน และอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยให้ความเห็นว่า สังคมยอมรับกลาย ๆ ว่า เมื่อคำเหล่านี้ออกมาให้เห็นผ่านสื่อได้ และไม่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมมากนัก จึงเกิดเป็นความเคยชินและผลิตสื่อเช่นนี้ออกมาซ้ำ ๆ จนทำให้เห็นการใช้คำหยาบในสื่อมากขึ้นจากหลายปีที่ผ่านมา
จึงมีส่วนทำให้เห็นคำหยาบในภาพยนตร์ หรือสื่อต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น คือ “การผลิตซ้ำ” ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า การมีเนื้อหาหยาบคายจากการใช้คำพูด หรือท่าทางจะเป็นการเพิ่มความสมจริงให้กับสถานการณ์ หรือเส้นเรื่องของภาพยนตร์ และสร้างความสนุกสนานให้กับผู้ชมได้เป็นอย่างดี
“เมื่อมีการผลิตซ้ำออกมาจนกลายเป็นความเคยชิน และมีการผลิตซ้ำมาเรื่อย ๆ โดยไม่ได้รับการควบคุมจากทางรัฐอย่างเข้มข้น ก็จะยิ่งเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในการผลิตสื่ออย่าง ภาพยนตร์เช่นนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสื่อก็จะต้องมองย้อนกลับมาใหม่ว่าตนเองจะต้องรับผิดชอบสังคมหรือผู้ชมอย่างไรบ้างเพื่อไม่ให้เป็นการผลิตซ้ำดังกรณีข้างต้น”
ผศ.วาลี ปรีชาปัญญากุล
สื่อ : ทำให้สมจริงได้ แต่อย่าลืมว่าต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย
แม้ว่าสื่ออย่าง ภาพยนตร์ จะมีจุดประสงค์ในการนำเสนอเพื่อความบันเทิงให้กับผู้รับสาร แต่อีกมุมหนึ่ง ผศ.วาลี ชี้ให้เห็นว่า นอกเหนือจากความสนุกสนาน หรือความสมจริงที่ทำให้ผู้ชมชื่นชอบแล้ว การตระหนักรู้ของสื่อที่จะต้องมีต่อประชาชนก็จะต้องให้ความสำคัญควบคู่ไปกับความบันเทิงด้วย ซึ่งต้องยอมรับว่าภาพที่ปรากฏในสื่อมีอิทธิพลต่อผู้รับสารทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผู้รับสารนั้นก็ไม่ได้มีเพียงแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ยังมีเด็กและเยาวชนที่อาจมีภูมิคุ้มกันเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อน้อยกว่าคนกลุ่มอื่นซึ่งกำลังรับชมและอาจมองว่าสามารถทำตามได้โดยขาดการคิดและวิเคราะห์ ดังนั้น สิ่งที่สื่อได้เผยแพร่ออกมาจึงไม่ต่างจากแบบอย่างที่ทำให้ผู้รับสารเห็นว่านี่คือการมีอยู่ของสังคมซึ่งเป็นปกติ
“เมื่อใดก็ตามที่สื่อนำเสนออะไรมา เด็กก็จะต้องคิดว่าสื่อยังทำได้ เด็กก็ทำได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะถือว่าสื่อคือแบบอย่างของสังคม”
ผศ.วาลี ปรีชาปัญญากุล
ผู้รับสาร : ภูมิคุ้มกันในการรู้เท่าทันสื่อคือสิ่งที่ทุกคนต้องมี
ผศ.วาลี ชวนให้คิดว่า การจัดเรตติ้งของภาพยนตร์ อาจไม่ได้ช่วยป้องกันให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมตามอายุได้ เพราะถ้าหากลองมองย้อนกลับไป หลายครั้งก็ไม่มีการตรวจบัตรประชาชนก่อนที่จะเข้าโรงภาพยนตร์เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชมได้รับเนื้อหาเกินกว่าวัยตัวเอง แม้กระทั่งคำเตือนที่ให้ผู้ปกครองควบคุมอยู่ด้วยเมื่อมีเด็กและเยาวชนรับชมสื่อนั้น ๆ ก็ไม่ได้มีการตรวจสอบว่า ผู้ปกครองควบคุมเด็กและเยาวชนที่อยู่ในการปกครองของตัวเองหรือไม่
ดังนั้น การแก้ปัญหาที่จะทำให้สื่อสามารถนำเสนอความสนุกสนาน ไปพร้อมกับการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสังคมจากการไม่รู้เท่าทันสื่อของผู้รับสารนี้ได้ ‘ผู้รับสาร’ ก็จะต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองด้วย
สิ่งหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้คือ ‘ผู้ใหญ่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี’ ให้กับเด็กและเยาวชน เพราะสำหรับ ผศ.วาลี ปัจจุบันนี้ การสอนอาจไม่ได้ช่วยให้เด็กและเยาวชนเชื่อฟังเท่ากับการทำให้ดู ซึ่งก็จะต้องเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ตั้งแต่คนใกล้ตัวอย่างผู้ปกครอง มาจนถึงคุณครูที่สอนในโรงเรียน ช่วยกันขัดเกลาให้มีภูมิคุ้มกันเมื่อต้องเจอเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม
“คนไม่ได้อยากแปลกแยกจากสังคม ถ้าสังคมตรงนั้นเป็นอย่างไร เด็กก็จะต้องเป็นไปตามนั้น ซึ่งก็จะต้องทำให้สังคมที่เด็กอยู่เป็นสังคมที่ดี”
ผศ.วาลี ปรีชาปัญญากุล
สื่อและผู้รับสาร : ต้องทำหน้าที่ของตัวเอง
เมื่อไม่สามารถที่จะควบคุมให้สื่อเป็นไปอย่างที่คนในสังคมบางส่วนอยากให้เป็นได้ และสื่อก็ไม่สามารถควบคุมผลกระทบที่เกิดขึ้นของคนทุกคนได้เช่นกัน ผศ.วาลี จึงแนะให้ ทั้งสองฝ่ายรู้จักหน้าที่ของตนเอง ไม่ใช่เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะมีอีกหลายมิติที่ยากเกินกว่าจะควบคุม ซึ่งถ้า สื่อ ตระหนักถึงผลกระทบที่ตามมามากขึ้น และ ผู้รับสาร สามารถกลั่นกรองและวิเคราะห์เนื้อหาได้ ก็จะไม่เกิดปัญหาอย่างที่เราเห็นได้ตามข่าวในสื่อต่าง ๆ
“ทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเองโดยที่ไม่พยายามมองว่าจะต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่จะต้องแก้”
ผศ.วาลี ปรีชาปัญญากุล