ตั้งบอร์ดส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ วางแนวทางขอถ่ายทำในไทย คุมเข้มเนื้อหาที่อาจกระทบต่อความมั่นคง ชวนประชาชนแสดงความเห็นภายใน 24 ส.ค. นี้
สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า วธ. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ฉบับใหม่ ซึ่งประกอบด้วย 7 หมวด 112 มาตรา เพื่อใช้แทน พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551
รมว.กระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่า สาระสำคัญของร่างกฎหมายใหม่ หวังส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันระดับนานาชาติ และหนุนการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย โดยมีมาตรการรองรับอย่างเป็นระบบ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในทุกด้าน ทั้ง ยังลดบทบาทการกำกับดูแลของรัฐลง เพื่อให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประกอบกิจการในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เคยเกิดขึ้น
ตั้งบอร์ดส่งเสริมภาพยนตร์ วางแนวทางขอถ่ายทำในไทยให้รัดกุม
ทั้งนี้ภายในร่างกฎหมายใหม่ มีใจความที่เพิ่มเติมจากกฎหมายฉบับเดิมอยู่หลายประการ เช่น
- การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์: ร่าง พ.ร.บ.ใหม่ ได้กำหนดให้จัดตั้ง คณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์แห่งชาติ และ สภาอุตสาหกรรมภาพยนตร์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นเวทีให้ผู้ประกอบการภาพยนตร์มีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรม
โดยคณะกรรมการฯ มีอำนาจในการเสนอนโยบายและแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบ รวมถึงตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการกำกับดูแลอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยบอร์ดนี้จะมี นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานฯ และมี รมว.วัฒนธรรม และ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นั่งเป็นรองประธานฯ
- การสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย: ได้กำหนดหลักเกณฑ์และกระบวนการในการขออนุญาต ถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย รวมถึงการกำกับดูแลการถ่ายทำให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับ เพื่อป้องกันความเสียหายและส่งเสริมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมไทยผ่านการถ่ายทำภาพยนตร์
หากการสร้างภาพยนตร์นั้นก่อให้เกิดความเสียหาย สิ่งแวดล้อม ศิลปะ วัฒนธรรม ศีลธรรมอันดี ภาพลักษณ์ของประเทศไทย เจ้าหน้าที่สามารถสั่งให้หยุดการสร้างภาพยนตร์ และดำเนินการแก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง เจ้าหน้าที่จะเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ต่างประเทศ เพื่อพิจารณาเพิกถอนการอนุญาตสร้างภาพยนตร์ดังกล่าวต่อไป
กำกับดูแลเนื้อหาที่กระทบต่อ “ความมั่นคง-เกียรติภูมิของประเทศ”
ในเนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับใหม่ยังได้ ปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์ และกำกับดูแลการประกอบกิจการภาพยนตร์ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้แน่ใจว่าภาพยนตร์ที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต หรือแพลตฟอร์มอื่น ได้รับการตรวจสอบและรับรองความเหมาะสม โดยเฉพาะเนื้อหาที่อาจกระทบต่อความั่นคงหรือเกียรติภูมิของประเทศ จะมีมาตรการทางกฎหมายโดยเฉพาะ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนใน พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับปี 2551 ดังนี้
- มาตรา 53 ในกรณีที่พบการฉายหรือจำหน่ายในราชอาณาจักร ซึ่งภาพยนตร์หรือสื่อโฆษณาผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีเนื้อหากระทบกระเทือนต่อความมั่นคงหรือเกียรติภูมิของประเทศ ไม่ว่าจะได้รับการจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหาหรือไม่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
- มาตรา 54 ในกรณีที่พบการฉายหรือจำหน่ายนอกราชอาณาจักร ซึ่งภาพยนตร์หรือสื่อโฆษณาที่มีเนื้อหากระทบกระเทือนต่อความมั่นคงหรือเกียรติภูมิของประเทศ ให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเนื้อหานั้น ตลอดจนประสานงานไปยังกระทรวงการต่างประเทศหรือหน่วยงานของประเทศไทยในต่างประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ ให้มีการระงับการกระทำดังกล่าว
ชวนประชาชนแสดงความเห็น ร่างกฎหมายฯ ภายใน 24 ส.ค. 67
รมว.กระทรวงวัฒนธรรม บอกด้วยว่า ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ นักวิชาการ และประชาชนทุกภาคส่วน ช่วยกันแสดงความคิดเห็นหรือเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการแก้ไขปรุงร่าง พ.ร.บ. ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ จากนั้นจะส่งร่าง พ.ร.บ.ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และส่งให้รัฐสภาพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ มีระยะเวลารับฟังความคิดเห็น 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2567 โดยสามารถศึกษาสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ และแสดงความคิดเห็นได้ที่ เว็บไซต์นี้