จับตา กมธ. อากาศสะอาดฯ พิจารณาเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ ถกเข้ม “เก็บภาษี ค่าธรรมเนียม” ผู้ก่อมลพิษ กมธ. เผย กังวล วาระ 2 “ถูกถอดเขี้ยวเล็บ” วอนยึด ปชช. เป็นที่ตั้ง
15 พ.ย. 2567 ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … (กมธ. ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ) จัดประชุมครั้งที่ 40 ซึ่งเป็นการพิจารณาใน หมวดที่ 6 เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด โดยมีการหารือในรายละเอียดของมาตรการควบคุมมลพิษโดยอาศัยเครื่องมือและกลไกทางเศรษฐศาสตร์ ภายใต้หลักคิด “ผู้ก่อ คือ ผู้จ่าย”
บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมาธิการและประธานอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบแนวคิด หลักการสำคัญ และโครงสร้างการบริหารจัดการ ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … เผยกับ The Active ถึงสาระสำคัญที่นำมาจัดไว้ใน หมวดที่ 6 เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ ว่าเนื้อหาที่ถูกเรียบเรียงในร่างฯ ฉบับที่ 8 โดย กมธ. มาจากต้นร่างที่ผ่านวาระ 1 มีร่างหลายฉบับที่มีการเสนอ ‘เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์’ ไม่ว่างจะเป็นร่างฉบับรัฐบาล ร่างฉบับประชาชน และร่างของพรรคการเมืองบางฉบับ โดยการทำงานของอนุกรรมาธิการฯ ได้นำเนื้อหาเหล่านั้นมาปรับโครงให้เหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุด ด้วยการเขียนลําดับเรียบเรียงให้สมบูรณ์ชัดเจนในการนำไปใช้มากขึ้น รวมถึงรายละเอียดเมื่อมีการดําเนินการแล้วเกิดปัญหาขึ้นจะต้องทําอย่างไร ซึ่งในหมวดนี้จะมีเนื้อหาเพิ่มเติม เพื่อรองรับการใช้งานได้ครบถ้วนตั้งแต่ต้นทาง ทั้งการออกแบบ ไปจนถึงกรณีหากเกิดปัญหา หรือข้อติดขัดต่าง ๆ จะแก้อย่างไร
เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์อะไรบ้างที่มีในร่างกฎหมาย ?
สำหรับเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่กําหนดไว้ ในร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ บัณฑูร เผยว่า ได้วาง 5 ถึง 6 เรื่อง และมีการวางไว้เพื่อเครื่องมือที่อาจจะเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อรองรับกับความรู้ใหม่ นวัตกรรมเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่ไม่หยุดนิ่ง จึงมีส่วนที่เผื่อไว้สําหรับเพิ่มเติมได้โดยการเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายร่วมที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งมีทั้งมาตรการที่เคยมีมาก่อนแล้วและมาตรการใหม่ ๆ ได้แก่ ค่าธรรมเนียมเพื่ออากาศสะอาด หลักประกันความเสี่ยง การโอนจัดสรรสิทธิในการระบายมลพิษทางอากาศ ระบบฝากไว้ได้คืน ส่วนมาตรการที่ของเดิมเคยมีอยู่ ได้แก่ การจัดเก็บภาษีอากร ซึ่งก็หมายความว่าต้องมีการพูดคุยกับหน่วยงานที่ดูแลเรื่องพวกนี้ โดย 3 กรม หลัก ๆ คือ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร ว่ากฎหมายที่เขาดูแลอยู่เมื่อจะนำมาปรับใช้ในการดูแลเรื่องอากาศสะอาดได้อย่างมีความหมาย เช่น เอามาใช้ให้มากขึ้น ซึ่งมีทั้งเพิ่มอัตราภาษี หรือลดอัตราภาษีก็ได้
“ความยาก” อยู่ที่“ความเข้าใจ” กับของใหม่
บัณฑูร กล่าวว่า ความยากในการพิจารณาหมวดที่ 6 เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ อยู่ที่ ‘การสร้างความเข้าใจกับของใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าธรรมเนียมเพื่ออากาศสะอาด หลักประกันความเสี่ยง ระบบฝากไว้ได้คืน การโอนสิทธิ์ในการระบายมลพิษ ขณะที่ ความเข้าใจของผู้ที่เคยชินอยู่กับระบบเดิมโดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ ต้องอาศัยเวลาและการสร้างความเข้าใจ
“ถ้าในชั้นอนุกรรมาธิการฯ ครั้งแรก ๆ ที่ศึกษาเรื่องนี้ อาการก็ไม่ต่างกันหรอก เมื่อมาเจอกับสิ่งใหม่ ๆ เครื่องมือใหม่ ๆ แบบนี้ ว่ามันคืออะไร ทำอย่างไร ใช้งานอย่างไร สําหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในอนุฯ แล้วมาเจอ นี่คืออาการที่เราเคยเจอในชั้นอนุฯ มาก่อน เอ๊ะ มันเหมือนกับของตรงนี้ไหม มันต่างจากของที่มีไหม เป็นเรื่องของการทําความเข้าใจร่วมกันครับ”
บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์
ฝุ่นมาแล้ว กฎหมายมายัง ? กมธ. กดดันแค่ไหน
บัณฑูร ระบุว่า ในขั้นตอนทำงาน กมธ. ใช้เวลาอย่างเต็มที่ หลังจากร่างกฎหมายผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาตั้งแต่ ม.ค. 2567 และเริ่มตั้งคณะอนุฯ ก.พ. 2567 ซึ่งทำงานมา 9 เดือนแล้ว โดยใช้เวลากับความรอบคอบในการทํางานที่มีรายละเอียด และเมื่อเจอจังหวะที่สถานการณ์ฝุ่นมาช่วงปลายปี การทำงานก็ใกล้เสร็จพอดี ซึ่งเหลืออีกไม่กี่หมวด ก็จะทันนำกลับเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเปิดสมัยประชุม ธ.ค. 2567
ขณะที่ รศ.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ถึงหลักการจำเป็นที่ต้องมีในร่างกฎหมาย ตามที่เคยให้แสดงความเห็นทางวิชาการไว้ก่อนหน้านี้ โดยระบุว่า เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และมาตรการ ที่ได้เสนอในร่างฯ ที่มาจากภาคประชาชน ถูกนำมาเรียบเรียงในร่างของ กมธ. ทั้งหมด แต่ความท้ายทายคือ มิติของการสื่อสาร ที่จะทำอย่างไร ให้คนเขาเข้าใจกฎหมายที่เป็นนวัตกรรม ทำให้ในการประชุม อาจจะมีในส่วนของหน่วยงานราชการที่มีความเห็นต่าง นี่จึงเป็นโจทย์ที่ กมธ. ต้องสร้างความเข้าใจผ่านการสื่อสาร เพื่ออธิบาย
“เรื่องของหลักการทางภาษี ที่ยึดหลักคือความเสียหาย ถ้ามันสามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่ามันเสียหายเพราะมลพิษทางอากาศ งานวิจัยในเชิงวิทยาศาสตร์ เชิงการแพทย์บอกไว้อย่างนี้ เพราะโดยหลักการแล้วมันก็ควรจะเอามาใช้ได้ อย่างการเก็บภาษีสรรพสามิต ต้องเป็นกลไกที่ควรจะต้องออกแบบมาเพื่อให้การจัดเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษีหรืออะไรก็ตามแต่ สะท้อนต้นทุนที่ผู้ก่อมลพิษได้มีส่วนก่อ”
รศ.วิษณุ อรรถวานิช
รศ.วิษณุ กล่าวว่า จากการแสดงความเห็นของที่ปรึกษาจากภาคเอกชน ก็มีความกังวลในแง่ที่ว่าจะกลายเป็นภาระกับภาคเอกชนหรือไม่ จะไม่เป็นธรรม แต่อยากให้เข้าใจถึงใจเขาใจเรา แต่คำว่า “ความเป็นธรรม” อยู่ตรงไหนไม่สามารถวัดกันได้ง่าย ๆ
“เป็นธรรมกับใคร ไปทํากับผู้ประกอบการอย่างเดียวหรือเปล่า หรือเป็นธรรมกับผู้รับมลพิษด้วยที่ได้ผลกระทบ ก่อนถึงจุดนี้ คงต้องมาคุยกันว่า ผู้ก่อมลพิษ เขาสร้างมลพิษหนักมากน้อยแค่ไหน แล้วค่าปรับหรือค่าธรรมเนียม จะต้องเพิ่มไหม ถ้าเกิดเก็บเท่าเดิม เขาก็ปล่อยเท่าเดิม แต่ความเสียหายมันรุนแรงขึ้น สังคมจะรับได้ไหม แล้วใครคือได้ผู้ประโยชน์ ใครคือคนได้ผลประโยชน์ คือถ้าเกิดคนได้ผลประโยชน์เป็นคนกลุ่มเล็ก แต่คนเสียประโยชน์คือคนกลุ่มใหญ่ อันนี้ก็คงจะเรียกว่าไม่เป็นธรรมเช่นกันใช่ เพราะตรงนี้ผมว่า ก็คือเป็นการสร้างความเข้าใจ และสุดท้ายผมว่าก็อยู่ที่หลักฐานเชิงประจักษ์ แต่หลายหน่วยงานก็กังวลว่า เราจะเก็บภาษีหรือเราจะเก็บค่าธรรมเนียม เราจะเก็บอยู่บนฐานอะไร”
รศ.วิษณุ อรรถวานิช
รศ.วิษณุ กล่าวอีกว่า ผู้แทนจากกรมควบคุมมลพิษ ยืนยันว่าจริง ๆ แล้วในเชิงวิทยาศาสตร์ อากาศจะวัดอย่างไร หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าวัดอย่างไร และยังเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่ในทางวิทยาศาสตร์ตรวจสอบได้ อย่างองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็มีงานวิจัยเรื่องนี้อยู่แล้วและมลพิษทางอากาศจะต่างจากมลพิษอื่น
ย้ำมาตรการมีทั้ง “Carrot and Stick”
รศ.วิษณุ ย้ำว่า จริง ๆ แล้วในมาตรการที่ระบุไว้แต่ละเรื่อง จะมีทั้ง Carrot and Stick ยกตัวอย่างภาษี ค่าธรรมเนียม การมีใบอนุญาตปล่อยมลพิษ เรียกว่าเป็นการช่วยลดต้นทุนนะ ให้เขาเสียเงินน้อยลงในการบําบัดมลพิษซึ่งเป็นผลดีกับผู้ประกอบการ
“ผมมองเป็นมุมบวกนะสําหรับผู้ประกอบการ คือ ในทฤษฎีเชิงเศรษฐศาสตร์ เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ ถูกออกแบบมาเพื่อทําให้ต้นทุนของผู้ก่อมลพิษลดลง เมื่อเทียบกับมาตรการบังคับให้ปฏิบัติตามครับ เพราะมีแต่ข้อดี ซึ่งการพิจารณาต่อหลังจากนี้ จะมีทั้งเงินอุดหนุน เงินช่วยเหลือ ตามมาด้วยกองทุนฯ เชื่อว่า คนที่อยู่ใน กมธ. เห็นภาพรวมทุกมาตรา”
รศ.วิษณุ อรรถวานิช
กฎหมายที่ดี ประชาชนต้องมีส่วนร่วม
กว่าจะออกมาเป็น พ.ร.บ. อากาศสะอาดฯ รศ.วิษณุ กล่าวว่า จะต้องผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย รับฟังทุกฝ่ายซึ่งจะมีการเปิดรับฟังความความเห็นประชาชน เพื่อนำมาปรับปรุงก่อนนำกลับเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร
“มันเป็นเรื่องของส่วนรวม การมีส่วนร่วมเป็นสิ่งสําคัญ แต่การมีส่วนร่วมก็ต้องมีข้อจํากัด เพราะเราก็ต้องแข่งกับเวลา มันก็มีรายละเอียด”
รศ.วิษณุ อรรถวานิช
หากกฎหมายคลอดแล้ว ต้องใช้เวลาเพื่อ “เปลี่ยนแปลง“
รศ.วิษณุ กล่าวว่า หลายประเทศใช้เวลาในการบังคับใช้กฎหมายและสร้างการเปลี่ยนแปลง นาน 5-10 ปี เพราะว่า กว่า พ.ร.บ.จะออก และยังต้องมีกฎหมายลูกตามมา โครงสร้างหน่วยงานบางหน่วยก็ต้องปรับ ซึ่งจะทำให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เอกชนเองก็ต้องการให้บอกล่วงหน้าก่อนดำเนินการ เพื่อให้เขามีโอกาสเตรียมตัว แต่ว่าในท้ายที่สุด เชื่อว่า “จะดีขึ้น” แต่ก็มีความกังวลว่าในบางมาตรา ที่กระทบกับคนบางกลุ่มจะถูกตีตกหรือไม่
“มันก็จะกลายเป็นเหมือนเสือที่ไม่มีเขี้ยวเล็บ เพราะฉะนั้น พัฒนาการในการแก้ปัญหานี้ก็จะยากมากขึ้น อนาคตสิ่งที่ต้องจับตามอง คือ ร่างพ.ร.บ.ที่เราออกแบบมาเนี่ย จะถูกถอดเขี้ยวเล็บออกไปมากน้อยแค่ไหน จากกําลังของกลุ่มผู้ที่เสียผลประโยชน์ นะครับเพราะว่าต้องไม่ลืมนะฮะการออกกฎหมายต้องมีผู้เสียประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้ได้ประโยชน์ แต่คนที่เสียประโยชน์เนี่ยก็จะเสียงใหญ่หน่อย ตรงนี้ก็ต้องพยายามทําความเข้าใจกัน พยายามหาทางออก แต่สุดท้ายแล้วสังคมไทยต้องเปลี่ยนไป เปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น”
รศ.วิษณุ อรรถวานิช กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนการประชุมพิจารณาของ กมธ. ในหมวดที่ 6 ยังไม่แล้วเสร็จโดยจะมีการประชุมต่อเนื่องทั้งในคณะอนุธรรมาธิการ และ คณะกรรมาธิการฯ ชุดใหญ่ เพื่อปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดให้มีความครบถ้วนต่อไป