เล็งออกประกาศห้ามรถบรรทุกที่ไม่ผ่านการปรับปรุง ตรวจเช็กเครื่องยนต์ เข้าพื้นที่ช่วงค่าฝุ่นสูงระดับสีแดง เตรียมเปิดลงทะเบียน ‘บัญชีสีเขียว’ รถบรรทุกเครื่องยนต์สะอาด 1 พ.ย. – 31 ธ.ค.นี้ ก่อนบังคับใช้จริง ม.ค.ปีหน้า ขณะที่ ประธาน กมธ.อากาศสะอาด แย้ม กฎหมายคืบหน้า 60%
วันนี้ (29 ต.ค. 67) ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ประชุมร่วมกับหน่วยงานภาคี ถึงความร่วมมือลดฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2568 อาทิ กรมควบคุมมลพิษ, กรมการขนส่งทางบก, สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สสวท. เพื่อหาแนวทางป้องกัน ฝุ่น PM 2.5 ในช่วงเดือน พฤศจิกายน ถึง มีนาคม ของทุกปี โดยได้วางมาตรการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (Low Emission Zone) เพิ่มเติมทั้งหมด 7 มาตรการ
ชัชชาติ ระบุถึงมาตรการแรกว่า เป็นการควบคุมรถบรรทุกเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน โดยพยายามหาอำนาจทางกฎหมาย ที่จะใช้ในการควบคุมมลพิษ เนื่องจากผู้ว่าฯ กทม. ไม่มีอำนาจ โดยในปีที่ผ่านมาสภากรุงเทพมหานคร ออกข้อบัญญัติที่ให้รถโดยสารสาธารณะใน กทม. เป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด แต่ปรากฏว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากอำนาจในการควบคุมรถเป็นของกรมการขนส่งทางบก ท้ายที่สุดจึงใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 โดยออกเป็น ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งเป็นการใช้อำนาจ ตามมาตรา 29 ประกอบมาตรา 37 วรรคสอง “เมื่อเกิดหรือใกล้จะเกิดสาธารณภัยขึ้นในพื้นที่ใดและการอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการใด ๆ ในพื้นที่นั้นเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพประชาชน ประกาศดังกล่าวให้กำหนดระยะเวลาการห้ามและเขตพื้นที่ที่ห้ามตามจำเป็นไว้”
“หลักการของเราคือว่าไม่ได้ห้ามรถบรรทุกทุกคัน เพราะปัญหาหลักของเราถ้าดูจากตัวเลขจะเห็นว่า รถบรรทุกดีเซลจะเป็นตัวที่ปล่อย PM2.5 สูงที่สุดประมาณ 40% ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เก่า ตั้งแต่ยูโร 4 ลงไป แต่ถ้าหากเป็นรถ EV, NGV, หรือยูโร 5 และ 6 จะปล่อยมลพิษน้อย แต่รถที่ต่ำกว่า ยูโร 5 หากเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนไส้กรอง จะช่วยลด PM2.5 ลง เราจะอนุญาตให้รถเหล่านี้เข้ามาในเขตได้ ในกรณีที่เกิดภาวะวิกฤต”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ บอกอีกว่า จะมีการพัฒนา Green List หรือ บัญชีสีเขียว โดยให้รถที่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนไส้กรองแล้ว รวมทั้งพลังงาน EV, NGV หรือรถที่มีมาตรฐานน้ำมันสูง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. เป็นต้นไปให้รถเหล่านี้ มาลงทะเบียนรถบัญชีสีเขียว ซึ่งถือว่าเป็นรถที่ปล่อยมลพิษน้อย ซึ่งบัญชีนี้จะเปิดให้ทั้งรถบรรทุก รถโดยสาร 6 ล้อขึ้นไป รวมถึงรถของ ขสมก. เข้ามาลงทะเบียนด้วย ซึ่งเมื่อลงทะเบียนบัญชีสีเขียวแล้ว จะสามารถขับรถเข้ามาในเขตควบคุมได้ แต่หากไม่มีการลงทะเบียนก็จะไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ โดยมี 2 จุด คือ วงแหวนรัชดาภิเษก และวงแหวนกาญจนาภิเษก
“เหตุผลที่ทำแบบนี้เพราะเนื่องจากเมื่อก่อนเราห้ามรถบรรทุกทุกคันไม่ให้วิ่งเลยในกรณีที่ค่าฝุ่นสูง แต่ การทำแบบนั้นส่งผลต่อรถที่มีการปรับปรุง จะโดนห้ามวิ่งไปไปด้วย ไม่มีแรงจูงใจให้คนทำดี ซึ่งนี่เป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนที่มีการปรับตัว ซึ่งจะส่งผลดีทั้งในยามที่ค่าฝุ่นสูง และในยามปกติ”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
โดยมีหลักเกณฑ์ คือ
- ข้อมูลบ่งชี้ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง ไม่ น้อยกว่า 5 เขต
- มีการพยากรณ์ล่วงหน้า 2 วัน อยู่ในระดับสีส้ม 15 เขต มีอัตราการระบายอากาศน้อยกว่า 3,000 ตารางเมตรต่อวินาที มีลมจากฝั่งตะวันออก
- จะทำการออกประกาศ ล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
โดยระยะเวลาการห้าม 3 วัน มีผลใช้ตั้งแต่วันประกาศ ซึ่งหากฝุ่น เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะมีการพิจารณาออกประกาศห้ามรถประเภทอื่นเพิ่มเติมต่อไป
“ผมเชื่อว่านี่จะเป็นสิ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหา ทั้งในช่วงที่มีฝุ่นและไม่มีฝุ่น เพราะมาตรการนี้จะช่วยให้ลดบรรทุกต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า ในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนใช้เครื่องยนต์ที่ดีขึ้น เพราะว่าถึงเวลาฤดูฝนแล้วต้องหยุดวิ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของพวกเขา”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกว่า ขณะนี้ กทม. ได้ทำบัญชีแผนที่กล้อง CCTV เพื่อใช้ในการตรวจสอบ 257 ตัว จะมีการบันทึกทะเบียนรถเอาไว้ หากพบว่ามีการฝ่าฝืน นำรถที่ไม่ได้ลงทะเบียนบัญชีสีเขียว จะมีบทลงโทษ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังมีการตั้งด่านร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ 14 จุด ตรวจตามไซต์ก่อสร้าง สถานประกอบการ อู่รถเมล์ ในช่วงที่ประกาศว่าเป็นวิกฤตว่ารถเหล่านี้ได้ผ่าฝืนเข้ามาในเขตหรือไม่
สำหรับ มาตรการที่ 2 คือ “โครงการรถคันนี้ลดฝุ่น” โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการลดมลพิษทางอากาศจากยานพาหนะ ตั้งเป้ารถเข้าร่วมโครงการไว้ 500,000 คัน หลังจากปี 2567 มีรถยนต์เข้าร่วมโครงการโดยเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรอง จำนวน 265,130 คัน ช่วยลด PM2.5 จากภาคการจราจร 13.26%
มาตรการที่ 3 Work From Home เมื่อค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง 5 เขต ต่อเนื่อง 2 วัน โดยขอความร่วมมือภาคีเครือข่าย WFH ให้เจ้าหน้าที่หรือพนักงานปฏิบัติงานในที่พัก เพื่อลดปริมาณการจราจรและผลกระทบต่อสุขภาพ
มาตรการที่ 4 การให้บริการยืมรถอัดฟาง เพื่อลดการเผาในภาคการเกษตร โดยปรับลดเงื่อนไขการยืมรถอัดฟางในส่วนของผู้ยืม และการยกเว้นค้ำประกัน
มาตรการที่ 5 โครงการนักสืบฝุ่น โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อศึกษาแหล่งที่มาของฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ กทม. และสนับสนุนการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5
มาตรการที่ 6 การจัดทำห้องปลอดฝุ่นและธงคุณภาพอากาศในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และป้องกันสุขภาพอนามัยของนักเรียนและบุคลากร
มาตรการที่ 7 การเปิดให้บริการคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 8 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธฺโร อุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ และโรงพยาบาลนคราภิบาล ซึ่งประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้
กฎหมายอากาศสะอาด คืบหน้า 60%
ขณะที่ความคืบหน้าในการพิจารณาร่างกฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งมีการเสนอผ่านเข้าไปที่สภาผู้แทนราษฎรถึง 7 ฉบับ โดยมีทั้งฉบับของรัฐบาล พรรคการเมือง และฉบับประชาชนโดยเครือข่ายอากาศสะอาด ซึ่งพิจารณากันมาตั้งแต่ต้นปี
จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการอาดสะอาด พ.ศ. … เปิดเผยกับ The Active ว่า ในร่างกฎหมายมีทั้งหมด 10 หมวด ซึ่งกำลังอยู่ระหว่าง การปรับแก้ไขรายละเอียกข้อความบางส่วน ซึ่งทั้ง 7 ร่าง ผ่านการศึกษาโดยอนุกรรมการ 2 ชุด คือ การศึกษาระเบียบโครงสร้างกฎหมาย และรายละเอียดในตัวบทกฎหมาย ซึ่งตอนนี้ถือว่าเกิน 60% และเนื่องจากกฎหมาย มีถึง 7 ร่าง การพิจารณาต้องทำอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่ให้ตกหล่น จึงต้องใช้เวลาในการพิจารณา ทำให้ต้องเพิ่มวันประชุม กมธ. จากเดิมคือทุกวันศุกร์ เป็น วันจันทร์และวันศุกร์ เพื่อให้ทันเปิดสมัยประชุมรัฐสภาหน้า โดยจะมีการแถลงรายละเอียดอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (30 ต.ค. 67)