ย้ำหลักฐานชัด ตัวการปล่อยสารเคมีอันตรายทั้งใน นอกโรงงาน ลงผิวดิน แหล่งน้ำสาธารณะ เข้าข่ายความผิด ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (2 ก.ย. 67) ผู้สื่อข่าว Thai PBS รายงานว่า ศาลจังหวัดระยอง ได้นัดฟังคำพิพากษาในคดีที่ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ยื่นฟ้องเอาผิดทางแพ่งต่อ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด และกรรมการบริษัท อีก 2 คน กรณีพบการปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายทั้งในและนอกโรงงาน ลงผิวดินและแหล่งน้ำสาธารณะ ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งมีหลักฐานว่า มีแหล่งกำเนิดมาจากโรงงานวิน โพรเสส
โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้เรียกร้องค่าเสียหายกับบริษัทฯ เป็นเงิน 1,743,589,923.46 บาท (รวมดอกเบี้ย) เพื่อใช้ในการฟื้นฟูดิน และน้ำที่มีการปนเปื้อนมลพิษให้กลับคืนสู่สภาพเดิม
การฟ้องร้องคดีนี้ สืบเนื่องจาก บริษัท วิน โพรเสส จำกัด รับจ้างขนย้ายกากของเสียอุตสาหกรรมจากโรงงานที่เป็นแหล่งผลิตต่างๆ เพื่อดำเนินการบำบัดกำจัด แต่กลับนำมากองเก็บไว้และลักลอบฝัง หรือ เททิ้ง (กรณีเป็นของเหลว) ในพื้นที่โรงงานและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง นับตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา
ต่อมา ปี 2563 กรมควบคุมมลพิษได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงาน และตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมหลายครั้ง ภายหลังจากที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านหนองพะวา เมื่อปี 2560
สำหรับผลการตรวจสอบและตรวจวัดโดยกรมควบคุมมลพิษ กรณีคุณภาพน้ำที่ไหลผ่านโรงงาน พบว่ามีสภาพเป็นกรดเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งเกิดจากการฝังกลบของเสียปนเปื้อนสารพิษภายในโรงงาน และมีการซึมสู่แหล่งน้ำสาธารณะ
ผลตรวจตัวอย่างน้ำผิวดินบริเวณใกล้เคียงโรงงานทั้งหมด 8 จุด พบการปนเปื้อน 7 จุด, ผลการตรวจคุณภาพน้ำภายในโรงงาน 2 จุด มีสภาพเป็นกรดสูงและพบค่าตะกั่วปนเปื้อนเกินมาตารฐาน รวมทั้งมีการปนเปื้อนโลหะหนักอื่นอีกหลายชนิด, ผลตรวจคุณภาพน้ำใต้ดิน 12 จุด มีค่าสารหนูไม่เป็นไปตามค่ามาตรฐาน, ผลตรวจบ่อน้ำในสวนยางพาราข้างโรงงาน (สวนลุงเทียบ) มีสภาพเป็นกรดสูงที่สุด ส่วนผลตรวจตัวอย่างดิน 6 จุด มีสภาพเป็นกรดปานกลาง-รุนแรงมาก
สรุปได้ว่า โรงงานวิน โพรเสสฯ เป็นแหล่งก่อกำเนิดของการรั่วไหลและแพร่กระจายมลพิษ ลงสู่บ่อน้ำของชาวบ้านและแหล่งน้ำสาธารณะ ก่อให้เกิดการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดิน เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นสาเหตุให้พื้นที่การเกษตรบริเวณนั้นเสียหาย เข้าข่ายเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 96 และมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
จนกระทั่ง วันที่ 22 เมษายน 2567 เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ขึ้นในโรงงานวิน โพรเสสฯ ทำให้สถานการณ์มลพิษในพื้นที่บ้านหนองพะวาซ้ำหนักยิ่งขึ้นไปอีก