‘มูลนิธิบูรณะนิเวศ’ เผยคดี กรมควบคุมมลพิษ ฟ้องเรียกค่าเสียหาย ‘วิน โพรเสสฯ’ 1.7 พันล้านบาท ฐานลักลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรม ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเงินฟื้นฟูดิน-น้ำ ปนเปื้อนมลพิษขณะที่ ชาวบ้านหนองพะวา หวัง ‘รัฐมนตรี – อธิบดี’ คนใหม่ ยืนข้างประชาชน
วันนี้ (30 ส.ค. 67) มูลนิธิบูรณะนิเวศ แจ้งว่า ในวันที่ 2 ก.ย.นี้ เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดระยอง ได้นัดอ่านคำพิพากษา กรณี กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ฟ้องเอาผิดทางแพ่งต่อ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ชุมชนหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง และฟ้องกรรมการบริษัท อีก 2 คน ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 โดยเรียกร้องค่าเสียหายกับบริษัทเป็นเงิน 1,743,589,923.46 บาท (รวมดอกเบี้ย) เพื่อใช้ในการฟื้นฟูดินและน้ำที่มีการปนเปื้อนมลพิษให้กลับคืนสู่สภาพเดิม
มูลนิธิบูรณะนิเวศ ยังเปิดเผยถึง กรณีการฟ้องร้องดังกล่าว สืบเนื่องจาก บริษัท วิน โพรเสสฯ ทำการรับจ้างขนย้ายกากของเสียอุตสาหกรรมจากโรงงานแหล่งผลิตเข้ามาในพื้นที่เพื่อดำเนินการบำบัดกำจัด แต่กลับพบว่าเป็นเพียงการนำมากองไว้ และลักลอบฝังหรือเททิ้งภายในพื้นที่โรงงานและบริเวณใกล้เคียง นับตั้งแต่ประมาณปี 2554 ที่โรงงานมาตั้ง โดยปัญหาและผลกระทบด้านมลพิษเริ่มปรากฏมาตั้งแต่ปี 2556 แล้ว แต่บริษัทก็ยังคงดำเนินต่อมา จนถึงช่วงกลางปี 2563 ฝ่ายบริษัทจึงได้ขอเลิกทำ เนื่องจากเริ่มถูกตรวจสอบอย่างหนักมาหลายปี โดยเฉพาะในปี 2563 ที่ คพ. ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานและตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมหลายครั้ง จากการร้องเรียนของชาวบ้านหนองพะวา เมื่อปี 2560 ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งน้ำสาธารณะและพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชน
ต่อมาวันที่ 21 ก.ค. 2563 บริษัท วิน โพรเสสฯ และกรรมการบริษัทอีก 2 คน ได้ถูกดำเนินคดีอาญา ในความผิดฐานครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่เนื่องจากยอมรับสารภาพ จึงได้รับการลดหย่อนเหลือเพียงโทษปรับและรอลงอาญา
สำหรับผลการตรวจสอบและตรวจวัดโดย คพ. มีข้อมูลที่สำคัญ คือ
- ผลตรวจคุณภาพน้ำที่ไหลผ่านโรงงาน มีสภาพเป็นกรดเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งเกิดจากการฝังกลบของเสียปนเปื้อนสารพิษภายในโรงงาน และมีการซึมสู่แหล่งน้ำสาธารณะ
- ผลตรวจตัวอย่างน้ำผิวดินบริเวณใกล้เคียงโรงงานทั้งหมด 8 จุด พบการปนเปื้อน 7 จุด
- ผลการตรวจคุณภาพน้ำภายในโรงงาน 2 จุด มีสภาพเป็นกรดสูงและพบค่าตะกั่วปนเปื้อนเกินมาตารฐาน รวมทั้งมีการปนเปื้อนโลหะหนักอื่นอีกหลายชนิด
- คุณภาพน้ำใต้ดิน 12 จุด มีค่าสารหนูไม่เป็นไปตามค่ามาตรฐาน
- บ่อน้ำในสวนยางพาราข้างโรงงาน (สวนลุงเทียบ) มีสภาพเป็นกรดสูงที่สุด
- ผลตรวจตัวอย่างดิน 6 จุด มีสภาพเป็นกรดปานกลาง-รุนแรงมาก
ถือเป็นหลักฐาน ที่ชี้ว่า โรงงานวิน โพรเสสฯ ทำให้เกิดการรั่วไหลและแพร่กระจายมลพิษ ลงสู่บ่อน้ำของชาวบ้าน และแหล่งน้ำสาธารณะ ก่อให้เกิดการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดิน เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นสาเหตุให้พื้นที่การเกษตรบริเวณนั้นเสียหาย เข้าข่ายเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 96 และมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
กระทั่งในวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ขึ้นภายในโรงงานวิน โพรเสสฯ และทำให้สถานการณ์มลพิษในพื้นที่บ้านหนองพะวาย่ำแย่หนักยิ่งไปกว่าเดิม
ดาวัลย์ จันทรหัสดี ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม ภายใต้แผนงานมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยกับ The Active ว่า ผลของคดีนี้มีโอกาสที่ คพ. จะชนะคดีสูงมาก แต่มีความกังวลว่าผลที่เกิดขึ้นจากคดีจะเป็นอย่างไรต่อไป จะได้เงินจากการฟ้องหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาทางบริษัทฯ แสดงตัวว่าไม่มีเงินชดเชย และอยากเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีอาญากับบริษัทและกรรมการบริษัทเสียที เพราะที่ผ่านมาผู้กระทำผิดไม่เคยได้รับการลงโทษทางอาญา นอกจากนี้ยังมีความชัดเจนทั้งกรณีของวิน โพรเสสฯ และเอกอุทัย ซึ่งทางตำรวจเองก็กล่าวว่ามีกรทำเป็นกระบวนการเข้าข่ายอั้งยี่ หรือ เรียกว่าเป็น “อาชญากรสิ่งแวดล้อม”
“อีกเรื่องที่กังวลคือ ตอนนี้รัฐมนตรีทั้ง 2 กระทรวง คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงอุตสาหกรรม ก็ยังมีความไม่ชัดเจนว่าใครจะมาดำรงตำแหน่ง ทำให้ไม่รู้ว่าการขับเคลื่อนจะเป็นอย่างไรต่อไป อีกทั้ง จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม จะเกษียณสิ้นเดือน ก.ย. นี้ จึงอยากเร่งให้มีการฟ้องคดีอาญากับวิน โพรเสสฯ โดยเร็ว”
ดาวัลย์ จันทรหัสดี
ขณะที่ สนิท มณีศรี ชาวบ้านหนองพะวา บอกว่า คดีนี้หลักฐานชัดเจน มีความเป็นไปได้ที่จะชนะ แต่ก็กังวลว่าจะเป็นเหมือนคดีที่ชาวบ้านเคยฟ้องร้องก่อนหน้านี้ ที่ชนะคดี แต่ค่าความเสียหายที่เรียกไปลดลง กรณีนี้บริษัทควรต้องจ่ายมากขึ้น เพราะความเสียหายจากวันนั้นถึงตอนนี้เกิดขึ้นมาต่อเนื่องและหนักขึ้น และปัญหาอย่างหนึ่งที่เห็นคือ จำเลยไม่มีเงินจ่าย ไม่รับผิดชอบ ทำให้รัฐต้องหางบประมาณมาดำเนินการก่อน
“ถ้าค่าเสียหายที่เรียกไปถูกลด แล้วมีการแก้ไข ชาวบ้านยังพอรับได้ ตอนนี้นอกจากไม่มีเงิน ก็ไม่มีแผนฟื้นฟูที่ชัดเจน ชาวบ้านอยู่กับต้องรอแบบไร้จุดหมาย งบฯกลางที่กรมอุตสาหกรรมขอก็ยังไม่ได้ หากเป็นไปได้อยากให้มีความชัดเจนเรื่องแนวทางแก้ปัญหา กรอบระยะเวลาดำเนินการ ตอนนี้เงินที่กรมฯ มี 4 ล้านบาท ไม่พอ อยากให้รัฐบาล คนที่มีอำนาจอนุมัติงบฯ เห็นใจชาวบ้าน”
สนิท มณีศรี
สนิท กล่าวอีกว่า หลังจากอธิบดีฯ จุลพงษ์ เกษียณ อาจมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ไม่มั่นใจว่าคนใหม่จะลงพื้นที่ และเข้าถึงชาวบ้านแบบนี้หรือไม่ ซึ่งยอมรับว่าการทำงานของอธิบดีฯ จุลพงษ์ ทำให้ชาวบ้านมีความหวัง กำลังใจ ว่า มีคนระดับอธิบดีที่ยืนอยู่ข้างประชาชน