สะท้อน คุมมลพิษจากการขนส่งยาก เหตุ “ดูแลพื้นที่ แต่ไร้อำนาจ” เสนอ กระจายทั้งอำนาจทางกฎหมายและงบประมาณสู่ท้องถิ่น พร้อมรับมอบ “กล่องอากาศดี” ลดฝุ่นในห้องเรียนเด็กเล็ก
วันนี้ (14 ส.ค. 2567) ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับมอบ “กล่องอากาศดี DIY” ภายใต้ โครงการคืนลมหายใจที่ไร้ฝุ่น ให้แก่เด็กในสังกัด กทม. จากมูลนิธิเวชดุสิตฯ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เคยนำร่องใช้งานในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย เพื่อกระจายไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ใน กทม.หวัง ลดผลกระทบจากฝุ่น PM2.5
The Active สอบถามผู้ว่าฯ กทม. ถึงประเด็น ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ. … ที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ หลังจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (9 ส.ค. 2567) มีการหารือในคณะกรรมาธิการฯ เกี่ยวกับคณะกรรมการอากาศสะอาดกรุงเทพมหานคร โดยมีที่ปรึกษาผู้ว่าราชการ กทม. ไปร่วมแสดงความเห็นถึงข้อจำกัดในการใช้อำนาจบริหารจัดการมลพิษทางอากาศของ กทม. โดย ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ระบุว่า ควรให้อำนาจท้องถิ่นในการดูแล เพราะหลาย ๆ เรื่อง เช่น รถสาธารณะ รถขนส่ง กทม.ไม่มีอำนาจไปกำหนด ว่าต้องเป็นรถที่ไม่ปล่อยควันพิษ เนื่องจากเรื่องนี้ยังเป็นอำนาจของกรมการขนส่งทางบก ทั้งที่จริง ๆ แล้ว กทม.เป็นผู้ดูแลพื้นที่ แต่กลับไม่มีอำนาจ เสนอว่าบางอย่างควรกระจายอำนาจมาให้ท้องถิ่นดูแลมากขึ้น
“เชื่อว่าคณะกรรมาธิการฯ คงเข้าใจ เพราะเขาคือตัวแทนประชาชนเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอำนาจอะไรที่สามารถผ่องถ่ายมาให้ท้องถิ่นได้น่าจะเป็นเรื่องที่ดี อยากให้ถ่ายโอนมาทั้งในแง่ของงบประมาณ และความรับผิดชอบด้วย อย่าเอามาแค่ความรับผิดชอบนะครับ ของบประมาณด้วย”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ กล่าวว่า ในส่วนของการแก้ปัญหาฝุ่น กทม. ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 เรื่องมลพิษทางอากาศ กทม. ได้ดำเนินการในเรื่องการป้องกัน แต่งบประมาณที่ใช้ไม่มาก แต่เน้นเรื่องมาตรการมากกว่า เน้นเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การขอความร่วมมือมากกว่า และอาจจะไม่ได้ใช้งบประมาณมากนัก
นอกจากนี้ ชัชชาติ ยังเผยถึงการรับมอบ “กล่องอากาศดี DIY” เพื่อนำไปใช้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ว่า ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ กทม. เป็นปัญหาใหญ่ ไม่แพ้ในพื้นที่ภาคเหนือ ที่สำคัญเด็กเล็กเมื่อหายใจเอาฝุ่นเข้าไปในปอด ฝุ่นนั้นจะอยู่กับร่างกายไปอีกหลายปี โดยศูนย์พัฒนเด็กเล็กในพื้นที่ กทม.ส่วนหนึ่งเป็นของเอกชน ทำให้งบประมาณจากภาครัฐ ไปไม่ถึง อีกทั้ง กทม. มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดหลายแห่ง บางส่วนอยู่ในพื้นที่เอกชน ซึ่งเป็นเรื่องยากในการจัดสรรงบประมาณเข้าไปดูแล เด็กอีกบางส่วนต้องอยู่ในห้องที่ฝุ่นสามารถเข้าไปได้ ดังนั้นหัวใจในการสู้ปัญหาฝุ่นต้องมี 4 เกลียว ประกอบด้วย ภาครัฐ ประชาชน วิชาการ และภาคเอกชน มาร่วมกัน หากผูก 4 เกลียวนี้เป็นเชือกที่แข็งแรงจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้
นพ.ไพศาล เลิศฤดีพร กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิเวชดุสิต กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ มูลนิธิฯ ได้ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการพัฒนานวัตกรรมกล่องอากาศดี สำหรับใช้ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีค่าฝุ่น PM2.5 สูงติดอันดับโลก โดยมุ่งเป้าไปที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่ต้องใช้ชีวิตในศูนย์ 8 ชั่วโมงต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งกล่องอากาศดีจะช่วยให้ปอดของเด็ก ๆ ปลอดมลพิษ โดยดำเนินการแจกไปแล้ว 500-600 แห่ง จำนวนกว่า 2,000 กล่อง จนนำมาสู่การขยายสู่พื้นที่ กทม. สำหรับใช้ในกลุ่มเปราะบาง ทั้งเด็กเล็ก ผู้ป่วย ผู้พิการ คนชรา ได้มีลมหายใจที่ดีได้
คงศักดิ์ บุญประณัย รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า นวัตกรรมกล่องอากาศดี มาจากแนวคิดของห้องความดันบวกในห้องผ่าตัดของโรงพยาบาล เพื่อผลักให้ฝุ่น PM 2.5 ออกจากห้องความดันบวก โดย 1 กล่องเหมาะสำหรับใช้ในห้องที่มีขนาดประมาณ 30-35 ตารางเมตร ซึ่งกลไกการทำงานของกล่องอากาศดี จะเหมือนเครื่องฟอกอากาศ แต่ประสิทธิภาพสูงกว่า ซึ่งเมื่อนำไปใช้กับห้องเรียนปฐมวัยจะใช้จำนวน 2 กล่อง ซึ่งจะมีการถ่ายโอนอากาศเข้าและออก