เกือบ 3 เดือน ไร้วี่แวว แก้พิษ ‘วิน โพรเสส’

ทวงถามใคร ? ดองแผนของบฯ กลาง ชี้ กรมโรงงานฯ ทำแผนส่งแล้ว แต่ค้างอยู่ตรงไหน ทำไมยังไม่เข้า ครม. 

วันนี้ (15 ก.ค. 2567) มูลนิธิบูรณะนิเวศ และ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม ภายใต้แผนงานสนับสนุนพลเมือง สู้ มลพิษอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดี จัดเวทีสาธารณะ “รวมพลัง ร่วมกัน แก้ไขฟื้นฟู เยียวยา หนองพะวา” บอกเล่าและรับฟังการทำงานที่ผ่านมาของหน่วยงานภาครัฐ ณ วัดหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า การจัดงานวันนี้ต้องการย้อนมองดูปัญหาที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ไฟไหม้โกดังเก็บกากอุตสาหกรรมของโรงงาน วิน โพรเสส เมื่อ 22 เม.ย. 67 ซึ่งนับจนถึงวันนี้เวลาผ่านไปเกือบ 3 เดือน สิ่งที่เห็นว่าเป็นช่องว่างของเหตุการณ์ และการดำเนินการต่าง ๆ ของหน่วยงานราชการที่พยายามเข้ามาแก้ปัญหา รวมถึงการแก้ปัญหาก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ ซึ่งพบว่ามีช่องว่างเรื่อง “การสื่อสาร” ชาวบ้านจำนวนมากต้องการทราบว่า หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างไรไปบ้าง และจากนี้จะเดินหน้าต่ออย่างไร โดยเฉพาะเรื่องการขนย้ายกากอุตสาหกรรมอันตรายที่มีอยู่หลายหมื่นตันออกไปจากพื้นที่ และนำไปจัดการให้ถูกต้องและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นข้อกังวลใหญ่ของชาวบ้าน รวมทั้งการดำเนินการฟื้นฟูเยียวยา สิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

“ที่ผ่านมาตลอด 3 เดือน การดำเนินการต่าง ๆ เดินหน้าไปมาก และความเดือดร้อนของชาวบ้านก็ได้บรรเทาลงไปพอสมควรเช่นกัน แต่คำถามใหญ่ยังคงเป็นข้อห่วงใยของชาวบ้าน คือสิ่งที่ยังคงค้างอยู่ และการปนเปื้อนที่กระจายอยู่ในเวลานี้จะดำเนินการอย่างไร เราทราบมาว่าหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีแผนการอยู่ หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ก็มีแผนดำเนินการ แต่ชาวบ้านที่ไม่ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุม เวทีวันนี้จึงเกิดขึ้นมาเพื่ออุดช่องว่าง ให้เกิดความเข้าใจตรงกัน และเพื่อให้ชาวบ้านได้สะท้อนความต้องการด้วย”

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง

ท้องถิ่นมอง ‘กระจายอำนาจ’ คืออุปสรรคแก้ปัญหาล่าช้า

จตุรงค์ วงค์สุวรรณ นายกองค์การบริการส่วนตำบลบางบุตร ยอมรับว่า นับตั้งแต่วันเกิดเหตุได้ตั้งศูนย์ให้บริการ รับเรื่องร้องเรียนเพื่อเยียวยาช่วยเหลือชาวบ้านตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย แต่ก็เกิดปัญหาเรื่องความล่าช้า เนื่องจากต้องดำเนินการตามระเบียบข้าราชการ ทำให้แก้ปัญหาโดยเบ็ดเสร็จไม่ได้

จตุรงค์ วงค์สุวรรณ นายกองค์การบริการส่วนตำบลบางบุตร

“อำนาจของนายก อบต. มีเพียงหยิบมือ คนที่มีอำนาจสูงสุดคือรัฐบาล โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจเชื่อว่าปัญหาจะแก้ได้เสร็จเร็วกว่านี้ ผมอยากช่วยประชาชนจะแย่ เข้ามามาร้องไห้บอกว่าต้องไปอยู่บ้านญาติเป็น 10 วัน แต่งบประมาณไม่สามารถเอาไปช่วยเหลือเขาได้ เพราะบ้านญาติเขาไม่ได้อยู่ในเขต ผมไม่ได้หมายถึงเฉพาะรัฐบาลนี้แต่หมายถึงทุกรัฐบาล”

จตุรงค์ วงค์สุวรรณ

จตุรงค์ บอกด้วยว่า ตอนที่เกิดเหตุได้มีการจ่ายถุงยังชีพทุกบ้านในพื้นที่ประมาณ 1,000 ราย โดยใช้งบประมาณของ อบต. จำนวน 1,365,000 บาท และการช่วยเหลือครอบครัวละไม่เกิน 3,000 บาท คาดว่าจะจ่ายได้แล้วเสร็จประมาณสัปดาห์หน้า ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบเอกสาร โดยระยะแรกจะได้ 400 กว่าราย ได้รับเงินเยียวยาแน่นอน

ทวงถาม ใครดองแผนของบฯ กลาง ?

ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.เขต 4 จ.ระยอง พรรคก้าวไกล บอกว่า จากการติดตามแก้ปัญหาในประเด็นนี้ ข้อจำกัดสำคัญคือเรื่องงบประมาณที่ยังไม่ถูกอนุมัติ งบประมาณที่จำเป็นต้องใช้ ณ เวลานี้ ควรต้องมาจากงบประมาณกลางฯ เพื่อการแก้ไขปัญหาฉุกเฉิน หากจำไม่ผิด เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เคยกล่าวว่า ยังมีเหลือ ซึ่งหวังว่ามันจะเหลือเพียงพอสำหรับพี่น้องประชาชนชาวหนองพะวา ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ รวมถึงประชาชนอีกหลายจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานขยะ ไม่ว่าจะเป็น จ.พระนครศรีอยุธยา จ.นครราชสีมา จ.เพชรบูรณ์ จ.ปทุมธานี จ.ลพบุรี ซึ่งทุกคนกำลังรอกระบวนการในการขนย้ายไปกำจัดจะเสร็จสิ้น 

ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.เขต 4 จ.ระยอง พรรคก้าวไกล

“ผมติดตามเรื่องนี้ตลอด และรับทราบมาล่าสุดในที่ประชุมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ได้มีการส่งแผนเพื่อของบประมาณไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว เพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรมเอาเข้า ครม. เพื่ออนุมัติงบกลางฯ มาใช้ 300 กว่าล้านบาท เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ซึ่งในคณะกรรมาธิการที่ดินที่ติดตามเรื่องนี้ เมื่อกระบวนการมาถึงตรงนี้ สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อคือ นายกรัฐมนตรีที่ลงพื้นที่ แล้วสั่งการให้ขนออกไป มันติดอยู่ตรงนี้ครับ ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องนำเรื่องนี้เข้า ครม. ซึ่งไม่เห็นเหตุผลเลยที่จะไม่เอาเข้าประชุม เพราะนายกฯ สั่งเอง ตอนนี้เหลือแค่ว่า ทำไมตอนนี้ยังไม่ประชุมเรื่องนี้ใน ครม. ผมติดตามตลอด ดูทุกมติ แต่ยังไม่มีการนำเข้าประชุม อีก 7 วันข้างหน้าจะครบ 3 เดือน ถ้าหากยังไม่มีการนำเรื่องนี้เข้า ไม่นายกฯ ก็รัฐมนตรี เป็นคนดองเรื่องไว้”

ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ

วอนมองผลกระทบภาพรวมเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ขณะที่ ปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง กล่าวถึงบทบาทการทำงานของ อบจ. ในวิกฤตนี้ว่า การแก้ปัญหาตอนนี้อยู่ที่ฝ่ายบริหาร ทั้งที่ผู้มีอำนาจสูงสุดฝ่ายบริหารลงพื้นที่มาแล้ว อธิบดีก็ลงพื้นที่มาหลายครั้ง แต่เวลาผ่านไป 3 เดือน ยังทำอะไรไม่ได้ และกรณีที่เกิดขึ้นในจังหวัดระยองใหญ่ขนาดนี้ แก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย อยากบอกพี่น้องประชาชนว่า จะมีโครงการนิคมอุตสาหกรรม ในเขตพื้นที่ EEC จะไปบอกพี่น้องประชาชนว่าอย่างไรดี นายกฯ ลงพื้นที่มาแล้วก็ยังแก้อะไรไม่ได้ ส่วนตัวเองอยู่ ในส่วนจังหวัดไม่ได้มีอำนาจมาก ทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ลงพื้นที่มาตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุ นำเครื่องจักรเครื่องมือเข้ามา แต่ทำได้เฉพาะที่เขาสั่ง 

“รถ อบจ. ขุด เราก็ขุด อบจ. รื้อ เรารื้อ อบจ. ทำโน่น อบจ. ทำหมด แต่ทำเฉพาะที่เขาสั่ง เพราะเราไม่ได้มีความชำนาญ และถ้าหากไปทำโดยที่ไม่มีใครสั่งการ หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมาเราผิดรับผิดชอบไม่ไหว เพราะเราไม่รู้ว่าในถัง ในโกดังของโรงงานมีอะไรมากน้อยแค่ไหน อันตรายแค่ไหน เราไม่รู้ และผมบอกเจ้าหน้าที่ว่าหากใครเป็นคนสั่ง หากเกิดอะไรขึ้นส่วนนั้นต้องช่วยรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นเราทำได้เฉพาะที่มีคนแนะนำและข้อสรุปกันมาแล้วให้ทำ”

ปิยะ ปิตุเตชะ
ปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง

นายก อบจ.ระยอง บอกด้วยว่า ในช่วงที่ฝนจะตกได้มีการประชุมว่าจะแก้ไขอย่างไร มีการประสานชลประธาน โยธา มาหารือว่าพื้นที่ในโรงงานมีกี่ตารางเมตร หากฝนตกสูงสุด จะสามารถรับปริมาณน้ำได้หรือไม่ ซึ่งพบว่าไม่สามารถรับน้ำได้เพียงพอ จนเกิดเป็นแนวคิดใช้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบขุดบ่อน้ำเพิ่ม อย่างสวนของ เทียบ สมานมิตร เพื่อไม่ให้น้ำไหลออกเข้าสู่ระบบประปา

“ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แจ้งว่าสามารถใช้พื้นที่ได้ แม้ว่าเจ้าของจะไม่ยินยอม เพราะเป็นไปตามอำนาจที่สามารถสั่งการได้ จึงให้ลูกน้องไปคุยกับลุงเทียบ เพื่อขอใช้พื้นที่เมื่อคุยจบแล้ว ท้ายที่สุดลุงเทียบไม่ยอม เพราะมีองค์กรหนึ่งมาแนะนำว่า ต้องมีทนายเพื่อคุ้มครองสิทธิ ผมถามว่าต้องคุ้มครองสิทธิเฉพาะลุงเทียบเท่านั้นหรือ แล้วไม่คุ้มครองชาวบ้านที่เค้าอยู่แถวนี้ ทำไมไม่แนะนำให้ลุงเทียบยอม แล้วจะชดใช้ให้ลุงเทียบอย่างไรเป็นหน้าที่ของอุตสาหกรรมจังหวัด หน้าที่ของกระทรวง แต่ต้องยับยั้งไม่ให้น้ำไหลออกไปปนเปื้อน อันนี้ผมไม่พอใจเพราะคุณมองแค่ลุงเทียบไม่ได้มองคนอื่นเลย และคนอื่นกระทบวงกว้างมาก จะเยียวยาอย่างไร” 

ปิยะ ปิตุเตชะ

น้ำแหล่งน้ำหนองพะวา อยู่ในระดับไม่ปลอดภัย

มนัสวี เฮงสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา กรมทรัพยากรน้ำบาดาล บอกว่า จากการตรวจสอบน้ำทั้งใต้ดินและบนผิวดินบริเวณโรงงานวิน โพรเสส มาจนถึงบริเวณสระหนองพะวา มีความเป็นกรดตลอดแนว ขณะที่ ค่า TDS หรือ ค่าของแข็งที่ละลายน้ำ เรียกว่าปริมาณสารทั้งหมดที่ละลายอยู่ในน้ำ หรือ ตะกอน โดยได้มีการเก็บตัวอย่างน้ำไปทำให้เกิดความระเหย ซึ่งน้ำที่เหมาะสมต่อการอุปโภคบริโภคจะต้องมีค่า TDS ไม่เกิน 1,200 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่ ในพื้นที่หนองพะวา พบว่า ค่า TDS สูงถึง 27,900 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานกว่า 20 เท่า

มนัสวี เฮงสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา กรมทรัพยากรน้ำบาดาล

พร้อมเตือนว่า หากน้ำในแหล่งน้ำจุดไหนเป็นสีแดงหรือส้มให้สันนิษฐานว่า มีเหล็กจำนวนมาก ขณะที่น้ำบาดาล สูบขึ้นมาในตอนแรกอาจจะใส แต่เมื่อปล่อยข้ามคืน จะเกิดเป็นสีเหลืองสีส้ม เป็นสัญญาณที่บอกว่าน้ำบาดาลมีเหล็กละลายอยู่เยอะ และอีกจุดที่สังเกตได้ว่าเจอแล้วเป็นน้ำบาดาลที่ผิดปกติไปจากธรรมชาติ คือ ปริมาณอะลูมิเนียม ปกติตามมาตรฐานของน้ำบาดาล หรือน้ำผิวดีจะไม่ได้มีการกำหนดค่ามาตรฐานของอะลูมิเนียมไว้ เพราะเป็นตัวที่ละลายน้ำได้น้อย ทำให้พบน้อยกว่า 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่ที่หนองพะวา ในบริเวณโรงงานน้ำที่ออกมาจากสระที่ขุดใหม่ พบค่าอะลูมิเนียมถึง 772 มิลลิกรัมต่อลิตร เกินจากปริมาณที่เราพบทั่วไปประมาณ 1500 เท่า ขณะที่สระหนองพะวา พบค่าอะลูมิเนียม 28 มิลลิกรัมต่อลิตร เกินไป 50 เท่าตัว และที่หนักกว่านั้นคือบริเวณบ่อใหม่ใกล้สระหนองพะวา พบอะลูมิเนียม 20 มิลลิกรัมต่อลิตร และมีบ่อน้ำบาดาลที่บ้านของ เนือง ด่านนคร ซึ่งห่างจากโรงงานประมาณ 1 กิโลเมตร เจออะลูมิเนียมในน้ำ 6 มิลลิกรัมต่อลิตร ถือว่าน้ำไม่ปลอดภัยต่อการใช้ดื่ม ส่วนบ้านอื่น ๆ ยังอยู่ในจุดที่ ปลอดภัย ยกเว้นบริเวณใกล้สระหนองพะวา

มนัสวี ยังระบุถึงกลุ่มสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) เป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง พบในน้ำบาดาลเช่นกัน พบอยู่บริเวณสวนลุงเทียบ ทางทิศตะวันออกของโรงงาน ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กำลังทำการสำรวจเพิ่มเติม เพื่อหาแหล่งที่มาของสารอินทรีย์ระเหยง่ายในโรงงานว่าอยู่บริเวณไหน

ทำอะไรได้บ้าง ท่ามกลางข้อจำกัด ?

จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ย้ำว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับ วิน โพรเสส เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาใหญ่ในประเทศ โดยหลังการเล่าย้อนถึงไทม์ไลน์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของบริษัท ตั้งแต่อดีต และได้กล่าวถึงการใช้งบประมาณที่มีอย่างจำกัด ว่าได้มีการวางแผนว่า หากได้เงินจากศาล 4.9 ล้านบาท จะดำเนินการอย่างไรบ้าง จากเดิมที่เคยมีแผนจะขนย้ายอะลูมิเนียมดรอส แต่ตอนนี้ปัญหาไปอยู่ที่น้ำ

จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

เมื่อถามว่าจะจบอย่างไร อธิบดีกรมโรงงานฯ บอกว่า ต้องจบอย่างแน่นอน เพราะคดีใหญ่ขนาดนี้หากทำไม่จบประเทศเราคงมีปัญหา เพราะเป็นกรณีทำเป็นเครือข่ายที่ทำลายสิ่งแวดล้อมขนาดนี้ ตอนนี้น้ำที่กลางดงปนเปื้อนแล้ว ศรีเทพปนเปื้อนแล้ว ที่พระนครศรีอยุธยา 3 อำเภอกำลังตรวจสอบ ที่หนองพะวา กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ก็กำลังทำการตรวจสอบอยู่ เราปล่อยให้เรื่องพวกนี้เกิดขึ้นไม่ได้ 

“ผมไม่แก้ตัว ที่ผ่านมาจะเร็วจะช้าอย่างไร แต่ต้องการเข้ามาแก้ปัญหา และต้องการการสนับสนุน ตอนนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดี จากกรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งเรามีคดีกับ บริษัทวินโพรเสส ที่บ้านค่าย หลายคดี คดีที่ 1 แจ้งข้อหาประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามกฎหมายโรงงาน คดีที่ 2 แจ้งข้อหาครอบครองวัตถุอันตรายโดยได้รับอนุญาต คดีที่ 3 ที่ได้ผลชะงักที่สุด คือแจ้งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นครั้งแรกที่กระทรวงอุตสาหกรรม ดึงกฎหมายอาญามาใช้ ซึ่งมีโทษหนักมาก คือ ติดคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และศาลรับฟัง เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาอย่างถูกจำคุกอยู่ และในหลายที่ที่มีการปนเปื้อนได้ตั้งเป้าหมายว่า จะต้องดำเนินคดีให้หมด ถ้าทุกอย่างราบรื่น ศาลให้เงินมา รัฐบาลจัดงบกลางฯ มา แต่เงินนี้มาจากภาษีประชาชน แล้วต้องมาเสียให้กับผู้ประกอบการที่ไม่รับผิดชอบกับการกระทำความผิด กฎหมายได้เปิดช่องทางให้หน่วยงานของรัฐไปฟ้องกลับคืนได้ แต่ต้องบอกตามตรงว่าตอนนี้ในบัญชีของผู้ต้องหาเหลือเงินศูนย์บาท”

จุลพงษ์ ทวีศรี

จุลพงษ์ บอกอีกว่า สิ่งที่ต้องทำงานอย่างหนักกับเจ้าหน้าที่ตำรวจคือ พยายามเอากฎหมายเรื่องฟอกเงินมาใช้ เพื่อดูเส้นทางการเงิน ที่รับของเสียมา 2.6 แสนตัน ตีราคาหยาบ ๆ ตันละ 4,000 บาท เห็นพวกนี้หายไปไหนหมด ถึงเวลามีปัญหาต้องเอาเงินภาษีประชาชนมาจัดการ นี่คือสิ่งที่กรมอุตสาหกรรมจะเดินหน้าต่อไป

“ต้องขอเรียนว่าผมและปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมมีความตั้งใจจริงที่จะมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ แต่เวลามีจำกัดมาก ไม่รู้ว่าจะอยู่ถึงเกษียณ 30 ก.ย. นี้หรือไม่ แต่ไม่เป็นไรแต่ว่าคนที่อยู่ก็ต้องเดินหน้าต่อไป”

จุลพงษ์ ทวีศรี

อธิบดีกรมโรงงานฯ ยังได้รายงานความคืบหน้า ในการแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 25635 ซึ่งอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นเพื่อที่จะนำไปเข้าสู่สภานิติบัญญัติ ขอให้ประชาชนช่วยสนับสนุน ขณะนี้รอให้เข้าที่ประชุม ครม. เมื่อ ครม. เห็นชอบ จะดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์ เพื่อวิเคราะห์ว่ากฎหมายใหม่ที่จะแก้ไขออกมาแล้วมีผลต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมอย่างไร ต้องไปแก้ไขหลายมาตรา โดยโทษจะหนักขึ้น มีโทษจำคุก ซึ่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 เดิมไม่มีโทษจำคุก และจะเพิ่มค่าปรับเป็น 1,000,000 บาท เพื่อให้อายุความนานขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active