กมธ.อุตสาหกรรม เตรียมถกล้อมคอก ปมไฟไหม้มาบตาพุด 15 พ.ค.นี้

ตั้งข้อสังเกต แจ้งเตือนภาวะฉุกเฉิน สื่อสารประชาชน ล่าช้า ตรวจวัดคุณภาพอากาศ ดูแลผลกระทบทำตามมาตรฐานหรือไม่ แนะ จ.ระยอง ปรับแนวทางรับมือ ให้ทันสถานการณ์

วันนี้ (13 พ.ค. 67) ผู้สื่อข่าว Thai PBS รายงานว่า กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สส.ระยอง พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงกรณีไฟไหม้ถังเก็บวัตถุดิบ สารไพโรไลซิส แก๊สโซลีน (Pyrolysis gasoline) บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินอล จำกัด ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยกล่าวแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ พร้อมชื่นชมการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงได้ในทันท่วงที

กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล สส.ระยอง พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานกรรมาธิการการอุตสาหกรรมฯ

ส่วนการแจ้งภาวะฉุกเฉิน การสื่อสารกับประชาชนนั้น กมนทรรศน์ มองว่า ค่อนข้างล่าช้า ไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความสับสนกับประชาชนในพื้นที่ ที่ไม่รู้ว่าจะต้องป้องกันตัวเองอย่างไร มีชุมชนไหนบ้างที่ต้องอพยพ และไปอยู่ที่ไหน ไกลเท่าไรถึงจะปลอดภัย สถานการณ์หน้างานไปถึงไหนแล้ว

ส่วนการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งมีคำถามว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่นั้น รองประธาน กมธ.อุตสาหกรรมฯ ตั้งข้อสังเกตว่า การตรวจวัดสภาพอากาศเหมาะสมกับทิศทางลมหรือไม่ เพราะระหว่างเกิดเหตุ มีประชาชนได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งการระคายเคือง การแสบตา แสบคอ เวียนศรีษะ อาเจียน เนื่องจากได้รับควันจากบริเวณโดยรอบ ซึ่งมีผู้ป่วยเข้ารับการตรวจสุขภาพจากสาธารณสุขของเทศบาลมาบตาพุด และโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ กว่า 100 คน โดยมีอาการหนักกว่า 60 คน ในขณะที่ช่วงสุดท้ายตัวเลขตรวจวัดคุณภาพอากาศ กลับบอกว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็เป็นคำถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าใช้เกณฑ์ในการวัดคุณภาพอากาศอย่างไร

จี้ จ.ระยอง ทบทวนแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน

ขณะเดียวกัน แม้ว่าบริษัทยินดีชดเชยเยียวยาผู้เกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่ต้องร่วมกันทบทวนคือมาตรการ เช่น แผนการป้องกันเหตุ, การประเมินความเสี่ยง, แผนเผชิญเหตุต่าง ๆ, แผนอพยพประชาชน, แผนการสื่อสารกับประชาชน รวมไปถึงการฟื้นฟูเยียวยาประชาชนบริเวณโดยรอบของนิคมอุตสาหกรรม อาจต้องทบทวนและปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

“จ.ระยอง ถูกประกาศให้อยู่ในพื้นที่เขตควบคุมตั้งแต่ปี 2552 แต่จำนวนของโรงงานเพิ่มมากขึ้นทุกปี ดังนั้นศักยภาพการเตรียมรับมือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ระดับจังหวัด ควรต้องทบทวน และปรับลดจำนวนโรงงานเพื่อป้องกันไม่ให้อุตสาหกรรมสร้างผลกระทบประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ จ.ระยอง ต้องมีมาตรการของตัวเอง เช่น การสร้าง SMS เตือนภัย หรือข้อความแจ้งเตือนฉุกเฉินที่จะส่งตรงกับประชาชนในพื้นที่ ให้ได้รู้สถานการณ์ที่จะต้องเจอ เพื่อประเมินตัวเองและประเมินสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงช่องทางที่หน่วยงานราชการส่วนกลางจะต้องสื่อสารกับประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ง่ายต่อการวางแผนบริหารจัดการเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน ซึ่งอาจต้องสร้างโมเดลสื่อสารเพื่อรับมือกับเหตุดังกล่าว”

กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล

กมนทรรศน์ ยังระบุด้วยว่า เตรียมนำข้อสังเกต และปัญหาต่าง ๆ เข้าสู่กรรมาธิการฯ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการนิคมอุตสาหกรรม บริษัทที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม และบริษัทที่เกิดเหตุ เข้ามาชี้แจง หาแนวทางร่วมกันเพื่อการป้องกัน รับมือกับแผนเผชิญเหตุในอนาคตต่อไป นำไปสู่การสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่อยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะประชุมในวันที่ 15 พ.ค. นี้ ที่มีทั้งเรื่องกากแคดเมียม และเรื่องไฟไหม้ที่มาบตาพุด โดยเฉพาะไฟไหม้โรงงานที่ตอนนี้เกิดบ่อยมาก ตั้งแต่ต้นปีเกิด 10 กว่าครั้งแล้ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active