จี้นายกฯ เจียดงบฯ กลาง แก้วิกฤตสารพิษ ‘วิน โพรเสส’ ด่วน!

‘มูลนิธิบูรณะนิเวศ’ เสนอแก้กฎกมาย ตัดวงจร ‘โรงงานขยะรีไซเคิล’ สร้างปัญหา แต่ผู้ก่อมลพิษกลับลอยนวล ไม่เห็นด้วย อบจ.ระยอง ขอใช้ที่ดินชาวบ้านขุดบ่อรับน้ำปนเปื้อนสารพิษฤดูฝน ขณะที่ คพ. ตรวจอากาศใกล้โรงงาน ยังพบมีกลิ่นสารเคมีคลุ้ง

ดาวัลย์ จันทรหัสดี ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม ภายใต้แผนงานมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยกับ The Active ถึงกรณีการแก้ปัญหาหลังเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานขยะ บริษัท วินโพรเสส จำกัด เมื่อ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งยังไร้ความชัดเจนในทุกเรื่องทั้ง การจัดการของเสียในโรงงานที่ถูกไฟไหม้ การขนย้ายกากของเสียอันตราย การเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทุกด้าน รวมทั้งแผนในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

เนื่องจากจนถึงเวลานี้ชาวบ้านในพื้นที่ยังคงได้รับกลิ่นสารเคมี โดยเฉพาะช่วงที่ฝนตก เกิดควันภายในโรงงาน ที่คาดว่าจะมาจากอลูมิเนียมดรอส และยังไม่พบการประเมินความเสียหายที่เกิดจากเหตุเพลิงไหม้ หลังจากนี้เชื่อว่าจะเกิดฝุ่น มีแผนรับมืออย่างไร การจัดการการใช้น้ำในอนาคต เพราะตอนนี้ชาวบ้านใช้น้ำไม่ได้รวมทั้งมองว่ายังขาดหน่วยงานที่จะเป็นแม่งานในการรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง

“แผนในการเคลื่อนย้ายของเสียที่เกิดจากเพลิงไหม้ กับที่ไม่ได้ถูกไฟไหม้ต้องมีแล้ว และเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่เห็นตอนนี้คือขุดบ่อ ทั้งบ่อที่ขุดแล้วภายในโรงงาน และบ่อที่จะไปขุดในพื้นที่ของชาวบ้าน ความชัดเจนในการขุดเพื่ออะไร และในอนาคตหากเกิดปัญหาจากการขุดบ่อในอนาคต จะรับผิดชอบแก้ไขอย่างไร การขุดบ่อช่วยให้การแพร่กระจายลดลงหรือไม่ มีคำถามมากมายตลอดเส้นทาง”

ดาวัลย์ จันทรหัสดี

ส่วนที่ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระยอง เข้ามาขอให้ใช้ที่ดินลุงเทียบ (เทียบ สมานมิตร) เพื่อใช้ขุดบ่อรับน้ำ 5-10 ไร่นั้น ดาวัลย์ มองว่า เป็นการซ้ำเติมปัญหา ซึ่งกรณีสวนยางพาราของลุงเทียบเริ่มได้รับผลกระทบจากโรงงานที่หนักสุดเมื่อปี 2560 ที่ดินข้างโรงงานมีสภาพเป็นกรด ต้นยางพาราล้มตายในสภาพไหม้เกรียม ที่ดินเสียหายทำอะไร ปลูกอะไรก็ไม่ได้ พอมาเกิดเหตุไฟไหม้ครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นการซ้ำเติมอีกครั้ง แล้วหน่วยงานรัฐยังมาขอให้พื้นที่ของเขารับน้ำของเสียจากโรงงาน เป็นการซ้ำเติมปัญหาให้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าหรือไม่ ? เสนอว่าควรซื้อที่ดินไปดำเนินการ

ดาวัลย์ บอกด้วยว่า คำสั่งศาลที่ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้าดำเนินการในโรงงานแทนเจ้าของโรงงาน มองว่า จำนวนเงินที่ วิน โพรเสส วางไว้ที่ศาลประมาณ 5 ล้านบาท ไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหา ถ้ากรมโรงงานฯ จะเป็นแม่งานต้องหางบประมาณมาดำเนินการ จึงอยากวอนให้นายกรัฐมนตรีนำงบฯ กลางมาใช้ได้ทันที เพราะเรื่องนี้เป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน เพราะหากรองบฯ ในระบบอาจจะช้าไป และต้องแก้ปัญหาให้จริงจังรวดเร็ว แล้วหลังจากนั้นฟ้องร้องกับเอกชนผู้ก่อให้เกิดปัญหา นอกจากนั้นยังเสนอให้กรมโรงงานฯ แก้กฎหมายหยุดวงจร “โรงงานขยะรีไซเคิล” ที่สร้างผลกระทบมหาศาล แต่ผู้ก่อไม่เคยถูกลงโทษจริงจัง

คพ.ตรวจอากาศในโรงงาน พบ กลิ่นสารเคมียังสูง กระทบสุขภาพ

ขณะที่ กรมควบคุมมลพิษ รายงานผลการตรวจสอบพื้นที่ โรงงาน บริษัท วินโพรเสส จำกัด จากการลงพื้นที่เก็บตัวอย่าง เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณภายในและภายนอกโรงงาน จากการตรวจสอบไอระเหยสารเคมีเบื้องต้น ด้วยเครื่อง Gas Detector มีผลการตรวจสอบ ดังนี้

  • บริเวณสวนยางลุงเทียบ ได้รับกลิ่นสารเคมีคล้ายกลุ่มตัวทำละลาย แต่อยู่ในระดับที่ยังตรวจไม่พบ

  • บริเวณข้างอาคาร 5 ได้รับกลิ่นสารเคมีคล้ายกลุ่มตัวทำละลายและตรวจพบค่าแอมโมเนีย เท่ากับ 1 ppm และฟอร์มัลดีไฮด์ เท่ากับ 0.03 ppm

  • บริเวณป่ามันสำปะหลังด้านหลังโรงงาน ไม่ได้รับกลิ่นเหม็นสารเคมี และตรวจไม่พบสารอินทรีย์ระเหยง่ายทั้งหมดและสารแอมโมเนีย

  • บริเวณสวนป้าเพียร ไม่พบกลิ่นเหม็นสารเคมี และตรวจไม่พบสารอินทรีย์ระเหยง่ายทั้งหมดและสารแอมโมเนีย

  • บริเวณโรงเรียนวัดหนองพะวา ไม่พบกลิ่นเหม็นสารเคมี และตรวจไม่พบสารอินทรีย์ระเหยง่ายทั้งหมดและสารแอมโมเนีย (จุดนี้ได้รับแจ้งว่า ประชาชนได้รับกลิ่นเล็กน้อยในช่วงเช้า)

  • บริเวณพื้นที่โรงงาน จำนวน 6 จุดสภาพทั่วไปยังคงได้รับกลิ่นเหม็นสารเคมีคล้ายตัวทำละลายและสารแอมโมเนีย โดยตรวจพบค่าแอมโมเนีย ระหว่าง 1 – 26 ppm ตรวจพบค่าสูงสุดในพื้นที่อาคารโกดัง 3 ตรวจพบค่าฟอร์มัลดีไฮด์ 0.01 – 0.09 ppm ซึ่งตรวจพบค่าสูงสุดบริเวณหน้ากองกากตะกรันอะลูมิเนียมและยังคงพบกลุ่มควันลอยขึ้นจากพื้นที่กองกากตะกรันอะลูมิเนียมเล็กน้อย 

โดยสรุปพื้นที่ในโรงงานยังคงได้รับกลิ่นเหม็นสารเคมีและตรวจพบสารแอมโมเนียในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน ในส่วนพื้นที่ใกล้เคียงโรงงานและชุมชนในทิศทางใต้ลมโดยเฉพาะช่วงความกดอากาศสูง (เช้ามืด) จะคงได้รับผลกระทบด้านกลิ่นเหม็นสารเคมีเป็นสำคัญ

พร้อมกับรายงานว่า อบจ.ระยอง ได้ทำการขุดบ่อรองรับน้ำฝนบริเวณหน้าอาคาร 3 และทำการเสริมคันดินบ่อ 3 เพื่อป้องกันน้ำล้น และรองรับน้ำกากของเสียและสารเคมีจากพื้นที่โรงงานที่เพลิงไหม้ สูงเพิ่มขึ้น ประมาณ 1 เมตรจากคันดินเดิม และได้ทำการตรวจสอบน้ำที่ซึมจากบ่อดินที่ขุดใหม่ พบว่ามีค่า pH เท่ากับ 0-1

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active