เผย ศาลสั่งเจ้าของวินโพรเสส ห้ามเข้าพื้นที่-ยุ่งเกี่ยวกับโรงงาน มอบอำนาจกรมโรงงานฯ แก้ปัญหา ขณะที่ อบจ.ระยอง ประสานขอใช้ที่ดินชาวบ้าน รองรับน้ำเสียทะลักจากโรงงาน หลังพื้นที่ฝนตกหนัก
วันนี้ (7 พ.ค.2567) กรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่หลังศาลมีคำสั่งแก้ไขให้กรมโรงงานฯ และอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะของเสียภายในโรงงาน บริษัท วินโพรเสส จำกัด ในพื้นที่ ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง หารือวิธีรับมือกับกำนัน และชาวบ้านหนองพะวา ที่ได้รับผล กระทบ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำจากโรงงานไหลออกนอกพื้นที่หลังฝนตกต่อเนื่องตลอดทั้งวัน
จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า หลังจากที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ขอให้ศาลไต่สวนพิจารณาแก้ไขคำสั่งจากเดิมที่ให้จำเลย (เจ้าของโรงงาน) เป็นผู้บำบัดแก้ไข เปลี่ยนเป็นให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นผู้ดูแลแก้ไข ซึ่งศาลได้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมจังหวัด ร่วมดำเนินการภายใต้เงื่อนไขที่ว่า จะต้องเข้าไปสำรวจทำแผนเขียนข้อกำหนดและขอบเขตเพื่อเสนอศาลพิจารณา โดยแผนปฏิบัติการทั้งหมด รวมทั้งข้อกำหนดและขอบเขตต้องแจ้งให้กับทางจำเลยทราบ (แจ้งเท่านั้น) เมื่อศาลพิจารณาเห็นชอบแล้ว จากนั้นศาลจากนำเงินที่จำเลยวางไว้ต่อศาลที่เหลืออยู่ประมาณ 5 ล้านบาท โอนให้กรมโรงงานฯ เพื่อนำมาใช้จัดจ้างกำจัดต่อไป แต่ยอมรับว่างบฯ ที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ทำให้ต้องใช้งบกลางเข้ามาช่วย ซึ่งจะดำเนินการขอแบบคู่ขนานกันไป จากนั้นกรมโรงงานฯ จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ก่อมลพิษในภายหลังต่อไป
“ด้วยงบประมาณที่จำกัดนี้ เราจำเป็นต้องดำเนินการในส่วนที่จำเป็นเร่งด่วนก่อน และในส่วนอื่นก็จะของบประมาณกลางมาดำเนินการต่อ และเพื่อให้การทำงานง่ายขึ้นศาลได้มีคำสั่งห้ามจำเลยเข้ามาในพื้นที่ และเราจะเร่งดำเนินการโดยเข้าไปสำรวจให้เร็วที่สุด โดยจะสั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมจังหวัดไปสำรวจว่าหลังจากเกิดเพลิงไหม้แล้ว ของเสียมีอะไรบ้างปริมาณเท่าไหร่ ส่วนไหนที่ต้องรีบกำจัด”
จุลพงษ์ ทวีศรี
อธิบดีกรมโรงงานฯ ระบุด้วยว่า การสำรวจสามารถทำได้ทันที แต่อาจจะต้องทำร่วมกับเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) ซึ่งได้ประสานไปแล้ว เพราะมีเรื่องของคดีความว่า เหตุการณ์นี้เกี่ยวกับการลอบวางเพลิงหรือไม่ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะให้เข้าสำรวจพร้อมกัน เนื่องจากไม่มั่นใจว่าเพลิงไหม้ครั้งนี้เกิดขึ้นเองหรือมีการวางเพลิง
จากนั้นอธิบดีกรมโรงงานฯ พร้อมด้วย สุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานฯ และคณะทำงาน นำสื่อมวลชนสำรวจพื้นที่โรงงาน บริษัท วินโพรเสส เบื้องต้น เนื่องจากตลอดทั้งวันนี้มีฝนตก ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นไปทั่วพื้นที่รุนแรงกว่าช่วงที่ผ่านมา โดยสำรวจ 2 จุดสำคัญคือ 1. บริเวณโกดัง 3 ซึ่งเป็นจุดที่มี อลูมิเนียมดรอส หรือ เศษจากการผลิตอลูมิเนียม กองใหญ่ประมาณ 10,000 ตัน และ 1. บ่อดินที่ขุดใหม่เพื่อรองรับน้ำที่พบว่ามีคราบสารเคมีสีดำใต้ดิน
จุลพงษ์ บอกว่า อลูมิเนียมดรอส น่าจะเป็นอย่างแรกที่ต้องจัดการ เพราะขณะนี้มีบางส่วนที่ถูกน้ำฝน ไม่มีหลังคาปิด เบื้องต้นจะต้องทำการขนย้ายเข้าที่ร่ม เพราะทำปฏิกิริยากับน้ำฝน ทำให้เกิดควัน ซึ่งตอนนี้จะเห็นว่ามีควันออกมาอยู่ และส่วนที่เหลือหากขายได้ก็ขาย หรือขายไม่ได้ก็ต้องส่งบำบัด ซึ่งปริมาณ 10,000 ตัน อาจต้องใช้งบฯ 30 ล้านบาท (ประมาณตันละ 3,000 บาท)
ขณะที่บริเวณบ่อดินที่ขุดใหม่ พบคราบสารเคมี ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานที่สำคัญ เพราะอาจมาจากการลักลอบฝังสารเคมีลงใต้ดินมานาน ซึ่งนำไปสู่ขั้นตอนการฟ้องร้องคดีใหม่ต่อไป
ขณะเดียวกันตลอดทั้งวันที่ผ่านมา ในพื้นที่ตั้งโรงงาน ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง มีฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้ชาวบ้านเกิดความกังวล ประสานต์ พฤกษาชาติ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง จึงได้ลงพื้นที่มาพูดคุยกับ เทียบ สมานมิตร ตัวแทนชาวบ้าน เจ้าของที่ดินบริเวณที่ติดกับโรงงานวินโพรเสส เพื่อขอใช้พื้นที่
โดยทาง อบจ.ระยอง ได้วางแผนป้องกันไม่น้ำฝนที่ตกหนักไหลออกนอกพื้นที่โรงงาน โดยทำร่องน้ำรอบสระ ซึ่งได้คาดการณ์ว่าถ้าฝนตกมาทั้งปี จะต้องมีสระรองรับน้ำปริมาณเท่าไร จึงได้เจรจาพูดคุยกับ เทียบ สมานมิตร เจ้าของที่ดิน ซึ่งเป็นจุดที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งอบจ.ระยอง พิจารณาแล้วว่าพื้นที่รับน้ำที่มีอยู่ในโรงงานขณะนี้ไม่เพียงพอ อาจจะขอใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นพื้นที่รับน้ำ ซึ่งเจ้าของที่ยินยอม แต่อาจจะต้องทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร ลงนามโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ว่า เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วจะต้องมีการกลบสระให้ โดยคาดว่าจะใช้ที่ดินประมาณ 5-10 ไร่
“ส่วนน้ำในโรงงานที่จำเป็นต้องบำบัดนั้น เป็นหน้าที่ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตามที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่มาก็สั่งให้กรมโรงงานดำเนินการบำบัด ดังนั้น หน้าที่เราก็คือ นำน้ำที่อยู่ในพื้นที่มากองรวมกัน แล้วก็จะเป็นภาระของกรมโรงงาน ที่จะต้องนำน้ำตรงนี้ไปบำบัดให้หมด พร้อมทั้งต้องบำรุงที่ดินด้านล่างที่อาจจะมีความเป็นกรดเป็นพิษ เพื่อไม่ให้ชาวบ้านในพื้นพื้นที่ เดือดร้อน”
ประสานต์ พฤกษาชาติ
รองนายก อบจ. ระยอง บอกด้วยว่า ที่แผนวางไว้ 1 ปีเนื่องจากว่าขณะนี้กำลังจะเข้าฤดูฝน ซึ่งอาจจะทำให้การดำเนินการทำได้ลำบาก อาจจะต้องมารอดำเนินการในช่วงฤดูแล้ง ยืนยันว่าต้องทำให้เสร็จก่อนฝนมา
ด้าน เทียบ สมานมิตร ชาวบ้านหนองพะวา เจ้าของที่ดินติดกับโรงงาน บอกว่า ทาง อบจ.ระยอง ได้มาเจรจาขอพื้นที่กักเก็บน้ำของโรงงาน ซึ่งของเขาเองมีอยู่แล้ว 2 บ่อ กลัวว่าจะรับน้ำไม่ไหว ก็เลยจะมาขอใช้พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายไปแล้วมาเป็นบ่อน้ำเพื่อรองรับน้ำในโรงงาน
“คิดมาทั้งคืนว่า ไหน ๆ พื้นที่เราก็เสียหายแล้ว และมันทำอะไรไม่ได้แล้ว ลุงก็คิดว่าจะให้มันจบ ๆ ไป ยอมเพื่อให้มันจบสักที ถ้าลุงไม่ยอม เขาก็คงหาที่ทำตรงนี้ไม่ได้ ปัญหามันก็จะเกิดขึ้นอีก ลุงเลยต้องเสียสละที่ดินของตัวเอง เขาก็ให้หลักประกันว่าจะใช้เวลาเท่าไร เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วเขาก็จะทำให้เหมือนเดิมจะดีกว่าเดิม”
เทียบ สมานมิตร
อย่างไรก็ตามสำหรับแนวทางในการแก้ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในพื้นที่บ้านหนองพะวา และหมู่บ้านในรัศมีของโรงงานที่ผ่านมานานกว่าครึ่งเดือน จะต้องรอให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม หารือร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีอำนาจในการสั่งการในพื้นที่
โดยคาดว่าแผนที่จะนำเสนอต่อศาลจะแล้วเสร็จภายใน 10 วัน ท่ามกลางการจับตารอคอยของชาวบ้าน ว่าเมื่อไรผลกระทบต่าง ๆ เช่นเรื่องกลิ่นจะหายไป พวกเขาจะได้ย้ายกลับเข้าไปอยู่ในบ้าน ได้ใช้ชีวิตตามเดิมเมื่อไร