หมอรับสภาพ หมอกควัน ‘แม่ฮ่องสอน’ กระทบระบบส่งต่อฉุกเฉิน Sky Doctor

เผยเฉพาะ มี.ค. 67 พลาดส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอากาศยานแล้ว 9 ราย เสี่ยงเสียชีวิต พบผู้ป่วย ICU เกือบครึ่งติดเชื้อทางเดินหายใจ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ครองเตียงนาน สัมพันธ์วิกฤตหมอกควัน ห่วงพัฒนาการเด็กเล็ก

วันนี้ (29 มี.ค. 67) The Active ยังคงติดตามผลกระทบปัญหาหมอกควันในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน โดยข้อมูลจาก IQAir รายงานว่า ในช่วงเวลาประมาณ 09.00 น. จ.แม่ฮ่องสอน มีดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ AQI อยู่ที่ 326 ขณะที่ PM2.5 อยู่ที่ 200.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่ามีผลกระทบต่อทุกคนอย่างรุนแรงอยู่ในขั้นอันตราย

The Active ลงพื้นที่ไปยัง โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อติดตามปัญหาหมอกควันกับผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข โดย นพ.กรีฑา คำเนียม แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า เนื่องจากในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน ค่าฝุ่น PM2.5 ค่อนข้างสูง แต่ไม่ค่อยได้ถูกพูดถึงทำให้ปัญหาถูกละเลยมานาน และส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไข้ และส่งผลถึงการส่งต่อของโรงพยาบาล ซึ่งปกติเป็น การส่งต่อผู้ป่วยทางอากาศยาน หรือ Sky Doctor แต่หมอกควันปกคลุมหนาแน่นจึงส่งผลต่อการขึ้นบินของเฮลิคอปเตอร์ ทำให้ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมามีผู้ป่วยในเขตภาคเหนือ 9 คน ที่จำเป็นต้องได้รับการส่งต่อทางอากาศยานไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องเสียเวลาส่งต่อทางรถ ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนานจากแม่ฮ่องสอนเข้าไปยัง จ.เชียงใหม่ ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง เทียบกับอากาศยาน ที่ใช้เวลาบินจากแม่ฮ่องสอนไปแค่ประมาณ 35 – 40 นาที

“ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับการรักษาเร่งด่วน เช่น โรคหัวใจ หรืออุบัติเหตุที่รุนแรง ก็จะส่งผลต่อโอกาสรอดชีวิต ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตค่อนข้างสูงขึ้น เพราะเวลาที่เสียไปแต่ละนาทีทำให้อาการผู้ป่วยแย่ลง”  

นพ.กรีฑา คำเนียม
นพ.กรีฑา คำเนียม

แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ศรีสังวาลย์ ยังบอกด้วยว่า การส่งต่อในช่วงหมอกควันทำได้น้อยลงเทียบกับเดือนที่ไม่มีหมอกควัน การส่งต่อทางอากาศยานในเขตภาคเหนือจะอยู่ที่ 20 คนต่อเดือน แต่ถ้าเป็นช่วงหมอกควันบางเดือนไม่สามารถส่งต่อได้เลย เช่น ถ้าวันนี้ต้องส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน เราก็ไม่สามารถส่งต่อทางอากาศยานได้

ผู้ป่วยระบบเดินหายใจ ครองเตียงไอซียูนานขึ้น 

ขณะที่ พญ.อุมาพร วิราชะ แพทย์อายุกรรม โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ บอกว่า อัตราการเกิดของโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สัมพันธ์กับภาวะหมอกควัน มีทั้งแบบชนิดไม่รุนแรงเป็นผู้ป่วยนอก และรุนแรงต้องนอนรักษาโรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหอผู้ป่วยวิกฤต (ICU) มีผู้ป่วยหลายรายที่มีการดำเนินของโรคค่อนข้างรุนแรง และมีระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลที่ยาวนานขึ้นในช่วงที่มีภาวะหมอกควัน

“แม้เราอาจจะพูดร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ว่า คนไข้ป่วยจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 หรือไม่ต้องรอผลศึกษาเพิ่ม แต่ด้วยการสังเกตุและการทำงานในพื้นที่ต่อเนื่องมาหลายปี พบว่าช่วงที่PM 2.5 สูง สัมพันธ์กับการเกิดโรคมากขึ้นจริง”

พญ.อุมาพร วิราชะ
พญ.อุมาพร วิราชะ

พญ.อุมาพร บอกอีกว่า หอผู้ป่วยวิกฤตส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีภาวะหายใจล้มเหลวอยู่แล้ว การที่มีค่ามลพิษสูงในทางการแพทย์มันกระตุ้นให้เกิดการอักเสบมากขึ้นในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ คาดว่าน่าจะมีผลที่ทำให้ผู้ป่วยหนึ่งรายต้องใช้ระยะเวลาในการอยู่ไอซียูนานมากขึ้น

“ไอซียูเรามีแค่ 8 เตียง และรับผิดชอบดูแลคนไข้เกือบทั้งจังหวัด เพราะฉะนั้นการที่คนไข้คนหนึ่งใช้ไอซีอยู่ยาวนานขึ้น ก็อาจจะมีผลให้ผู้ป่วยรายอื่นที่จำเป็นต้องใช้มีโอกาสได้ใช้ลดลง โดยทั่วไปไอซียูรวมที่นี่ รับทั้งศัลยกรรม ผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ส่วนใหญ่ก็จะมีสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไป แต่ในช่วงที่หมอกควันเยอะสังเกตได้จริงว่า เป็นผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจที่มากขึ้นเกือบ 50% เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ หรือปอดอุดกั้นเรื้อรังที่กำเริบ

พญ.อุมาพร วิราชะ

ส่วนผู้ป่วยเด็กเป็น ผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง ที่มีโอกาสสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจาก PM2.5 พบว่า เด็ก ๆ เข้ารับบริการในคลินิกเด็กมากขึ้น ในโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง แต่สิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่ ก็คือพัฒนาการ เนื่องจากมีผลการศึกษาที่ยืนยันว่า PM2.5 ส่งผลต่อพัฒนาการเด็กในหลายอย่าง

พญ.อุมาพร เปิดเผยว่า ส่วนตัวเป็นคน จ.แม่ฮ่องสอน เกิดที่นี่รับรู้ปัญหามาโดยตลอด มีความเห็นใจและสงสารคนไข้มาก ทั้งส่วนที่เข้าไม่ถึงองค์ความรู้ว่าต้องป้องกันอย่างไร หรือบางส่วนเข้าถึงองค์ความรู้แต่ไม่มีศักยภาพที่จะดูแลตัวเองและครอบครัว ในส่วนของแพทย์ก็ทำเต็มที่ที่สุดในงานป้องกันรักษาคือให้ความรู้ และแจกหน้ากากอนามัยซึ่งใช้งบประมาณไม่สูงมาก ในส่วนของการรักษา พยายามสำรองเตียง และจัดระบบส่งตัวคนไข้ให้สามารถสนับสนุนสถานการณ์วิกฤตหมอกควันในเวลานี้ได้

หมอกควันปัญหาเก่า เวลาเดิม แก้ไม่ได้สักที !

สอดคล้องกับ นพ.สมศักดิ์ อุทัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จ.แม่ฮ่องสอน บอกว่า ช่วงเช้าค่าฝุ่นที่นี่ ขึ้นไปถึง 600-700 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โรงพยาบาลมีห้องปลอดฝุ่นจำนวน 11 ห้อง ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรองรับกับบุคคลที่มีปัญหาด้านสุขภาพ แต่การใช้จริงอาจได้ประโยชน์ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพราะสุดท้ายเมื่อกลับออกอยู่ข้างนอกก็เจอฝุ่นอยู่ดี จึงมีการปรับระบบบริการให้ส่งยาไปที่บ้านคนไข้ ไม่ต้องเดินทางมารับยาที่โรงพยาบาลกรณีที่ไม่ต้องเจาะเลือดเพื่อลดการสัมผัสฝุ่นภายนอก

สำหรับโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ ไม่ใช่โรงพยาบาลใหญ่ มีจำนวนผู้ป่วยในครองเตียงอยู่ประมาณ 100 เตียงจาก 150 เตียง ถ้าดูเฉพาะผู้ป่วยที่เกี่ยวเนื่องกับระบบทางเดินหายใจ พบว่าในช่วงตั้งแต่เดือน ก.พ.​- มี.ค. 67 ก็เริ่มมีคนไข้โรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มหอบหืด, ถุงลมโป่งพอง ที่มีอาการกำเริบ หรือผื่นแพ้ผิวหนัง ตาอักเสบ มีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี

นพ.สมศักดิ์ อุทัยพิบูลย์

นพ.สมศักดิ์ บอกอีกว่า PM2.5 ไม่ใช่โรคระบาด แต่เป็นปัญหาเดิม ดังนั้นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน มองว่าเป็นเรื่องที่ต้องมาออกแบบระบบ และดำเนินการ ซึ่งสาธารณสุขคือปลายเหตุ จึงอยากจะกระตุ้นย้อนกลับไปแก้ต้นเหตุ 

”จ.แม่ฮ่องสอน ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานอันดับหนึ่งของประเทศ แต่เวลารายงานอาจจะเป็นกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ซึ่งแม่ฮ่องสอน กระทบอันดับหนึ่งทุกปี แล้วก็สูงสุดทุกปี เราลองผิดลองถูกมาหลายสิบปีเหมือนกัน แต่เราก็ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนว่า ตกลงจะเอาไงกันแน่ จะจัดการปัญหายังไง“ 

นพ.สมศักดิ์ อุทัยพิบูลย์

ผอ.รพ.ศรีสังวาลย์ ย้ำว่า เป็นเรื่องที่น่าหนักใจพอสมควร เพราะสาธารณสุขทำได้ก็แค่บอกกับประชาชน ว่า เมื่อมีหมอกควัน วิธีปฏิบัติควรจะเป็นอย่างไร สังเกตยังไง ช่วยเหลือตัวเองอย่างไร ควรหลีกเลี่ยงอะไร ทำได้แค่นั้นซึ่งเป็นปลายเหตุ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active