ครูห่วงโรคระบบทางเดินหายใจ แต่ทำได้แค่งดกิจกรรมกลางแจ้ง หวัง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ทางออกยับยั้งปัญหาหมอกควัน ด้านเจ้าหน้าที่เร่งระดมดับไฟป่าสาละวิน
The Active ลงพื้นที่สำรวจปัญหาไฟป่า ฝุ่นควันใน จ.แม่ฮ่องสอน พบไฟป่าเกิดขึ้นหลายจุด สะท้อนได้ชัดเจนว่าทั้งปัญหาไฟป่า และการเผาทั้งในประเทศ รวมถึงการเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน คือสาเหตุหลักทำให้ปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน วิกฤตอย่างหนักอย่างในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง จากการลงพื้นที่พบว่า ไฟป่าสาละวินยังคงหนักหน่วง ไฟลุกลามไปทั้งดอย บางจุดยังไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าไปดับ ไฟลุกลามเป็นวงกว้าง
วิกฤตฝุ่นควัน อ.แม่สะเรียง กระทบเด็กเล็กป่วยระบบทางเดินหายใจ
นั่นอาจเป็นเหตุผลให้สภาพอากาศภายใน อ.แม่สะเรียง ในช่วง 1-2 วันมานี้ ท้องฟ้าขุ่นมัว เต็มไปด้วยหมอกควัน The Active เข้าไปสำรวจภายใน โรงเรียนอนุบาลกฤษณพรรณ ซึ่งเต็มไปด้วยเด็กเล็ก บางคนใส่หน้ากากอนามัย แต่ก็มีหลายคนไม่ใส่ ขณะที่ครูพยายามงดกิจกรรมกลางแจ้ง
ชุลิตตา วิชชโลกา ผู้อำนวยการโรงเรียนกฤษณพรรณ บอกว่า จากสถานการณ์ฝุ่นควันที่เกิดขึ้นทำให้เด็ก ๆ หลายคนป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ ต้องหยุดเรียน ก่อนหน้านี้พบว่ามีนักเรียนชั้นอนุบาล 1 เลือดกำเดาไหล และหยุดเรียนไปหลายวัน จนต้องไปพบแพทย์
โดยยอมรับว่า หมอกควันไฟป่าเป็นปัญหาที่เด็กเล็กที่นี่ต้องเผชิญมาทุกปี หนักเบาต่างกันไป แต่สำหรับปีนี้ ผอ.โรงเรียน มองว่า เป็นอีกปีที่มีความหนักหน่วง ส่วนตัวเห็นว่าหากมี พ.ร.บ.อากาศสะอาด ก็ยังไม่รู้ว่าจะหยุดเผากันได้หรือไม่ แต่ก็มีความหวังว่าน่าจะสามารถทำให้หมอกควันลดลง เด็กเล็กจริง ๆ แล้วอยากจะออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้ง จะได้ทำกิจกรรมอย่างปลอดภัย
อุทยานฯ เร่งระดมเจ้าหน้าที่ – ฮ. ดับไฟป่าสาละวิน
ขณะที่ ลิขิต ไหวพรม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสาละวิน บอกว่า ได้ใช้อากาศยานปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันควบคู่กับภาคพื้นดิน โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสาละวิน และ เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการพื้นที่ภาคเหนือ กองการบิน สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้บินตรวจดูจุดความร้อน – ไฟป่า ในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติสาละวิน เพื่อประเมินสถานการณ์และวางแผนใช้น้ำดับไฟป่า โดยใช้ เฮลิคอปเตอร์ บินตักน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยแม่สะลาบ บ้านแม่สะลาบ ม.8 ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง ระยะห่างจากจุดไฟ ประมาณ 4.5 กม. พื้นที่จุดที่ 2 บริเวณป่าบ้านห้วยสิงห์ บินตักน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำอ่างบ้านห้วยสิงห์ ม.4 ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ระยะห่างจากจุดไฟป่า ประมาณ 4.11 กม. โดยลำเลียงน้ำ จำนวน 32 เที่ยวบิน ตักน้ำดับไฟป่า จำนวน 15,360 ลิตร
ล่าสุดวันนี้ (28 มี.ค. 67) ข้อมูลจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, กรมควบคุมมลพิษ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกาะติดสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 แบบรายชั่วโมง ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” เมื่อเวลา 08.00 น. พบ 9 จังหวัดทางภาคเหนือ มีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีแดง ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ เช่น แม่ฮ่องสอน 211.9 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร, เชียงใหม่ 132.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, ลำพูน 111.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร , เชียงราย 102.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, ตาก 92 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, พะเยา 84.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, ลำปาง 83.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ น่าน 77.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ขณะที่ข้อมูลจาก IQAir รายงานว่า ในช่วงเวลา 09.00 น. จ.แม่ฮ่องสอน ค่า PM2.5 พุ่งสูงสุดเป็นอันดับ 1 มีดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ AQI อยู่ที่ 305 ขณะที่ PM2.5 อยู่ที่ 254.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่ามีผลกระทบต่อทุกคนอย่างรุนแรงอยู่ในขั้นอันตราย และเป็น 50.9 เท่าของค่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีขององค์การอนามัยโลก และค่าฝุ่นยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น