ชาวบ้านเขาไม้แก้ว จ.ปราจีนบุรี ร้อง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ค้านออกใบอนุญาตโรงงานกำจัดขยะ ชี้ รับฟังความเห็นไม่ทั่วถึง แถมพบเป็นโรงงานเดิม ของบริษัทที่เคยสร้างปัญหา ก่อมลพิษ ด้าน อธิบดีกรมโรงงาน รับปากเตรียมออกประกาศเป็นกฎหมาย บังคับโรงงาน ต้องแจ้งรายละเอียดให้ชัดในการขออนุญาตจัดตั้ง
เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 67 ชาวบ้านจาก จ.ปราจีนบุรี เดินทางมาที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเข้าพบอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และ ยื่นเอกสารคัดค้านการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานขยะ ของ บริษัท เวิลด์ เทค แมเนจเม้นท์ ในพื้นที่ หวั่น ทำให้เกิดมลพิษจากสารเคมี กระทบความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง
ศิริพงษ์ โทบุญ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ต.เขาไม้แก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี บอกว่า ชาวบ้านรวมตัวกันเพื่อเข้ายื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพราะทราบข้อมูลมาว่าจะมีการขอตั้งโรงงานใกล้กับหมู่บ้าน หลังจากที่เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้ยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อคัดค้านการอนุญาตก่อสร้างโรงงานขยะในพื้นที่ โดยการรวบรวมรายชื่อชาวบ้าน 1,000 รายชื่อ
โดยมีข้อเรียกร้อง คือ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบช่วยผลักดันไม่ให้เกิดอุตสาหกรรมประเภทที่ 3 ในชุมชน เนื่องจากปัจจุบันในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี มีโรงงานประเภทนี้อยู่หลายแห่ง ซึ่งควรจะยุติได้แล้ว เพราะผลกระทบที่เกิดกับประชาชนมีทั้งเรื่องกลิ่น สารเคมีที่ระเหยออกมาทำให้ชาวบ้านเกิดอากาศภูมิแพ้ มีผื่นคัน ปัญหาแหล่งน้ำปนเปื้อนในฤดูฝนไหลสู่ลำคลองสาธารณะ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคเป็นห่วงว่าในอนาคตสารพิษจะขยายพื้นที่เพิ่มมากขึ้น
“พื้นที่โรงงานขยะแบบนี้มีอยู่แล้วหมู่บ้านละ 1 แห่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับกรณีนี้คือ การขอก่อตั้งเพิ่มในหมู่บ้านเดิมอีก 1 แห่ง ซึ่งเรามองว่าในหมู่บ้านหนึ่ง ไม่ควรมีโรงงานขยะเพิ่ม และการขออนุญาตนี้ อยากทราบถึงระเบียบการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนเป็นอย่างไร อยากให้รับฟังความเห็นของชุมชนใกล้เคียงด้วย”
ศิริพงษ์ โทบุญ
ศิริพงษ์ ยังบอกด้วยว่า การเข้ามายื่นหนังสือครั้งนี้มาในนามของหมู่บ้านใกล้เคียงพื้นที่ก่อตั้งโรงงานขยะ ซึ่งตำแหน่งก่อตั้ง ติดกับ วัด บ้าน โรงเรียน และลำคลองสาธารณะ ต.เขาไม้แก้ว ด้านทิศเหนือ มีโรงงานขยะที่ หมู่ 7 ต.หาดนางแก้ว ด้านทิศใต้เป็นโรงงานฝังกลบขยะ ของ บริษัท เวสต์ 2 เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ด้านทิศตะวันตกมีกองขยะยิปซัมกองใหญ่ และตอนนี้จะขอก่อสร้างทางทิศเหนืออีก ซึ่งใกล้กับหมู่บ้าน อีกทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข
ขณะที่ สุนทร คมคาย ผู้ประสานงาน อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ต.เขาไม้แก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เปิดเผยว่า บริษัทดังกล่าวมีการสร้างโรงงานขยะอยู่ใน หมู่ที่ 7 บ้านปราสาท ต.หาดนางแก้ว มีการสร้างอยู่ทางทิศเหนืออยู่แล้ว แต่การขออนุญาตนี้จะเป็นทางทิศใต้ ซึ่งมีพื้นที่ติดกับหมู่บ้าน ซึ่งในครั้งนี้คนในบ้านปราสาทไม่กล้ามาร่วม ซึ่งมีความกังวลว่าจะเป็นการเพิ่มปัญหามลพิษ นอกจากนี้ชาวบ้านยังทราบเรื่องหลังประชาพิจารณ์เสร็จสิ้นไปแล้ว ทั้งที่ควรจะทำการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน ทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
“เรารู้สึกว่า ทำไมบ้านของเรา อ.กบินทร์บุรี ถึงกลายเป็นเป้าหมายของโรงงานประเภทนี้ (โรงงานขยะ) ซึ่งก่อนนี้ก็มีเรื่องทุนจีนที่เกิดควันสีส้มอีก ซึ่งการเดินทางมาครั้งนี้ นอกจากจะเพื่อคัดค้านการออกใบอนุญาต ยังอยากหารือแนวทางเพื่อที่จะไม่ให้บ้านของเราเป็นเป้าหมายของโรงงานประเภทนี้”
สุนทร คมคาย
ด้าน จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า กรมโรงงานฯ จะทำการตรวจสอบเรื่องนี้ว่าดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งตามกฎหมาย กรมโรงงานฯ มีหน้าที่ในการตรวจสอบและออกใบอนุญาต โดยมีข้อจัดกัดตามกฎหมาย คือ “ให้ผู้ประกอบการเข้ามาชี้แจงความชัดเจนได้เพียงครั้งเดียว” ทำให้ในขั้นตอนการออกใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานต้องทำอย่างละเอียดรอบคอบและใช้เวลา ซึ่งจากการตรวจสอบเอกสารขอจัดตั้งโรงงานแห่งนี้ พบว่ามีการขอดำเนินกิจการ ประเภท 105 โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือไม่ใช้แล้ว ฝังกลบสิ่งปฏิกูลและวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่เป็นของเสียอันตราย และไม่อันตราย และ ประเภท 106 โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว หรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบ หรือ ผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม กลั่นตัวทำลายใช้งานแล้ว กลับมาใช้ใหม่
การทำหนังสือขออนุญาต พบว่า ไม่ได้ระบุถึงรายละเอียดที่ชัดเจนซึ่งอาจเป็นช่องว่างให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ ดังนั้น จึงจะดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาและเป็นมาตรฐานในอนาคต คือ ออกประกาศระเบียบในการระบุรายละเอียดในการขออนุญาตกำจัดกากอุตสาหกรรม โดยในระบุมาให้ชัดเจนว่ามีกากของเสียประเภทใดบ้าง
“กากของเสียอุตสาหกรรมในประเทศไทยมี 846 ประเภท เขียนมา 4 บรรทัด เพราะบางคนยังไม่รู้เลยว่าจะเอากากของเสียประเภทไหนมาทำ ต้องมีความรู้ ไม่ใช่เห็นว่าได้เงินก็เลยทำ ก่อนที่ผมจะเกษียณ ผมจะออกประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในการขออนุญาต ผู้ขอจะต้องรู้ว่าต้องเอาของเสียประเภทใดเข้ามาบ้าง กำหนดเป็นลำดับ รวมทั้งกระบวนการ การนำมา และการจัดเก็บ มีพื้นที่เพียงพอไหม ซึ่งต้องตอบได้ให้ครบ เพราะเคยเกิกปัญหา กรณีไฟไหม้ ผมว่าบางทีมันเก็บเยอะเกินไป อีกทั้งกฎหมายกำหนดไว้ว่า ของเสียต้องกำจัดภายในกี่วัน กากอันตราย 30 วัน ไม่อันตราย 60 วัน ทำปุ๋ยต้องจบใน 180 วัน ต่ออายุได้ไม่เกิน 1 ครั้ง”
จุลพงษ์ ทวีศรี