ค่าฝุ่น PM2.5 สูงช่วงกลางดึกวันที่ 20 มี.ค. กทม. ชี้ 4 สาเหตุ ทั้งทิศทางลมมาจากทางตะวันออก พบจุดเผาหลายแห่งในเขตปริมณฑล พายุฤดูร้อนประกอบกับความกดอาอาศสูงผ่านทางอีสาน และความชื้นในชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดฝุ่นละออง PM2.5 ทุติยภูมิ จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงยานยนต์
วันนี้ (21 มี.ค. 67) พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร ออกมาเปิดเผยถึงสาเหตุที่ทำให้ค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ กทม. สูงขึ้นในช่วงกลางคืนของวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยสรุปเป็น 4 สาเหตุ ดังนี้
- ทิศทางลมวันที่ 20 มี.ค. 67 เป็นทิศตะวันออก (ตามภาพแนบ) ซึ่งต่างจากวันอื่น ๆ ในช่วงนี้ที่ลมจะมาจากอ่าวไทย ส่วนจุดเผาในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาพบว่าที่ปริมณฑลมีการเผาเกิดขึ้นหลายจุด
- ระยะนี้สภาพอากาศแปรปรวน มีพายุฤดูร้อน ประกอบกับมีความกดอากาศสูงผ่านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ความสูงของชั้นบรรยากาศผสม (Mixing Height) ลดต่ำลง ฝุ่นละอองเกิดการสะสมตัวเพิ่มมากขึ้น
- ความชื้นในบรรยากาศทำให้เกิดฝุ่นละออง PM2.5 ทุติยภูมิ (Secondary PM2.5) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชนิดที่เกิดจากสารประกอบไนโตรเจนและแอมโมเนียจะเกิดปฏิกิริยาได้ดีในสภาวะที่มีความชื้นสูง
- รูปแบบฝุ่นทุติยภูมิ (Secondary PM2.5) เกิดจากก๊าซบางชนิดที่ลอยอยู่ในอากาศ เช่น ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทำปฏิกิริยากับแสงแดด กลายเป็นฝุ่นลอยอยู่ในอากาศ มักเกิดในช่วงเดือน ก.พ. – มี.ค.
พรพรหม ระบุอีกว่า ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีกำมะถัน เช่น การเผาไหม้ถ่านหินหรือน้ำมัน ในโรงไฟฟ้า โรงถลุงโลหะ และโรงกลั่นน้ำมัน ขณะที่ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงภายใต้แรงดันอากาศที่สูง ทำให้เกิดการรวมตัวกันของออกชิเจนและไนโตรเจนเป็นไนตริคออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นก๊าซที่ไม่เป็นอันตราย แต่เมื่อขึ้นสู่บรรยากาศ NO จะถูกออกซิไดซ์เป็นก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ซึ่งมีสีเหลืองอมน้ำตาล เป็นสารพิษที่ระคายเคืองตา แหล่งกำเนิดหลักของออกไซด์ของไนโตรเจน เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในรถยนต์ การเผาไหม้ถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ หรือกระบวนการอุตสาหกรรมในโรงงานผลิตปุ๋ยและวัตถุระเบิด
- ติดตามนโยบาย พ.ร.บ.อากาศสะอาด ใน Policy Watch
- ติดตามนโยบาย แก้ไขฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ใน Policy Watch
อย่างไรก็ตาม ประชาชนควรตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน โดยสามารถตรวจสอบได้ทางแอปพลิเคชัน AirBKK เว็บไซต์ www.airbkk.com เฟซบุ๊ก สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร, กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม, กรุงเทพมหานคร หรือ LINE ALERT
โดยหากคุณภาพอากาศอยู่ในระดับสีส้ม ซึ่งหมายถึง เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนทั่วไป ควรใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร จำกัดระยะเวลาในการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก และควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ส่วนประชาชนกลุ่มเสี่ยง ควรใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร เลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์