นายกฯ-ฝ่ายค้าน ลงเชียงใหม่ แข่งโชว์วิสัยทัศน์แก้ฝุ่น PM2.5 สูงที่สุดของโลก

สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เพิ่มสูงขึ้นในภาคเหนือ ส่งผลให้ จ.เชียงใหม่ ติดอันดับสูงสุดของโลก ล่าสุด นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่พร้อมชี้ว่าปริมาณฝุ่นตอนนี้น้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา เป็นผลจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ ด้าน ฝ่ายค้านตั้งคำถาม รัฐบาลเตรียมการช้าเกินไปหรือไม่ เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำทุกปี

ฝุ่นควันในภาคเหนือของประเทศไทยยังคงมีสถานการณ์ที่รุนแรงต่อเนื่อง โดยวันนี้ (16 มี.ค. 2567) จากข้อมูล IQAir แพลตฟอร์มรายงานข้อมูลสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ทั่วโลก พบว่า จังหวัดเชียงใหม่ มีความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นจากวานนี้มาอยู่ 240 AQI US อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อทุกคนอย่างรุนแรง โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันทราย และตัวเมืองเชียงใหม่

ท่ามกลางฝุ่นที่ส่งผลกระทบในภาคเหนือมานานเกือบ 2 สัปดาห์ ทำให้ล่าสุด รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยกระดับมาตรการดับไฟป่าบริเวณริมชายแดนและพื้นที่เกษตรที่เผาไหม้ซ้ำซากใน 17 จังหวัด เช่น จัดกำลังดับไฟป่าอย่างรวดเร็ว ติดตามจุดความร้อน ทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ปิดพื้นที่ป่า ควบคุมพื้นที่เกษตรไม่ให้มีการเผา และแจ้งเตือนฝุ่นให้กับประชาชน

ขณะที่วันนี้ เศรษฐา​ ทวีสิน​ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามการแก้ปัญหาไฟป่า และหมอกควัน โดยเปิดเผยว่า ปริมาณฝุ่น PM2.5 ลดลงจากปีก่อนกว่า 1 เท่า แม้จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงที่ผ่านมาจะมีปริมาณฝุ่นเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งเป็นผลมาจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำงานบูรณาการร่วมกันมาตลอด 3-4 เดือน ปัจจุบันจุดความร้อนเหลือสัดส่วน 1 ใน 3 ของปีที่ผ่านมา ถือว่าเจ้าหน้าที่ทำงานได้ดีขึ้น

ส่วนงบประมาณในการแก้ปัญหาไฟที่อนุมัติเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ยืนยันว่าสามารถเบิกจ่ายได้ พร้อมทั้งกล่าวชื่นชมนโยบายอาสาสมัครดับไฟป่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากเป็นคนในพื้นที่ ซึ่งมีความผูกพันและมีใจรักในการช่วยดับไฟ แต่กำชับต้องมีอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยให้พร้อม

เศรษฐา​ ทวีสิน

เศรษฐา​ ยอมรับว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ของภาคเหนือ​ แต่วันนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ปริมาณฝุ่นและจุดความร้อนได้ลดลง และกำลังเข้าสู่ช่วงระยะเฝ้าระวัง โดยฝุ่นเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจ จำเป็นต้องหานวัตกรรมใหม่ ๆ และประสานงานกองทัพ ในการขนซากวัสดุจากการทำการเกษตรไปแปรรูป ซึ่งการเผาพื้นที่การเกษตรยังสามารทำได้ แต่ต้องมีการให้ความรู้กับเกษตรกร

ทั้งนี้ ส่วนการเผาจากต่างประเทศ ได้ตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อพูดคุยและให้ข้อมูลกับรัฐบาลกัมพูชา รวมถึงเตรียมใช้มาตรการห้ามนำเข้าข้าวโพด เพื่อให้มีการหยุดเผา

“ตนก็ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในต่างประเทศว่าจะต้องพิจารณาดี ๆ ว่าจะห้ามนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านในช่วงไฮซีซั่น (High Season) เพราะไม่อย่างนั้นจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ เคยขู่ไปแล้วว่าจะขึ้นภาษี ก็คงคิดว่าเราคุยเฉย ๆ ปีหน้าคงต้องทำจริง ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน คงต้องห้ามนำเข้าข้าวโพด​ หากไม่จัดการเรื่องพวกนี้เศรษฐกิจ​เราลำบาก​ แม้ลดไม่ได้ต้องทะเยอทะยาน​ในการแก้ปัญหา​”

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ขณะเดียวกัน เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมทีมงานได้เดินทางมาถึงสนามบินเชียงใหม่ เพื่อติดตามสถานการณ์ไฟป่าที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 โดย พิธา ระบุว่า จุดที่เกิดการเผาไหม้ในภาคเหนือปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาจาก 300 จุด มาอยู่ที่ 2,000 จุด หรือสูงกว่า 78 เท่า ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ของก้าวไกล เพื่อมาดูสถานการณ์หน้างาน เนื่องจากการเข้าไปดับไฟในป่าไม่ได้ง่าย จะต้องมีจีพีเอส (GPS) มีโดรน พื้นที่ภูเขาก็มีความสูงชัน และต้องแบกถังน้ำเข้าไปดับไฟด้วย  

โดยไฟป่าจะเกิดขึ้นเป็นประจำตั้งแต่เดือน ก.พ. จนถึงช่วงฤดูฝน ดังนั้นต้องเตรียมการล่วงหน้ามาตั้งแต่เดือน พ.ย.-ธ.ค. ด้วยการสร้างสถานีลำเลียงน้ำ ให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ไฟไหม้ได้รวดเร็วโดยที่คนไม่ต้องแบกน้ำเข้าไป แต่ตอนนี้สถานการณ์ไฟป่าได้หนักขึ้นมานาน 20 วันติดต่อกัน จึงทำให้ต้องระดมคนเข้าไป นอกจากนี้การที่รัฐบาลยังไม่มีการประกาศเขตภัยพิบัติ จะทำให้ไม่สามารถนำงบฯ กลางออกมาใช้แก้ปัญหาได้

“รองนายกฯ สมศักดิ์ เทพสุทิน บอกว่าให้กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ ทำงานกับท้องถิ่นได้แล้ว คราวนี้ผมก็อยากจะรู้ว่ามันทำได้จริงอย่างนั้นรึเปล่า เพราะฉะนั้นตอนนี้ทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องระดมคนเข้ามา แล้วก็ไปให้ถึงไฟให้เร็วกว่า แล้วก็จำนวนให้พอ แล้วเครื่องมือในการแยกเชื้อเพลิงออกให้ทัน มันก็พอทุเลาไปได้ แต่ว่าทุกวันนี้ไม่รู้มันจะช้าเกินไปรึเปล่า จะแก้ได้ทันรึเปล่า เพราะถ้ามันเกิดมันยาวหลายกิโล ก็ต้องใช้กำลังคนมหาศาล”

ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า ตนอยากจะเห็นสถานการณ์หน้างาน ว่าเจ้าหน้าที่จำเป็นจะต้องใช้อุปกรณ์ลักษณะใดในการปฏิบัติงาน และยานพาหนะเข้าถึงพื้นที่ดับไฟ เพราะเข้าใจว่า 90% ของแรงที่ใช้ดับไฟของเจ้าหน้าที่ สูญเสียไปกับการเดินเข้าทางเข้าไปให้ถึงจุดไฟไหม้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active