ภาคเหนือฝุ่น PM2.5 ยังหนัก หลายจังหวัดไฟป่าลุกลาม ยากควบคุม

ไฟป่าอุทยานแห่งชาติออบหลวง จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณผาดำ ยังคงลุกลามต่อเนื่องเข้าสู่วันที่ 3 หลายภาคส่วนระดมดับไฟ แต่ยังพบจุดความร้อนมากถึง 142 จุด ขณะที่อีกหลายจังหวัดยังมีการลอบเผา

วันนี้ (26 ก.พ. 67) อุทยานแห่งชาติออบหลวง จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่บริเวณผาดำ ไฟป่ายังลามต่อเนื่อง ล่าสุด เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าเข้าสกัดป้องกันลามขยายวงกว้าง ส่วนจุดความร้อนในเชียงใหม่พุ่งมากสุดในรอบปี วันเดียว 142 จุด

ไฟป่าบริเวณอุทยานแห่งชาติออบหลวง จังหวัดเชียงใหม่ จุดบริเวณผาดำ ยังคงลุกลามต่อเนื่อง ขณะที่เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ ยังคงระดมกำลังเข้าสกัดไฟป่าที่ลุกไหม้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งภาคพื้นดิน และทางอากาศ

โดยวันนี้มีการใช้เฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และเฮลิคอปเตอร์ KA-32 จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เข้าโปรยดับไฟ ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 แต่ยังไม่สามารถดับไฟได้ เพราะไฟป่าเกิดขึ้นหลายจุด และยังพบมีการลักลอบจุดไฟเพิ่ม ประกอบมีใบไม้แห้งสะสมอยู่จำนวนมาก ทำให้ไฟป่าไหม้ลามอย่างรวดเร็ว

โดยจังหวัดเชียงใหม่พบจุดความร้อน 142 จุด ในพื้นที่ 12 อำเภอ จากทั้งหมด 25 อำเภอ และถือว่าเกิดจุดความร้อนมากเกิน 100 จุดเป็นครั้งแรกของปีนี้

สำหรับรถแบ็กโฮ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เข้าขุดบ่อกลางลำน้ำแจ่ม เพื่อให้เฮลิคอปเตอร์ของกระทรวง ทส. บินลงตักน้ำ ในภารกิจดับไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบหลวง โดยเน้นการดับไฟป่าบริเวณหน้าผาสูงชัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินเข้าถึงได้ยาก

ขณะที่เฮลิคอปเตอร์ KA-32 จาก ปภ. เข้าโปรยดับไฟ ต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 แต่ยังไม่สามารถดับไฟได้ เพราะไฟป่าเกิดขึ้นหลายจุด และยังพบมีการลักลอบจุดไฟเพิ่ม ประกอบมีใบไม้แห้งสะสมอยู่จำนวนมาก ทำให้ไฟป่าไหม้ลามอย่างรวดเร็ว

กริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ สั่งระดมกำลังจากทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ฝ่ายปกครอง ทหาร ผู้นำชุมชน และ ชาวบ้าน รวม 250 นาย ลงพื้นที่เร่งช่วยสกัดไฟ

โดยเน้นย้ำให้ใช้ความระมัดระวัง คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ดับไฟป่าให้จบโดยเร็ว หากพบคนจุดไฟเผาป่าอีกให้ดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด

นอกจากนี้ในพื้นที่ยังสั่งงดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงทุกพื้นที่ระหว่างวันที่ 27 – 29 ก.พ. เนื่องจากไฟป่ามีความรุนแรง ประกอบกับอัตราการระบายอากาศต่ำ ส่งผลให้ค่า PM2.5 สูงขึ้น

ขณะที่มี 2 อำเภอ จาก 25 อำเภอ ที่ค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานอยู่ในระดับสีแดง หรือ มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน คืออำเภอฝาง และอำเภอไชยปราการ

ส่วนที่จังหวัดเชียงราย ไฟป่าก็รุนแรง ในชุมชนป่างิ้ว ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย เจ้าหน้าที่เทศบาลนครเชียงรายเร่งดับไฟ ป้องกันไฟลุกลามเข้าชุมชน สาเหตุคาดว่ามาจาก คนทิ้งก้นบุหรี่ หรือลักลอบเผาเศษวัชพืช

ไม่ต่างจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน นอกจากไฟป่าตามเทือกเขาต่าง ๆ แล้ว ยังมีไฟลุกไหม้ป่าบริเวณริมทางหลวงใน อำเภอแม่ลาน้อย และ อำเภอปาย สาเหตุคาดว่ามาจากการลอบจุดไฟ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสัญจร

18 จังหวัดค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ

สำหรับข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น ” ในช่วงเช้าของวันนี้ 18 จังหวัด ที่มีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยมี 7 จังหวัดที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจในระดับสีแดง คือ ลำพูน 115.7 ไมโครกรัม ลำปาง 104.5 ไมโครกรัม สุโขทัย 88.4 ไมโครกรัม แพร่ 86.7 ไมโครกรัม เชียงใหม่ 86.3 ไมโครกรัม ตาก 82.9 ไมโครกรัม และ แม่ฮ่องสอน 77.8 ไมโครกรัม ในขณะที่อีก 11 จังหวัดมีค่าฝุ่นที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพสีส้ม ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ

ขณะที่ รอบ 15.00 น. ที่ผ่านมา เว็บไซส์ air4thai ได้รายงานฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เกินมาตรฐานที่บริเวณ
ต.เวียงใต้ อ.ปาย แม่ฮ่องสอน, ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน, ต.จองคำ อ.เมือง แม่ฮ่องสอน, ต.นาจักร อ.เมือง แพร่, ต.กุดป่อง อ.เมือง เลย, ต.ในเมือง อ.เมือง เพชรบูรณ์, ต.หางดง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่, ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม เชียงใหม่, ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว เชียงใหม่, ต.ช้างเผือก อ.เมือง เชียงใหม่, ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย เชียงราย, ต.อุทัยใหม่ อ.เมือง อุทัยธานี, ต.ท่าอิฐ อ.เมือง อุตรดิตถ์, ต.ธานี อ.เมือง สุโขทัย, ต.นอกเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์, ต.อรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ สระแก้ว, ต.ลี้ อ.ลี้ ลำพูน, ต.บ้านกลาง อ.เมือง ลำพูน, ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ ลำปาง, ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ ลำปาง, ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ ลำปาง, ต.พระบาท อ.เมือง ลำปาง, ต.บ้านต๋อม อ.เมือง พะเยา, ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ ปราจีนบุรี, ต.เสม็ด อ.เมือง บุรีรัมย์, ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ น่าน, ต.ในเวียง อ.เมือง น่าน, ต.ในเมือง อ.เมือง นครราชสีมา, ต.แม่ปะ อ.แม่สอด ตาก, ต.ในเมือง อ.เมือง กำแพงเพชร

ฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เกินมาตรฐานที่บริเวณ ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ สระบุรี

นักวิชาการชี้แหล่งกำเนิดจากภาคเกษตรทำให้มลพิษทางอากาศรุนแรงขึ้น

รศ.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร เปิดเผยข้อมูลก่อนหน้านี้ว่า แม้ฝุ่นจะมีแหล่งกำเนิดแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่น ภาคยานยนต์ ภาคเกษตร ภาคป่าไม้ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ฯลฯ แต่ฝุ่นพิษ PM2.5 ที่มีแหล่งกำเนิดจากภาคเกษตรมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้มลพิษทางอากาศมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการเผาเพื่อเก็บเกี่ยวและจัดการแปลงจากการผลิตสินค้าเกษตรทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนั้น การเผาเพื่อเก็บเกี่ยวและจัดการแปลงจากการผลิตสินค้าเกษตรยังเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าไม้อีกด้วย 

เมื่อพิจารณาสถานการณ์การเผาในภาคเกษตร พบว่า การเผาในประเทศเพื่อนบ้านมีสัดส่วนที่สูงกว่าการเผาในประเทศไทย โดยสถานการณ์การเผาในที่โล่งแจ้งภาคเกษตรภายในประเทศไทยระหว่างปี 2563-2566 ซึ่งวัดจากจำนวนจุดความร้อนที่รายงานโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (2563-2566) จะพบว่า การเผาในภาคเกษตรได้ปรับเพิ่มขึ้นในปี 2566 และสูงกว่าปี 2564 และ 2565

ภาพ: จำนวนและร้อยละของจุดความร้อนจำแนกตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน
ที่มา : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (2563, 2564, 2565, 2566) [15] [16][17][18] หมายเหตุ : ปี 2566 จำนวนจุดความร้อนนับถึง 30 เมษายน 2566

สถิติยังไม่รวมการเผาจากการทำเกษตรในพื้นที่ป่าไม้และการเผาจากการทำเกษตรที่ดาวเทียมไม่สามารถตรวจพบได้เนื่องจากมีการเผาหลบหลีกช่วงเวลาที่ดาวเทียมโคจรมายังประเทศไทย และเมื่อพิจารณาพืชที่พบการเผา จะพบว่า นาข้าวพบการเผามากที่สุด รองลงมาคือ ไร่ข้าวโพดและไร่หมุนเวียน และไร่อ้อย

สำหรับแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” พ.ศ. 2562-2567 ที่เกี่ยวข้องกับการเผาในภาคเกษตร

มาตรการแรก เน้นการให้อำนาจการบริหารจัดการเชิงพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จโดยพิจารณาจากข้อมูลสถานการณ์เฉพาะหน้าในการแก้ปัญหาแบบเร่งด่วน โดยเน้นการเร่งสร้างการรับรู้และสร้างจิตสำนึกเพื่อลดและงดการเผาเศษวัสดุการเกษตร

มาตรการที่สอง เน้นไปที่การป้องกันและลดมลพิษที่ต้นทาง มีการกำหนดมาตรการลดการเผาในไร่อ้อยอย่างเป็นรูปธรรม โดยมาตรการที่เกี่ยวข้องกับอ้อย ประกอบด้วย การกำหนดมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐในการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ กำหนดพื้นที่ปลอดการเผาอ้อยเพื่อเป็นจังหวัดต้นแบบปลอดการเผาอ้อย ตัดอ้อยสดร้อยละ 100 จำนวน 5 จังหวัดภายในปี 2563 ส่งเสริมสินเชื่อเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร และกำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยไฟไหม้เข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2564/2565 2565/2566 และ 2566/2567 ไม่เกินร้อยละ 10 ต่อวัน ไม่เกินร้อยละ 5 ต่อวัน และร้อยละ 0 ต่อวัน ตามลำดับ

สำหรับพืชอื่นไม่ได้กำหนดเป้าหมายหรือมาตรการแบบเฉพาะเจาะจงเหมือนอ้อย โดยกำหนดเพียงมาตรการกว้าง ๆ เอาไว้ เช่น ส่งเสริมให้มีการนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ การขยายเครือข่ายเกษตรปลอดการเผาให้แก่เกษตรกร การส่งเสริมวนศาสตร์เกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ห้ามไม่ให้มีการเผาในที่โล่งโดยเด็ดขาด ส่งเสริมการใช้มาตรการด้านเศรษฐศาสตร์เพื่อส่งเสริมการป้องกันไม่ให้เกิดการเผาในที่โล่งและป่าไม้

มาตรการที่สาม เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ ได้กำหนดให้มีการทบทวน ปรับปรุงกฎหมาย มาตรฐาน แนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในการจัดระบบการจัดการเชื้อเพลิงในภาคการเกษตร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active