ชู นวัตกรรม นำร่องตรวจสภาพรถ หนุนใช้รถพลังงานไฟฟ้าสาธารณะ เซ็นเซอร์วัดมลพิษเรียลไทม์ เล็งขยายผลเฟส 2 อีก 4 เขตที่สถิติค่าฝุ่นสูงสุดปี 2567
วันนี้ (20 ก.พ. 67) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กรุงเทพมหานคร, กรมควบคุมมลพิษ รวมทั้งภาคเอกชน และประชาชน จัดเวทีแสดงเจตจำนง โครงการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone, LEZ) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะที่ 2 ขยาย 4 เขต ที่พบว่าค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานสูงที่สุด ประกอบด้วย เขตคลองสาน, ป้อมปราบศัตรูพ่าย, บางรัก และ คลองเตย
ไพสิฐ พาณิชย์กุล ผู้อำนวยการ ศวอ. บอกว่า โครงการเขตมลพิต่ำ (LEZ) ที่ก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการในพื้นที่เขตปทุมวัน เกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสถานประกอบกิจการภาคเอกชนในพื้นที่เขตปทุมวัน บริเวณตั้งแต่แยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ เกิดระยะทางถนนอากาศสะอาดกว่า 1 กิโลเมตร โดยมีแนวทางลดมลพิษอากาศ 5 ด้าน คือ
- นโยบายองค์กร
- การลดมลพิษอากาศขององค์กรและบุคลากรในองค์กร
- การลดมลพิษจากไอเสียรถของซัพพลายเออร์
- การลดมลพิษจากไอเสียรถของลูกค้า
- การติดตามประเมินและเผยแพร่ข้อมูล
โดยมีผู้ประกอบการต้นแบบในการลดมลพิษทางอากาศพื้นที่กรุงเทพฯ 8 องค์กร ซึ่งพบว่าประสบความสำเร็จและได้รับความสนใจอย่างมาก และจะขยายผลต่อ ซึ่งได้พิจารณาขยายไปยังพื้นที่อีก 4 เขต ได้แก่ เขตคลองสาน, ป้อมปราบศัตรูพาย, บางรัก และคลองเตย
“ในนาม ศวอ. การแสดงเจตจำนง คือ การมุ่งมั่นทำเรื่องนี้ต่อไป ปัญหาฝุ่น นับว่าส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนอย่างมาก ผมเองอยู่ภาคเหนือทนทุกข์เรื่องนี้มา 15 ปี จึงเข้ามาทำเรื่องนี้ ซึ่งในเมืองมีต้นตอมาจากไอเสีย ขณะที่ชนบทมาจากการเผาในที่โล่ง ดังนั้นการจัดการปัญหาย่อมต่างกัน เรามีบทบาทสำคัญในการสร้างเครือข่ายภาคประชาชน ในการหาแนวทาง สร้างการสื่อสาร สร้างการรับรู้ ในการแก้ปัญหา โดย วันที่ 22 มี.ค.นี้ จะจัดงาน The Air We Share เปิดพื้นที่เสวนาทางวิชาการ นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องฝุ่น PM2.5”
ไพสิฐ พาณิชย์กุล
ขณะที่ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ปัญหามลพิษทางอากาศคือต้นเหตุสำคัญในการกระตุ้นให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งคิดเป็น 3 ใน 4 ของการเสียชีวิตจากทั้งหมดของประเทศ จึงต้องเน้นสร้างความร่วมมือหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ วัด และประชาชนร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ต้นทาง
ชู 3 นวัตกรรม ขับเคลื่อนการลดฝุ่น
นพ.พงศ์เทพ ระบุว่า ในโครงการในระยะแรก นำร่องในพื้นที่เขตปทุมวัน ได้พัฒนานวัตกรรม 3 เรื่อง คือ
- ระบบฐานข้อมูลออนไลน์กรุงเทพธุรกิจอากาศสะอาดต้นแบบ (BMA-BLEZ) รายงานผลการตรวจสอบสภาพรถและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องของผู้ที่ใช้รถในเขตปทุมวัน 1,000 คัน
- บริการรถสาธารณะพลังงานไฟฟ้า พร้อมจุดจอดบริการแก่ประชาชนบริเวณศูนย์การค้า สถานประกอบการในพื้นที่
- ระบบเซ็นเซอร์วัดค่า PM 2.5 ที่แสดงผลทันที
“เป็นการสร้างมาตรการกลไกการมีส่วนร่วมลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งไฟฟ้าสาธารณะ พลังงานสะอาด บำรุงรักษาตรวจสอบสภาพรถ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะเวลาที่กำหนด กลายเป็นถนนอากาศสะอาดลดการปล่อยมลพิษทางอากาศลงถึง 10%”
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์
นพ.พงศ์เทพ บอกด้วยว่า เขตมลพิษต่ำเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการ ในฐานะที่เป็นหมอรู้ดีว่าการที่จะมีชีวิตยืนยาวได้ถึง 100 ปี สามารถทำได้โดยการรักษาสุขภาพ เลือกอาหาร ออกกำลังกาย การสร้างสุขภาพจิตที่ดี เราสามารถทำได้ แต่สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้เลย คือ อากาศ
“ไม่ว่าเราจะมีความรู้มากแค่ไหน แต่เราหนี้ไม่พ้น การหายใจด้วยอากาศ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องใช้ แม้คนจะพยายามหลีกหนี แต่ PM 2.5 ฝุ่นไปได้ไกล อากาศไม่เหลื่อมล้ำ ทุกคนได้เหมือนกันหมด เชื่อว่า กทม. เป็นพื้นที่ที่ทุกคนมีความเข้าใจ ในการให้ความร่วมมือแก้ปัญหา แต่ยอมรับว่าไม่อาจไม่ง่าย”
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์
ว่าที่ ร.ต.วิรัช ตันชนะประดิษฐ์ ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ระบุว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าฝุ่น PM2.5 ใน กทม.ถือว่าเกินค่ามาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพสูงสุดในรอบปี อยู่ที่ 47.0-105.0 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (จากค่ามาตรฐาน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ซึ่งเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ การจราจรขนส่งในเขตพื้นที่เมือง โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล และฝุ่นนอกฤดูกาล
โครงการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่ กทม. ถือเป็นการพัฒนาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง เกิดพื้นที่นำร่องเขตปทุมวัน ที่สร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมพัฒนานวัตกรรมแนวทางลดมลพิษอากาศที่ต้นทางสามารถประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ครอบคลุมทุกพื้นที่ สอดคล้องตามแผนการลดฝุ่น 365 วัน ปี 2567 ของ กทม.
“แต่ถามว่า จะขยายโครงการ เขตมลพิษต่ำ ไปให้ถึง 50 เขต กทม. ได้อย่างไร ต้องรอดูความพร้อมประชาชน ผู้ประกอบการในการให้ความร่วมมือด้วยเช่นกัน”
ว่าที่ ร.ต.วิรัช ตันชนะประดิษฐ์